แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ความผิดตามมาตรา 64 วรรคหนึ่ง แห่งพ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และมาตรา 72 แห่งพ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ประกอบป.วิ.อ. มาตรา 86 เป็นความผิดที่ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาประสงค์ต่อผลต่างกัน กฎหมายจึงได้บัญญัติเป็นความผิดและมีบทลงโทษสำหรับความผิดแต่ละอย่างแตกต่างกัน และลักษณะแห่งการกระทำความผิดสามารถแยกส่วนจากกันได้ แสดงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายมุ่งประสงค์ที่จะลงโทษผู้กระทำความผิดในแต่ละการกระทำเป็นกรณีไป แม้เหตุการณ์ที่จำเลยถูกจับกุมจะเป็นเหตุเดียวกัน ก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2548 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือจำเลยซึ่งรู้อยู่แล้วว่านางเอขิ่น ไม่มีชื่อสกุล กับพวกรวม 14 คน เป็นคนต่างด้าวเชื้อชาติไทยใหญ่ สันชาติพม่า เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่ายฝืนต่อกฎหมาย จำเลยซ่อนเร้น ช่วยเหลือหรือช่วยด้วยประการใด ๆ แก่คนต่างด้าว โดยการนำรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บค 2227 แม่ฮ่องสอน พาคนต่างด้าวดังกล่าวบรรทุกไปด้วยเพื่อไปส่งที่บ้านปางอุ๋ง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุม จำเลยซึ่งรู้อยู่แล้วว่านางยอด ไม่มีชื่อสกุลและนายกี ไม่มีชื่อสกุล เป็นคนต่างด้าวเชื้อชาติไทยใหญ่ สัญชาติพม่าที่มีบัตรประจำตัวบุคคลพื้นที่สูงซึ่งเจ้าพนักงานอนุญาตให้อยู่ในเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ จำเลยช่วยเหลือ ให้ความสะดวก หรือช่วยด้วยประการใดๆ แก่คนต่างด้าวทั้งสอสงหลบหนีเคลื่อนย้ายออกนอกเขตพื้นที่อันเป็นความผิด โดยให้คนต่างด้าวทั้งสองอาศัยโดยสารรถยนต์กระบะคันเดียวกันร่วมเดินทางจากบ้านผาบ่อง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อไปยังบ้านปางอุ๋ง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ อันเป็นการสนับสนุนด้วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวนั้นหลบหนีไปในระหว่างที่ถูกกักตัวหรือควบคุมตามอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ และจำเลยให้ธนบัตรรัฐบาลไทยฉบับละ 1,000 บาท 4 ฉบับ และฉบับละ 500 บาท 2 ฉบับ รวมจำนวน 5,000 บาท แก่ร้อยตำรวจโทอินสมเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่สืบสวนสอบสวนและจับกุมผู้กระทำความผิดต่อกฎหมายเพื่อจูงใจให้ร้อยตำรวจโทอินสมไม่จับกุมจำเลยซึ่งให้ความช่วยเหลือคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายให้พ้นจากการจับกุม และสนับสนุนคนต่างด้าวออกนอกเขตควบคุมของเจ้าหน้าที่ อันเป็นการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ของเจ้าพนักงาน เหตุเกิดที่ตำบลผาบ่อง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 4, 64, 72 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 86, 91, 144 และริบเงินของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง, 72 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ จำคุก 6 เดือน ฐานช่วยเหลือคนต่างด้าวให้พ้นจากการจับกุมจำคุก 1 ปี ฐานสนับสนุนคนต่างด้าวให้หลบหนีไปในระหว่างที่ถูกกักตัวหรือควบคุมตามอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ จำคุก 4 เดือน รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 1 ปี 10 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นการลุแก่โทษและเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 11 เดือน ริบเงินของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้จำเลยยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2550 ต่อมาวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2550 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายและสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งจำเลยอาจฎีกาเป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นต่อศาลฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 224 ศาลชั้นต้นยังมิได้แจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาในข้อดังกล่าวให้จำเลยทราบ ซึ่งเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ แต่เมื่อคดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนและยังคงให้ลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยฎีกาในข้อที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับว่า ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกนั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 5 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อฎีกาของจำเลยในข้อนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาจำเลยตามที่วินิจฉัยมาแล้ว จึงไม่เป็นการจำเป็นที่ศาลฎีกาจะสั่งให้ส่งสำนวนคืนศาลชั้นต้นเพื่อแจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาในข้อดังกล่าวให้จำเลยทราบแต่อย่างใด
มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยในความผิดฐานช่วยเหลือคนต่างด้าวให้พ้นจากการจับกุมกับความผิดฐานสนับสนุนคนต่างด้าวให้หลบหนีไปในระหว่างที่ถูกกักตัวหรือควบคุมตามอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องแยกการกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าวออกเป็นสองกรรมต่างกัน และมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยแต่ละการกระทำความผิดทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ทั้งความผิดตามมาตรา 64 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 เป็นความผิดที่ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาประสงค์ต่อผลต่างกัน กฎหมายจึงได้บัญญัติเป็นความผิดและมีบทลงโทษสำหรับความผิดแต่ละอย่างแตกต่างกันและลักษณะแห่งการกระทำความผิดสามารถแยกส่วนจากกันได้แสดงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายมุ่งประสงค์ที่จะลงโทษผู้กระทำความผิดในแต่ละการกระทำเป็นกรณีไป แม้เหตุการณ์ที่จำเลยถูกจับกุมจะเป็นเหตุเดียวกัน เมื่อจำเลยรับสารภาพตามฟ้อง จึงฟังได้ว่าจำเลยรับว่าได้กระทำผิดโดยมีเจตนาต่างกันอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน หาใช่เป็นความผิดกรรมเดียวดังที่จำเลยฎีกาไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน