คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5590/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 41 (1)บัญญัติไว้แต่เพียงว่า ทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น ศาลอาจมีคำสั่งเพิกถอนได้เมื่อผู้มีส่วนได้เสียได้ยื่นคำร้องและแสดงได้ว่า ผู้ร้องมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าผู้ที่ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเท่านั้น หาได้บัญญัติว่าหากผู้ที่ได้จดทะเบียนไว้ในประเทศไทยโดยสุจริตแล้วจะมีสิทธิดีกว่าไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าพิพาทและมีสิทธิจดทะเบียนในประเทศไทยก่อนโจทก์แล้ว จำเลยจึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าโจทก์ แม้โจทก์จะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทในประเทศไทยก่อนจำเลยก็ตาม ทั้งสิทธิของจำเลยจะดีกว่าโจทก์หรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยจะเป็นที่นิยมแพร่หลายของสาธารณชนทั่วโลกหรือไม่
การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทและวินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาว่า เครื่องหมายการค้าพิพาทของโจทก์จำเลยเหมือนหรือคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าถือได้ว่าเป็นประเด็นเดียวกับการลวงขาย

Share