คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5585/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ในขณะที่โจทก์ทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างกับจำเลยที่ 2 ตามเอกสารที่พิพาท จำเลยที่ 1ยังมิได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3ก็เป็นผู้ร่วมก่อการและกรรมการของจำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้ชำระเงินค่าจ้างก่อสร้างให้โจทก์หลังจากจำเลยที่ 2 ทำสัญญาแล้ว ประกอบกับจำเลยที่ 3เป็นผู้บริหารโรงแรมร่วมกับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3มีส่วนรู้เห็นร่วมกับจำเลยที่ 2 ทำสัญญาดังกล่าวกับโจทก์ด้วยและเมื่อโจทก์ส่งมอบอาคารให้แก่จำเลยทั้งสามในวันรุ่งขึ้นจำเลยทั้งสามก็ได้เปิดดำเนินกิจการโรงแรมในอาคารดังกล่าว จึงเป็นการที่จำเลยที่ 1 ยอมรับเอาสัญญาที่จำเลยที่ 2 ทำไว้กับโจทก์มาใช้ประโยชน์ในการดำเนินกิจการของตน จำเลยที่ 1 ย่อมต้องผูกพันตามสัญญาดังกล่าวร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วย สำหรับการเปลี่ยนแปลงแก้ไขตัวอาคาร จำเลยที่ 2เป็นผู้ตกลงกับโจทก์ให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขแบบแปลนเป็นอาคารโรงแรมเอง เมื่อโจทก์ก่อสร้างอาคารเสร็จจำเลยทั้งสามก็ได้ยอมรับมอบอาคารจากโจทก์ โดยดีและเปิดดำเนินกิจการเป็นโรงแรมเช่นนี้ จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาแก้ไข แบบแปลนอาคารดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2533 จำเลยที่ 2และที่ 3 ในฐานะส่วนตัวและในฐานะตัวแทนผู้เริ่มก่อการของจำเลยที่ 1 ตกลงว่าจ้างโจทก์ให้ก่อสร้างแฟลตจำนวน 56 ห้องค่าจ้างจำนวน 10,000,000 บาท กำหนดให้แล้วเสร็จในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2533 ในระหว่างที่โจทก์กำลังก่อสร้างฐานรากอาคารจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ตกลงกับโจทก์เปลี่ยนแปลงจากก่อสร้างแฟลตมาเป็นโรงแรม 6 ชั้น รวม 60 ห้อง ค่าจ้างเพิ่มเติมจำนวน 6,538,934 บาท รวมเป็นค่าจ้างทั้งสิ้น 16,538,934 บาทต่อมาวันที่ 12 เมษายน 2534 โจทก์ก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จตามสัญญาและได้ส่งมอบอาคารให้แก่จำเลยทั้งสาม แต่จำเลยทั้งสามยังค้างค่าจ้างโจทก์จำนวน 2,638,934 บาท โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสามจึงชำระให้แก่โจทก์บางส่วนเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2534 ยังคงค้างค่าจ้างจำนวน 1,438,934 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,605,609 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน1,438,934 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การและจำเลยที่ 2 ฟ้องแย้งว่า สัญญาจ้างทำกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 โจทก์ไม่ฟ้องคดีภายใน 2 ปี นับแต่วันที่13 เมษายน 2534 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 2 รับมอบงานจากโจทก์ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ จำเลยที่ 2 ชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว และไม่เคยตกลงว่าจ้างโจทก์ให้ก่อสร้างงานเพิ่มเติมจากสัญญาจ้าง โจทก์ทำงานให้แก่จำเลยที่ 2 บกพร่องกล่าวคือหลังคาที่มุงด้วยกระจกรั่วต้องซ่อมแซมเป็นเงินจำนวน30,000 บาท ห้องน้ำเกือบทุกห้องภายในอาคารมีรอยรั่วซึมจากท่อน้ำและรอยต่อ ต้องทำการซ่อมแซมคิดเป็นเงิน680,000 บาท ขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่จำเลยที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน1,438,934 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ตามลำดับ ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เริ่มก่อการและกรรมการคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างโจทก์ให้ก่อสร้างแฟลตจำนวน 56 ห้อง ตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างเอกสารหมาย จ.3 ในระหว่างก่อสร้างได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขตัวอาคารเป็นโรงแรมโจทก์ก่อสร้างเสร็จและส่งมอบอาคารให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2534 แล้วต่อมาได้เปิดกิจการโรงแรมในอาคารดังกล่าวใช้ชื่อว่าโรงแรมเอส.ซี.เฮอร์ริเทจ โจทก์ได้รับเงินค่าจ้างในการก่อสร้างอาคารดังแล้วจำนวน 15,000,000 บาทเศษ จำเลยที่ 3เป็นผู้เริ่มก่อการและกรรมการคนหนึ่งของจำเลยที่ 1
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ว่าจ้างโจทก์ทำการก่อสร้างอาคารตามเอกสารหมาย จ.3 กับจำเลยทั้งสามร่วมกันว่าจ้างโจทก์เปลี่ยนแปลงแก้ไขตัวอาคารดังกล่าวและจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ ในข้อนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยพยานหลักฐานโจทก์จำเลยแล้วเห็นว่า ในขณะที่โจทก์ทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างกับจำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.3 นั้น แม้จำเลยที่ 1ยังมิได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3ก็เป็นผู้ร่วมก่อการและกรรมการของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3เป็นผู้ชำระเงินค่าจ้างก่อสร้างให้โจทก์หลังจากจำเลยที่ 2ทำสัญญาแล้ว ตามเอกสารหมาย จ.18 ถึง จ.35 ซึ่งจำเลยที่ 3หาได้นำสืบโต้แย้งไม่ ประกอบกับนางอารีย์ มณีโชติพยานจำเลยทั้งสามเบิกความยอมรับว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้บริหารโรงแรมร่วมกับจำเลยที่ 2 ตามข้อเท็จจริงได้ความข้างต้นทำให้น่าเชื่อว่า จำเลยที่ 3 มีส่วนรู้เห็นร่วมกับจำเลยที่ 2ทำสัญญาดังกล่าวกับโจทก์ด้วย สำหรับจำเลยที่ 1 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อโจทก์ส่งมอบอาคารให้แก่จำเลยทั้งสามในวันรุ่งขึ้นจำเลยทั้งสามก็ได้เปิดดำเนินกิจการโรงแรมในอาคารดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับเอาสัญญาที่จำเลยที่ 2 ทำไว้กับโจทก์มาใช้ประโยชน์ในการดำเนินกิจการของตน จำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันตามสัญญาดังกล่าวด้วยส่วนการเปลี่ยนแปลงแก้ไขตัวอาคารนั้น จำเลยที่ 2 เบิกความยอมรับว่า เป็นผู้ตกลงกับโจทก์ให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขแบบแปลนเป็นอาคารโรงแรมเองทั้งเมื่อโจทก์ก่อสร้างอาคารเสร็จ จำเลยทั้งสามก็ได้ยอมรับมอบอาคารจากโจทก์โดยดีและเปิดดำเนินกิจการเป็นโรงแรมเช่นนี้จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาแก้ไขแบบแปลนอาคารดังกล่าว
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยทั้งสามค้างชำระค่าจ้างโจทก์เพียงใด ในข้อนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงแล้วรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามคงรับผิดชำระค่าจ้างให้โจทก์เพียง1,000,000 บาท ตามที่โจทก์ตกลงลดยอดหนี้ให้
พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน1,000,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2534เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จสิ้นนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share