คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5256/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยให้การว่าโจทก์รับเงินค่าระวางของจำนวน 600 บาทจากพนักงานของจำเลยแล้วทดเงินไว้เป็นเวลา 7 วัน เป็นการทุจริตต่อหน้าที่และฝ่าฝืนระเบียบของบริษัทจำเลยอย่างร้ายแรงศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์ทุจริตเงินค่าระวางของจำนวน 600 บาทหรือไม่ และโจทก์มีสิทธิได้รับเงินตามฟ้องหรือไม่ ดังนี้ ปัญหาว่าการกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่ จึงมิได้เป็นข้อพิพาทในคดี เมื่อศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทุจริตเงินค่าระวางดังกล่าว อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าการกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรงจึงมิใช่เป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้ว ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225ประกอบด้วย มาตรา 31แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522
ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 49 นั้น ศาลแรงงานต้องพิจารณาว่าลูกจ้างกับนายจ้างอาจทำงานร่วมกันต่อไปได้หรือไม่เป็นประการแรกหากไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปจึงจะพิจารณากำหนดค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้ลูกจ้างเป็นประการที่สองศาลแรงงานพึงพิพากษาเพียงประการเดียว การที่ศาลแรงงานพิพากษาให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน หากไม่สามารถรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานได้ก็ให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ลูกจ้าง อันเป็นการพิพากษาสองประการโดยมีเงื่อนไขนั้นย่อมเป็นการไม่ชอบ และปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ แต่การพิจารณาถึงเหตุสองประการดังกล่าวเป็นดุลพินิจของศาลแรงงาน จึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริงศาลฎีกาต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานวินิจฉัย.

Share