แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยฟังเมื่อวันที่ 26 มกราคมและมีคำสั่งขยายระยะเวลายื่นฎีกาให้แก่จำเลยถึงวันที่ 17 มีนาคม จำเลยยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 16 มีนาคม โดยไม่ได้ยื่นคำร้องขอใช้สิทธิตามมาตรา 221 มาพร้อมด้วย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาจำเลยเมื่อวันที่ 17 มีนาคม ต่อมาวันที่ 20 มีนาคม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิ่มเติมในฎีกาจำเลยเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว และให้จำเลยแถลงหรือยื่นคำร้องต่อศาลภายในวันที่ 21 มีนาคมว่าประสงค์จะให้ผู้พิพากษาผู้มีอำนาจอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่ หากไม่ยื่นคำร้องภายในวันดังกล่าวก็ให้ถือว่าศาลมีคำสั่งไม่รับฎีกา การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งกำหนดวันให้จำเลยยื่นคำแถลงหรือยื่นคำร้องตามมาตรา 221 เท่ากับเป็นการมีคำสั่งขยายระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณา ซึ่งจะกระทำได้ต่อเมื่อพฤติการณ์พิเศษและศาลได้มีคำสั่งหรือคู่ความมีคำขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลานั้น เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 เมื่อจำเลยไม่ได้ยื่นคำร้องขอใช้สิทธิตามมาตรา 221 จนล่วงพ้นกำหนดยื่นฎีกาและไม่มีเหตุสุดวิสัยการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งกำหนดวันให้จำเลยดำเนินการดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายจำเลยไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษารับรองตามมาตรา 221 เมื่อพ้นกำหนดยื่นฎีกา แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาแต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยได้ดังนั้น คำสั่งของผู้พิพากษาที่รับรองให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนและคำสั่งศาลชั้นต้นที่รับฎีกาจำเลยในความผิดดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 วรรคหนึ่ง และมาตรา 221
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง และคืนธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อแก่เจ้าพนักงาน
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 ปี ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนในชั้นจับกุม เป็นการลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานและเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสี่ เฉพาะฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน คงจำคุก 3 ปี 9 เดือน รวมเป็นจำคุก 9 ปี 9 เดือน ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง คืนธนบัตรล่อซื้อแก่เจ้าพนักงาน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงสำหรับความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยก่อนว่า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยในความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนมาด้วยนั้นเป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ คดีนี้ความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นความผิดต่างกรรมกับความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำคุกจำเลย 3 ปี 9 เดือน ในความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ความผิดฐานนี้จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่งหากจำเลยประสงค์จะใช้สิทธิฎีกาโดยขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษารับรองให้ฎีกาตามเงื่อนไขในมาตรา 221 จำเลยก็ต้องดำเนินการใช้สิทธิดังกล่าวให้ถูกต้องเสียก่อนพ้นระยะเวลายื่นฎีกา แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยฟังเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2543 และมีคำสั่งขยายระยะเวลายื่นฎีกาให้แก่จำเลยถึงวันที่ 17 มีนาคม 2543 จำเลยยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2543 โดยมิได้ยื่นคำร้องขอใช้สิทธิตามมาตรา 221 มาพร้อมด้วย เดิมศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาจำเลยเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2543 ต่อมาวันที่ 20 มีนาคม 2543 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิ่มเติมในฎีกาจำเลยเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว และให้จำเลยแถลงหรือยื่นคำร้องต่อศาลภายในวันที่ 21 มีนาคม 2543 ว่าประสงค์จะให้ผู้พิพากษาผู้มีอำนาจอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่ หากไม่ยื่นคำร้องภายในวันดังกล่าวก็ให้ถือว่าศาลมีคำสั่งไม่รับฎีกา ครั้นวันที่ 21 มีนาคม 2543 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งใหม่เป็นว่า ให้รับฎีกาจำเลยเฉพาะความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ส่วนความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนนั้น คงถือตามคำสั่งลงวันที่ 20 มีนาคม 2543 ในวันเดียวกันจำเลยจึงยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่ร่วมพิจารณาและตัดสินคดีนี้ลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาของจำเลยว่ามีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่พิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาก็ได้ลงลายมือชื่อรับรองให้เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2543 และต่อมาศาลชั้นต้นก็มีคำสั่งรับฎีกาจำเลย ดังนี้ เห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งกำหนดวันให้จำเลยยื่นคำแถลงหรือยื่นคำร้องตามมาตรา 221 นั้น เท่ากับเป็นการมีคำสั่งขยายระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณา ซึ่งคำสั่งเช่นนี้จะกระทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษและศาลได้มีคำสั่งหรือคู่ความมีคำขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลานั้น เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ในเมื่อจำเลยมิได้ยื่นคำร้องขอใช้สิทธิตามมาตรา 221 จนล่วงพ้นกำหนดยื่นฎีกา และกรณีไม่มีเหตุสุดวิสัยด้วยเลยเช่นนี้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งกำหนดวันให้จำเลยดำเนินการดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษารับรองตามมาตรา 221 เมื่อพ้นกำหนดยื่นฎีกาปัญหานี้แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ดังนั้น คำสั่งของผู้พิพากษาที่รับรองให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนและคำสั่งศาลชั้นต้นที่รับฎีกาจำเลยในความผิดดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง และมาตรา 221 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาจำเลยในความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ข้อเท็จจริงจึงรับฟังยุติตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ว่าในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 2 เม็ด โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยและยึดได้เมทแอมเฟตามีนรวม 92 เม็ด เป็นของกลาง มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่าจำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวน 90 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือไม่ ในปัญหานี้โจทก์นำสืบได้ความว่า หลังตรวจค้นพบธนบัตรล่อซื้อจำนวน 200 บาท จากกระเป๋าสตางค์ของจำเลยและจำเลยให้การรับสารภาพว่าจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำนวน 2 เม็ดให้แก่สายลับแล้ว เจ้าพนักงานตำรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนลักษณะเดียวกับที่สายลับล่อซื้อได้อีกจำนวน 90 เม็ด บรรจุถุงพลาสติกห่อหุ้มด้วยดินน้ำมันซุกซ่อนอยู่ในยางรถยนต์เก่าบริเวณหน้าห้องน้ำชั้นล่าง จึงยึดเป็นของกลาง ทางนำสืบของโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดบ่งชี้เลยว่า จำเลยเป็นเจ้าของครอบครองเมทแอมเฟตามีน จำนวน 90 เม็ด ของกลาง ลำพังพฤติการณ์ที่จำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวน 2 เม็ด ที่บ้านที่เกิดเหตุ ยังไม่อาจถือเป็นข้อสันนิษฐานได้เด็ดขาดว่า เมทแอมเฟตามีนจำนวนอื่นที่ตรวจพบในบ้านที่เกิดเหตุเป็นเมทแอมเฟตามีนของจำเลยและจำเลยมีไว้เพื่อจำหน่ายและเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏอยู่ว่า จำเลยให้การปฏิเสธข้อหาเกี่ยวกับของกลางจำนวนนี้ทันทีที่เจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นพบและยืนยันปฏิเสธมาตั้งแต่ชั้นจับกุมจนถึงชั้นพิจารณา โดยนำสืบต่อสู้อยู่ว่าห้องน้ำของบ้านที่เกิดเหตุนั้นลูกค้าที่มารับประทานอาหารและผู้แบ่งห้องเช่าหลายรายต่างมาใช้ร่วมกันได้เช่นนี้ พยานหลักฐานของโจทก์จึงไม่พอให้รับฟังว่า จำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวน 90 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น แต่เมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นทรัพย์สินซึ่งมีไว้เป็นความผิดที่ศาลอุทธรณ์ริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 จึงชอบแล้ว”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์