คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5591/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาฉบับพิพาทมีข้อความระบุไว้ว่าหนังสือสัญญาขายมีเงื่อนไขโดยตกลงกันไว้ในข้อ 1 ว่า ผู้จะขายตกลงจะขายและผู้จะซื้อตกลงจะซื้อรถยนต์พิพาทในราคา 1,235,680 บาท ในวันทำสัญญานี้ผู้จะซื้อได้ชำระเงินค่าสินค้า ให้แก่ผู้จะขายแล้วเป็นเงิน 70,000 บาท ส่วนที่ยังค้างอยู่อีก 1,165,680 บาท นั้น ผู้จะซื้อสัญญาว่าจะชำระให้แก่ผู้จะขายเป็นงวดทุก ๆ เดือน งวดละ 48,570 บาท ณ สำนักงานของผู้จะขายให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 24 เดือน และระบุไว้ในข้อ 5 อีกว่า สัญญาซื้อขายนี้ตามข้อความแห่งสัญญาจะมีผลสมบูรณ์ให้กรรมสิทธิ์ตกเป็นของผู้จะซื้อต่อเมื่อผู้จะซื้อได้ปฏิบัติตามข้อความในสัญญานี้ทั้งหมดแล้ว และผู้จะขายมีสิทธิจะบอกเลิกสัญญาและเรียกทรัพย์สินได้ เมื่อผู้จะซื้อ ไม่ปฏิบัติตามสัญญานี้ไม่ว่าข้อหนึ่งข้อใดก็ตาม เห็นได้ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ตกลงซื้อขายกันยังเป็นของผู้ขายโดยไม่โอนไปยังผู้ซื้อจนกว่าผู้ขายจะได้รับชำระราคาครบถ้วนตามสัญญาแล้ว จึงเป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินยังไม่โอนไปจนกว่าจะได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขคือได้ชำระราคาแก่ผู้ขายครบถ้วนแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 459 ส่วนที่สัญญาระบุว่าหากผู้จะซื้อผิดนัดไม่ชำระราคาสินค้าตามงวดหนึ่งงวดใด ผู้จะซื้อยอมให้ถือว่า สัญญานี้เป็นอันเลิกกันทันทีตั้งแต่วาระนั้นโดยไม่จำต้องบอกกล่าวและมีสิทธิเอารถยนต์ที่จะซื้อคืนโดยไม่ต้องคืนเงินที่ผู้จะซื้อชำระแล้วนั้น เป็นข้อตกลงโดยความสมัครใจของคู่สัญญาและข้อกำหนดในสัญญาดังกล่าวเป็นการรักษา ผลประโยชน์ของผู้ขายมิให้เสียหายเกินกว่าความจำเป็น เมื่อผู้ซื้อผิดสัญญา ข้อตกลงยินยอมกันดังกล่าวไม่ต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และหาทำให้อิสระในการแสดงเจตนาทำสัญญาซื้อขายโดยมีเงื่อนไขกลับกลาย แปรเปลี่ยนเป็นสัญญาเช่าซื้อไม่
เจตนารมณ์ของคู่สัญญามุ่งที่จะซื้อขายรถยนต์คันพิพาทต่อกันโดยมีข้อตกลงป้องกันการผิดสัญญาไว้ล่วงหน้า เมื่อเกิดผิดสัญญากันขึ้นก็ต้องบังคับไปตามกฎหมายและข้อสัญญาที่ตกลงกันไว้นั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันส่งมอบรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ๘๑- ๙๘๔๔ นครราชสีมา แก่โจทก์ หากไม่สามารถส่งมอบได้ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินจำนวน ๒๑๘,๕๖๕ บาท และค่าเสียหายเดือนละ ๓๐,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะส่งมอบรถยนต์หรือใช้เงินแก่โจทก์เสร็จ
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นตามที่ศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยมาแล้วว่า เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๓๓ จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการทำสัญญากับโจทก์และรับรถยนต์ตามฟ้องไปจากโจทก์ในราคา ๑,๒๓๕,๖๘๐ บาท ชำระราคาในวันทำสัญญา ๗๐,๐๐๐ บาท ส่วนที่เหลือตกลงให้ผ่อนชำระ ๒๔ งวด ทุกวันที่ ๕ ของเดือน งวดแรกชำระในวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๓๓ โดยมีข้อตกลงกันว่ากรรมสิทธิ์จะตกเป็นของจำเลยที่ ๑ ต่อเมื่อจำเลยที่ ๑ ได้ปฏิบัติตามสัญญาทั้งหมด หากจำเลยที่ ๑ ผิดนัดชำระราคางวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าสัญญาเลิกกันทันที และโจทก์มีสิทธิริบเงินที่จำเลยที่ ๑ ได้ชำระไปแล้วทั้งสิ้น โดยมีจำเลยที่ ๓ เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.๖ และ จ.