แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำให้การจำเลยที่ 1 สรุปความได้ว่า ที่พิพาทซึ่งเป็นที่ดินของจำเลยที่ 1ปลูกบ้านอยู่อาศัยถาวรได้ครอบครองทำกินปลูกต้นผลไม้มาจนปัจจุบันเป็นเวลา 30-40 ปี โจทก์ทั้งหกกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ได้ขอลงชื่อร่วมในโฉนดที่จะรังวัดแบ่งแยกใหม่ให้กับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงได้คัดค้านกับขอถอนถ้อยคำในบันทึก โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ได้ยอมทำหนังสือรับรองกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงพิพาทของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์อยู่ประมาณ11 ไร่เศษ ข้อความในคำให้การจำเลยที่ 1 ดังกล่าว แสดงเจตนาอย่างชัดแจ้งหรือยืนยันว่ากรรมสิทธิ์ในที่พิพาทเป็นของตนโดยการครอบครองมา อันเป็นการครอบครองปรปักษ์นั่นเอง ดังนี้ ถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ให้การต่อสู้ว่าได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๔๓กับโฉนดเลขที่ ๑๔๔ เจ้าพนักงานที่ดินจะไปรังวัดแบ่งแยกที่ดินตามที่โจทก์ตกลงกับจำเลย จำเลยกลับร้องคัดค้านขอให้บังคับจำเลยไปยื่นคำร้องร่วมกับโจทก์เพื่อขอแบ่งแยกที่ดิน ฯลฯ
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า บันทึกข้อตกลงสำหรับโฉนดที่ ๑๔๔ เรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์นั้น ไม่ถูกต้อง จำเลยที่ ๑ ได้ลงชื่อในบันทึกข้อตกลงโดยหลงเชื่อโจทก์ ฯลฯ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทุกคนแบ่งที่ดินตามฟ้อง ตามบันทึกข้อตกลง ฯลฯ
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า นายเห่ง นางแมะ ได้ยกที่พิพาทให้จำเลยที่ ๑แต่ผู้เดียวและจำเลยที่ ๑ ครอบครองมาเกิน ๑๐ ปีโดยสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ย่อมได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๓๘๒ จำเลยที่ ๑ พิมพ์ลายนิ้วมือลงในบันทึกหมาย จ.๒ กับแผนที่สังเขปโดยเข้าใจผิดว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยที่ ๑ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับการขอแบ่งแยกโฉนดเลขที่ ๑๔๔ ตามบันทึกข้อตกลงในเอกสารหมาย จ.๒เฉพาะที่เกี่ยวกับที่พิพาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ปัญหาที่ว่า จำเลยที่ ๑ ครอบครองที่พิพาทมาด้วยความสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของหรือไม่ โจทก์อ้างว่าตามคำให้การของจำเลยที่ ๑ เกี่ยวกับที่พิพาท มิได้อ้างข้อต่อสู้เกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่พิพาทว่าเป็นของตน หรืออ้างว่าครอบครองที่พิพาทโดยปรปักษ์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าคำให้การสรุปความว่าเฉพาะแปลงด้านทิศตะวันตกติดคลองสองห้อง (หมายถึงที่พิพาท) ซึ่งเป็นที่ดินที่จำเลยที่ ๑ ปลูกบ้านอยู่อาศัยถาวรได้ครอบครองทำกินปลูกต้นผลไม้มาจนปัจจุบันเป็นเวลา ๓๐-๔๐ ปี โจทก์ทั้งหกกับจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ได้ขอลงชื่อร่วมในโฉนดที่จะรังวัดแบ่งแยกใหม่ให้กับจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ จึงได้คัดค้านกับขอถอนถ้อยคำในบันทึก (เอกสาร จ.๒) โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๕ ได้ยอมทำหนังสือรับรองกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้ (ที่พิพาท) ของจำเลยที่ ๑(เอกสาร ล.๑) ว่าจำเลยที่ ๑ มีกรรมสิทธิ์อยู่ประมาณ ๑๑ ไร่เศษ ข้อความในคำให้การจำเลยที่ ๑ ดังกล่าว แสดงออกอย่างชัดแจ้งหรือยืนยันว่ากรรมสิทธิ์ในที่พิพาทเป็นของตนโดยการครอบครองมา อันเป็นการครอบครองปรปักษ์นั่นเอง
พิพากษายืน