คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 558/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เกิดในประเทศไทย มีสัญชาติไทย ต่อมาได้ไปประเทศจีนแล้วเดินทางกลับมา กองตรวจคนเข้าเมืองให้อยู่ในประเทศไทยได้ภายในเวลาจำกัด โจทก์ร้องขอพิสูจน์สัญชาติว่าเป็นคนไทยต่อกองตรวจคนเข้าเมือง อธิบดีกรมตำรวจสั่งระงับการพิสูจน์สัญชาติ โจทก์จึงขอให้พิพากษาแสดงว่าโจทก์เกิดในประเทศไทย มีสัญชาติไทย จำเลยให้การว่าโจทก์ไม่ใช่บุคคลสัญชาติไทย และไม่ได้เกิดในประเทศไทย แต่เกิดในประเทศจีน มีสัญชาติจีน โจทก์ร้องขออยู่ในประเทศไทยชั่วคราวโดยไม่มีที่สิ้นสุด จำเลยจึงสั่งไม่ให้โจทก์อยู่ต่อไป ดังนี้ ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าเป็นคนสัญชาติไทยหรือไม่
การที่โจทก์จะได้มาซึ่งสัญชาติไทยหรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5)
โจทก์เกิดในประเทศไทยและมีสัญชาติไทย แต่ต่อมาโจทก์ได้ขอใบสำคัญเป็นคนต่างด้าว โจทก์จึงขาดจากสัญชาติไทยไประยะหนึ่ง ในระหว่างที่พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2496 มาตรา 5 ใช้บังคับอยู่ แต่ต่อมามีพระราชบัญญัติฉบับที่ 3 พ.ศ. 2499 ประกาศใช้ โจทก์ย่อมได้สัญชาติไทยกลับคืนมาโดยมาตรา 3 และ 7 แห่งพระราชบัญญัติฉบับที่ 3 โจทก์ไม่จำต้องไปร้องขอคืนสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2495 มาตรา 20 (2) ทั้งกรณีเช่นนี้ก็ไม่ใช่เรื่องตามมาตรานี้ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เกิดในประเทศไทยจึงมีสัญชาติไทยตามกฎหมาย เมื่อขึ้นทะเบียนทหารแล้ว ไปศึกษาที่ประเทศจีน ๕ ปี เดินทางกลับมาแล้วกองตรวจคนเข้าเมืองได้ให้โจทก์อยู่ในประเทศไทยภายในเวลาจำกัด โจทก์ยื่นคำร้องขอพิสูจน์สัญชาติว่าเป็นคนไทย ในระหว่างสอบสวนนี้เอง อธิบดีกรมตำรวจสั่งระงับการพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งเป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่าโจทก์เกิดในประเทศไทย ห้ามจำเลยส่งตัวโจทก์ออกจากประเทศไทย
จำเลยให้การว่าโจทก์ไม่ใช่บุคคลสัญชาติไทย และไม่ได้เกิดในประเทศไทย แต่เกิดในประเทศจีน มีสัญชาติจีน เพิ่งเดินทางจากประเทศจีนมาประเทศไทยในฐานะผู้อยู่ชั่วคราว โจทก์ร้องขออยู่ในประเทศไทยชั่วคราวโดยไม่มีสิ้นสุด จำเลยที่ ๑ จึงสั่งไม่ให้อยู่ต่อไป เป็นคำสั่งที่ชอบ ส่วนการร้องขอพิสูจน์สัญชาตินั้นยังมิได้สั่ง จึงถือว่าจำเลยยังมิได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ ฟ้องของโจทก์จึงไม่ชอบ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ที่อธิบดีกรมตำรวจไม่อนุญาตให้โจทก์อยู่ต่อไปเพื่อพิสูจน์สัญชาตินั้น เป็นการงดพิสูจน์สัญชาติและไม่ให้โจทก์อยู่ในประเทศไทย จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์ย่อมใช้สิทธิทางศาลขอพิสูจน์ได้ และคดีฟังได้ว่าโจทก์เกิดในประเทศไทยและมีสัญชาติไทย พิพากษาแสดงว่าโจทก์เกิดในประเทศไทยมีสัญชาติเป็นคนไทย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์โต้แย้งสิทธิของโจทก์อยู่ในตัวแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีได้ และฟังว่าโจทก์เกิดในประเทศไทยและมีสัญชาติไทย แล้วต่อมาได้ขอใบสำคัญเป็นคนต่างด้าว ย่อมสูญเสียสัญชาติไทยไปแล้ว และถือว่าโจทก์ได้ยอมถือสัญชาติจีนเพียงสัญชาติเดียวตามพระราชบัญญัติสัญชาติ มาตรา ๑๖ ทวิ ซึ่งเพิ่มเติมโดยฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๙๖ มาตรา ๕ แม้ต่อมาภายหลังจะมีฉบับที่ ๓ พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๗ ยกเลิกมาตรา ๑๖ ทวิ ก็ไม่ทำให้โจทก์กลับได้คืนมาซึ่งสัญชาติ พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาที่โจทก์ฎีกาว่า
๑. ที่โจทก์ฎีกาว่าศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจยกประเด็นที่ว่าโจทก์ได้สูญเสียสัญชาติไทยไปหรือไม่ขึ้นวินิจฉัยนั้น เห็นว่า ตามฟ้องและคำให้การมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นคนสัญชาติไทยหรือไม่ การวินิจฉัยนั้นจึงไม่นอกฟ้องนอกประเด็น และการที่โจทก์จะได้มาซึ่งสัญชาติไทยย่อมมีผลกระทบกระเทือนถึงผลประดยชน์ของประเทศชาติและประชาชน จึงเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ (๕) ศาลอุทธรณ์จึงยกขึ้นวินิจฉัยได้
๒. ปัญหาที่ว่า การที่โจทก์ได้ขอใบสำคัญเป็นคนต่างด้าว จะทำให้โจทก์สูญเสียสัญชาติไทยไปตามพระราชบัญญัติสัญชาติมาตรา ๑๖ ทวิ ซึ่งเพิ่มเติมโดยฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๙๖ หรือไม่นั้น เมื่อมีประกาศใช้พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖ ซึ่งมีมาตรา ๕ ให้เพิ่มความเป็นมาตรา ๑๖ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๔๙๕ แล้ว ก็ให้โจทก์ขาดจากสัญชาติไทยไประหว่างที่บทกฎหมายนั้นใช้บังคับอยู่ ครั้นต่อมามีพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๓) พ.ส. ๒๔๙๙ ประกาศใช้ มาตรา ๓ ให้ยกเลิกมาตรา ๗ แห่งฉบับ พ.ศ. ๒๔๙๕ ซึ่งได้แก้ไขแล้วโดยฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๙๖ และใช้ความใหม่แทนว่า “มาตรา ๗ บุคคลต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิน ฯลฯ (๓) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย” ทั้งมาตรา ๗ ของฉบับที่ ๓ นี้ ก็ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๖ ทวิ ดังกล่าวข้างต้นเสียแล้ว ดังนี้ จึงถือว่าโจทก์ย่อมได้สัญชาติไทยกลับคืนมาตามเดิม โดยอาศัยสิทธิตามฉบับที่ ๓ มาตรา ๓ เมื่อโจทก์ได้คืนสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติแห่งกฎหมายใหม่ดังกล่าวแล้ว โจทก์ก็ไม่จำต้องไปร้องขอคืนสัญชาติตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๔๙๕ มาตรา ๒๐ (๒) ดังที่จำเลยอ้าง
ทั้งกรณีเช่นนี้ก็ไม่ใช่เรื่องตามมาตรา ๒๐ (๒) ด้วย พิพากษากลับโดยพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share