๗ โจทก์ได้มอบหนังสือแสดงการจดทะเบียนรถให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไว้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ชำระเงินค่างวดไม่ตรงตามสัญญาที่กำหนดไว้ในแต่ละงวด แต่โจทก์ก็รับไว้รวม ๒๑ งวด โดยชำระงวดสุดท้ายใน วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๓๗ ต่อมาวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๓๗ โจทก์ได้ตอตามยึดรถยนต์คันดังกล่าวคืนโดยมิได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ จึงแจ้งความดำเนินคดีแก่ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์เจ้าพนักงานตำรวจยึดรถยนต์คันดังกล่าวไว้เป็นของกลางในคดีอาญาฐานลักทรัพย์ แต่ต่อมาพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า สัญญาตามเอกสารหมาย จ.๖ เป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขหรือสัญญาเช่าซื้อ พิเคราะห์แล้ว ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.๖ ก็มีข้อความระบุไว้แล้วว่าหนังสือสัญญาขายมีเงื่อนไข โดยตกลงกันไว้ในข้อ ๑ ว่า ผู้จะขายตกลงจะขายและผู้จะซื้อตกลงจะซื้อรถยนต์พิพาทในราคา ๑,๒๓๕,๖๘๐ บาท ในวันทำสัญญานี้ ผู้จะซื้อได้ชำระเงินค่าสินค้าให้แก่ผู้จะขายแล้วเป็นเงิน ๗๐,๐๐๐ บาท ส่วนที่ยังค้างอยู่อีก ๑,๑๖๕,๖๘๐ บาท นั้น ผู้จะซื้อสัญญาว่าจะชำระให้แก่ผู้จะขายเป็นงวดทุก ๆ เดือน งวดละ ๔๘,๕๗๐ บาท ณ สำนักงานของผู้จะขายให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด ๒๔ เดือน และในข้อ ๕ ระบุไว้ว่า สัญญาซื้อขายนี้ตามข้อความแห่งสัญญาจะมีผลสมบูรณ์ในกรรมสิทธิ์ตกเป็นของผู้จะซื้อต่อเมื่อผู้จะซื้อได้ปฏิบัติตามข้อความในสัญญานี้ทั้งหมดแล้ว และผู้จะขายมีสิทธิจะบอกเลิกสัญญาและเรียกทรัพย์สินได้ เมื่อผู้จะซื้อไม่ปฏิบัติตามสัญญานี้ไม่ว่าข้อหนึ่งข้อใดก็ตาม จากข้อตกลงตามสัญญาดังกล่าว จึงเห็นได้ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ตกลงซื้อขายกันยังเป็นของผู้ขายไม่โอนไปยังผู้ซื้อจนกว่าผู้ขายจะได้รับชำระราคาครบถ้วนตามสัญญาแล้ว ดังนี้ เห็นว่า สัญญาดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.๖ เป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินยังไม่โอนไปจนกว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไขคือได้ชำระราคาแก่ผู้ขายครบถ้วนแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๕๙ สัญญาดังกล่าวไม่มีข้อความแสดงให้เห็นว่าเป็นสัญญาเช่าซื้อที่เจ้าของทรัพย์เอาทรัพย์สินออกใช้และให้ คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยมีเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวน เท่านั้นเท่านี้คราว ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๒ อันว่าด้วยลักษณะเช่าซื้อแต่อย่างใดสัญญาดังกล่าวจึงไม่ใช่สัญญาเช่าซื้อ ส่วนที่สัญญาข้อ ๙ ระบุว่าหากผู้จะซื้อผิดนัดไม่ชำระราคาสินค้าตามงวดหนึ่ง งวดใด … ฯลฯ ผู้จะซื้อยอมให้ถือว่าสัญญานี้เป็นอันเลิกกันทันทีตั้งแต่วาระนั้นโดยไม่จำต้องบอกกล่าวและมีสิทธิ เอารถยนต์ที่จะซื้อคืนโดยไม่ต้องคืนเงินที่ผู้จะซื้อชำระแล้วนั้น เป็นข้อตกลงโดยความสมัครใจของคู่สัญญาและข้อกำหนดในสัญญาดังกล่าวเป็นการรักษาผลประโยชน์ของผู้ขายมิให้เสียหายเกินกว่าความจำเป็นเมื่อผู้ซื้อผิดสัญญา ข้อตกลงยินยอมกันดังกล่าวไม่ต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย แลหาทำให้อิสระในการแสดงเจตนาทำสัญญาซื้อขายโดยมีเงื่อนไขกลับกลายแปรเปลี่ยนเป็นสัญญาเช่าซื้อดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไม่
มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า ที่โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์นั้น ค่าเสียหายมีเพียงใด ซึ่งศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปในคราวเดียวกันโดยเห็นว่า ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.๖ ข้อ ๙ ระบุไว้ความว่าถ้าผู้จะซื้อผิดนัดไม่ชำระราคาสินค้าตามงวดหนึ่งงวดใดหรือกระทำผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด หรือเมื่อเวลาได้ผ่านไปแล้ว ๑ เดือน จากวันที่ผู้จะซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าจะซื้องวดสุดท้าย…ฯลฯ… ผู้จะซื้อยอมให้ถือว่าสัญญานี้เป็นอันเลิกกันทันทีตั้งแต่วาระนั้นโดยไม่จำต้องบอกกล่าว ในกรณีเช่นนี้บรรดาเงินที่ได้ชำระแก่ผู้จะขายแล้วแต่ก่อนให้ริบเป็นของผู้จะขายทั้งสิ้นและผู้จะซื้อมีหน้าที่จะต้องส่งมอบทรัพย์สินที่จะซื้อคืนให้แก่ผู้จะขายในสภาพเรียบร้อยโดยพลันด้วยค่าใช้จ่ายของผู้จะซื้อเอง หรือหากส่งมอบทรัพย์สินคืนไม่ได้ ผู้จะซื้อต้องรับผิดชำระราคาทรัพย์สินที่จะซื้อเท่าราคาค่าจะซื้อที่ยังค้างชำระอยู่ทั้งสิ้นพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วัน บอกเลิกสัญญานี้ให้แก่ผู้จะขายด้วย และตามการ์ดบัญชีชำระหนี้เอกสารหมาย จ.๙ การชำระหนี้ของคู่สัญญาไม่ได้เป็นไปตามกำหนด แต่คงปฏิบัติต่อเนื่องกันมาจนถึงงวดที่ ๒๑ โจทก์มิได้ดำเนินการอย่างใดกับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ คงปล่อยปละละเลยและถือปฏิบัติต่อกันมาเสมือนไม่ผิดสัญญา จนถึงงวดที่ ๒๒, ๒๓ และ ๒๔ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่ชำระค่างวดให้แก่โจทก์โดยค้างชำระคิดเป็นเงิน ๑๔๕,๗๑๐ บาท ดังนี้ จึงเห็นว่าด้วยอำนาจแห่งมูลหนี้ตามสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขตามเอกสารหมาย จ.๖ ข้อ ๙ เพิกเฉยย่อมได้ชื่อว่าตกเป็นผู้ผิดนัด สำหรับหนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ย ในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยไปตามนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๒๔ อนึ่ง จากพยานหลักฐานโจทก์จำเลยที่นำสืบมา ศาลฎีกาเห็นสมควรให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ส่งมอบรถยนต์คันพิพาทแก่โจทก์ หากไม่ส่งคืนให้ชำระราคาที่ค้างชำระเป็นเงิน ๑๔๕,๗๑๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันผิดนัดงวดที่ ๒๒ คือ วันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๓๕ เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.๗ จะต้องรับผิดต่อโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ตามสัญญาค้ำประกันด้วย ส่วนค่าเสียหายอย่างอื่นนั้นพิเคราะห์ทางได้ทางเสียของคู่กรณีตามสัญญาเอกสารหมาย จ.๖ แล้ว เห็นว่า เจตนารมณ์ของคู่สัญญาก็มุ่งที่จะซื้อขายรถยนต์คันพิพาทต่อกันโดยมีข้อตกลงป้องกันการผิดสัญญากันไว้ล่วงหน้า เมื่อเกิดผิดสัญญากันขึ้นก็ต้องบังคับไปตามกฎหมายและข้อสัญญาที่ตกลงกันไว้นั้น ที่โจทก์เรียกร้องค่าเสียหายอีกเดือนละ ๓๐,๐๐๐ บาท แต่ไม่นำสืบแสดงให้ศาลเห็นได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายดังกล่าวหรือไม่ จึงเห็นได้ว่าโจทก์คิดค่าเสียหายจากหนี้เงินที่ค้างชำระใน อัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี เป็นจำนวนเพียงพอแก่ค่าเสียหายตามพฤติการณ์แห่งคดีนี้แล้ว จึงให้ยกคำขอรายเดือนส่วนนี้เสีย
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ๘๑ – ๙๘๔๔ นครราชสีมา แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ชดใช้ค่าเสียหายเท่ากับเงินค่างวดที่ค้างชำระอยู่เป็นเงิน ๑๔๕,๗๑๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๓๕ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ .

Share