คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5574/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่าง ส. กับจำเลยจะเป็นสัญญาต่างตอบแทน ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างมีฐานะเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้และลูกหนี้ กล่าวคือจำเลยมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ที่จะได้รับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจาก ส. ซึ่งเป็นลูกหนี้ในการที่จะต้องโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลย ในขณะเดียวกันจำเลยก็มีฐานะเป็นลูกหนี้ที่จะต้องชำระหนี้ค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ ส. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในการที่จะได้รับชำระหนี้ค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากจำเลย แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ส. ได้ชำระหนี้ในส่วนของตนให้แก่จำเลยเป็นที่เรียบร้อยแล้วก่อนที่ ส. จะโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่โจทก์ การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่าง ส. กับโจทก์จึงเป็นการโอนเฉพาะสิทธิเรียกร้องในฐานะเป็นเจ้าหนี้เพียงอย่างเดียว การโอนในลักษณะดังกล่าวนี้เมื่อได้ทำเป็นหนังสือและได้บอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยแล้ว ก็ย่อมสมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคแรก จำเลยจึงต้องรับผิดชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 6,300,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณา จำเลยถึงแก่กรรม นางนิรมลทายาทของจำเลยยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์อนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 6,300,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2539 จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 26461 ตำบลคลองราชาเทวะ (ราชาเทวะ) อำเภอบางพลี (บางพลีใหญ่) จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมสิ่งปลูกสร้างกับนายสวัสดิ์ในราคา 135,000,000 บาท โดยวางมัดจำ 12,000,000 บาท และจะชำระเงินจำนวน 108,000,000 บาท ภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2539 ส่วนที่เหลือจำนวน 15,000,000 บาท จำเลยจะผ่อนชำระเป็นรายงวด งวดละ 1,000,000 บาท เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 25 มกราคม 2540 งวดต่อไปทุกวันที่ 25 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบ ต่อมาเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2539 นายสวัสดิ์โอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวให้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยมิได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์ตั้งเป็นประเด็นไว้ ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าว ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยมิได้เป็นลูกหนี้นายสวัสดิ์ก็ดี สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ก็ดี หนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระโจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องก็ดี หรือที่ฎีกาว่า จำเลยไม่ได้รับการบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องก็ดี ล้วนเป็นการฎีกาในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงประการเดียวว่า สัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง มีผลผูกพันจำเลยให้ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า แม้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างนายสวัสดิ์กับจำเลยจะเป็นสัญญาต่างตอบแทน ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างมีฐานะเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ กล่าวคือจำเลยมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ที่จะได้รับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากนายสวัสดิ์ซึ่งเป็นลูกหนี้ในการที่จะต้องโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลย ในขณะเดียวกันจำเลยก็มีฐานะเป็นลูกหนี้ที่จะต้องชำระหนี้ค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่นายสวัสดิ์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในการที่จะได้รับชำระหนี้ค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากจำเลย แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่านายสวัสดิ์ได้ชำระหนี้ในส่วนของตนให้แก่จำเลยเป็นที่เรียบร้อยแล้วก่อนที่นายสวัสดิ์จะโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่โจทก์ การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างนายสวัสดิ์กับโจทก์จึงเป็นการโอนเฉพาะสิทธิเรียกร้องในฐานะเจ้าหนี้เพียงอย่างเดียว การโอนในลักษณะดังกล่าวนี้เมื่อได้ทำเป็นหนังสือและได้บอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยแล้ว ก็ย่อมสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 วรรคแรก จำเลยจึงต้องรับผิดชำระหนี้จำนวน 6,300,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นฎีกาแทนโจทก์จำนวน 3,000 บาท

Share