คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5585/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ส. และ ว. ตกลงทำสัญญาเช่าซื้อและรับสร้อยคอทองคำรูปพรรณด้วยความสมัครใจ แม้ความประสงค์เดิมของ ส. และ ว. คือต้องการกู้ยืมเงิน แต่เมื่อ ส. และ ว. ยินยอมทำสัญญาเช่าซื้อซึ่งเป็นวิธีทางการค้าของบริษัท จ. ย่อมถือว่า ส. และ ว. เปลี่ยนเจตนาเดิมที่ต้องการกู้ยืมเงินมายินยอมผูกพันตนตามสัญญาเช่าซื้อโดยสมัครใจ นอกจากนี้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ส. และ ว. ต่างนำสร้อยคอทองคำรูปพรรณไปขายได้เงินไม่เท่ากัน ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองไม่ทราบล่วงหน้าว่า ส. และ ว. จะขายสร้อยคอทองคำรูปพรรณหรือไม่ หรือหากขายจะได้เงินเพียงใด พฤติการณ์จึงฟังได้เพียงว่า จำเลยทั้งสองชักจูง ส. และ ว. ทำสัญญาเช่าซื้อสร้อยคอทองคำรูปพรรณจริง เพราะหากเป็นการให้กู้ยืมย่อมต้องทราบจำนวนเงินกู้ยืมที่แน่นอนขณะทำสัญญา นอกจากนี้หากจำเลยทั้งสองต้องการทำสัญญาเช่าซื้อเพื่ออำพรางการกู้เงิน ก็ย่อมสามารถมอบเงินกู้ให้ ส. และ ว. ได้ทันที โดยไม่จำต้องส่งมอบสร้อยคอทองคำรูปพรรณให้ ส. และ ว. เพื่อนำไปขายอีก พฤติการณ์แห่งคดีไม่อาจฟังว่าจำเลยทั้งสองร่วมกับพวกให้กู้เงินโดยทำสัญญาเช่าซื้ออันเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้เงินเพื่อเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 3 เดือน รวมสองกระทงจำคุก คนละ 6 เดือน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในชั้นฎีกาโดยที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันว่า จำเลยทั้งสองเป็นพนักงานของบริษัทเจเนอรัล เซอร์วิส อิเล็คทริค (2003) จำกัด ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้เช่าซื้อสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าและทองคำรูปพรรณในระบบเงินผ่อน ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง นางสุดใจและนางวงค์จันทร์ต่างทำสัญญาเช่าซื้อทองคำรูปพรรณหนัก 1 บาท คนละ 1 เส้นกับบริษัทเจเนอรัล เซอร์วิส อิเล็คทริค (2003) จำกัด ในราคา 11,137 บาท และ 10,450 บาท ตามลำดับ ตกลงให้ผ่อนชำระเป็นรายวันจนครบตามจำนวนในสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อ หลังจากทำสัญญานางสุดใจและนางวงค์จันทร์นำทองคำรูปพรรณที่เช่าซื้อไปขายให้แก่ห้างทองวรรณศุภ ได้เงิน 7,400 บาท และ 7,367 บาท ตามลำดับ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์มีนางสุดใจและนางวงค์จันทร์เป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า พยานทั้งสองต้องการบริการกู้เงินด่วนจึงโทรศัพท์ติดต่อจำเลยทั้งสอง แต่จำเลยทั้งสองนำสัญญาเช่าซื้อให้ลงชื่อและบอกว่าบริษัทไม่อนุมัติเงินสด แต่อนุมัติเป็นสร้อยคอทองคำรูปพรรณ หากต้องการเป็นเงินก็ให้เอาสร้อยคอทองคำรูปพรรณไปขายก็ตาม แต่พยานทั้งสองก็เบิกความทำนองเดียวกันว่า เหตุที่พยานทั้งสองรับเอาสร้อยคอทองคำรูปพรรณทั้งๆ ที่ต้องการเป็นเงินเพราะจำเป็นต้องใช้เงินจึงรับสร้อยคอทองคำรูปพรรณไปขายเพื่อได้เงินมา ย่อมแสดงว่าพยานทั้งสองตกลงทำสัญญาเช่าซื้อและรับสร้อยคำทองคำรูปพรรณด้วยความสมัครใจ แม้ความประสงค์เดิมของพยานทั้งสองคือต้องการกู้ยืมเงิน แต่เมื่อพยานทั้งสองยินยอมทำสัญญาเช่าซื้อซึ่งเป็นวิธีทางการค้าของบริษัทเจเนอรัล เซอร์วิส อิเล็คทริค (2003) จำกัด ย่อมถือว่าพยานทั้งสองเปลี่ยนเจตนาเดิมที่ต้องการกู้ยืมเงินมายินยอมผูกพันตนตามสัญญาเช่าซื้อโดยสมัครใจ นอกจากนี้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า พยานทั้งสองต่างนำทองรูปพรรณไปขายได้เงินไม่เท่ากัน ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองไม่ทราบล่วงหน้าว่าพยานทั้งสองจะขายสร้อยคอทองคำรูปพรรณหรือไม่ หรือหากขายจะได้เงินเท่าใด พฤติการณ์จึงฟังได้เพียงว่า จำเลยทั้งสองชักจูงให้พยานทั้งสองทำสัญญาเช่าซื้อทองคำรูปพรรณจริง เพราะหากเป็นการให้กู้ยืมย่อมต้องทราบจำนวนเงินกู้ยืมที่แน่นอนขณะทำสัญญา นอกจากนี้หากจำเลยทั้งสองต้องการทำสัญญาเช่าซื้อเพื่ออำพรางการกู้เงิน ก็ย่อมสามารถมอบเงินกู้ให้พยานทั้งสองได้ทันที โดยไม่จำต้องส่งมอบสร้อยคอทองคำให้พยานทั้งสองเพื่อนำไปขายอีก อาศัยเหตุดังวินิจฉัย พฤติการณ์แห่งคดีไม่อาจฟังว่า จำเลยทั้งสองร่วมกับพวกให้กู้เงินโดยทำสัญญาเช่าซื้ออันเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้เงินเพื่อเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share