คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 557/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 ซึ่งเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 86 ดังนั้น แม้จำเลยทั้งสองเป็นผู้มีสัญชาติไทยก็ไม่ทำให้ขาดองค์ประกอบความผิดเพราะมิได้ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองเป็นตัวการกระทำความผิดที่ต้องมีคุณสมบัติเฉพาะเป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทยดังที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2538 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองกับพวกที่หลบหนีอีก 1 คน ร่วมกันกระทำความผิดและร่วมกันสนับสนุนการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อนายพิชัย โคหนองบัว ปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครอง 3) และนายเชษฐา บุตรเวส เจ้าพนักงานปกครอง 3 ซึ่งเป็นนายทะเบียนและเจ้าพนักงานผู้รับผิดชอบงานบัตรประจำตัวประชาชนของอำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนมว่า พวกของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นชายสัญชาติลาวที่ยังหลบหนีดังกล่าวชื่อนายลาวัลย์ สุทธิ จะขอทำบัตรประจำตัวประชาชน โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ใหญ่บ้าน และจำเลยที่ 2 ร่วมกันให้การรับรองต่อนายพิชัยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานว่าพวกของจำเลยทั้งสองดังกล่าวชื่อนายลาวัลย์ สุทธิ อันเป็นความเท็จ ความจริงชายสัญชาติลาวพวกของจำเลยทั้งสองมิได้ชื่อนายลาวัลย์ สุทธิ การกระทำของจำเลยทั้งสองกับพวกเป็นการร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้นายพิชัย กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ผู้อื่นและประชาชนเสียหาย และโดยการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าวเป็นเหตุให้นายพิชัย และนายเชษฐาหลงเชื่อว่าเป็นความจริง นายพิชัยจึงสั่งให้นายเชษฐาจดข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าวลงคำขอมีบัตร บัตรใหม่หรือเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชน แบบ บ.ป. 1 อันเป็นเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานการทะเบียนราษฎร์ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นายพิชัย นายเชษฐา กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ผู้อื่นหรือประชาชน และจำเลยทั้งสองกับพวกที่หลบหนีอีก 2 คน ได้ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่พวกของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทยยื่นคำขอมีบัตร มีบัตรใหม่หรือเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชน แบบ บ.ป. 1 โดยแจ้งข้อความเท็จหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวว่าตนชื่อนายลาวัลย์ สุทธิ จริง และเป็นผู้มีสัญชาติไทย อันเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 โดยจำเลยทั้งสองช่วยเหลือแก่พวกของจำเลยทั้งสองที่หลบหนี โดยให้การรับรองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามฟ้องข้างต้นว่าพวกของจำเลยทั้งสองชื่อนายลาวัลย์ สุทธิ เป็นผู้มีสัญชาติไทย อันเป็นความเท็จ ความจริงแล้วพวกของจำเลยทั้งสองตามฟ้องดังกล่าวไม่ได้ชื่อนายลาวัลย์ สุทธิ แต่เป็นผู้มีสัญชาติลาว เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่พวกจำเลยดังกล่าว ซึ่งสำเร็จสมดังเจตนาของจำเลยทั้งสอง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 91, 137, 267 พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267, 83 พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 1 ปี ทางนำสืบของจำเลยทั้งสองมีประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 8 เดือน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ได้มีชายคนหนึ่งไปยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนต่อนายพิชัย โคหนองบัว ปลัดอำเภอบ้านแพง อ้างว่าชื่อนายลาวัลย์ สุทธิ อายุ 36 ปี อยู่บ้านเลขที่ 48 หมู่ที่ 12 ตำบลหนองแวง อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม โดยมีจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 12 ตำบลหนองแวง อำเภอบ้านแพง และจำเลยที่ 2 เจ้าพนักงานพัฒนาชุมชน 5 เป็นผู้ให้ถ้อยคำรับรองต่อนายพิชัยว่า ชายคนที่มายื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนดังกล่าวเป็นนายลาวัลย์ สุทธิ ผู้มีสัญชาติไทยและลงชื่อรับรองไว้ตามเอกสารหมาย จ.2 จ.4 และ จ.5 เป็นเหตุให้ทางราชการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่ชายดังกล่าว ต่อมามีผู้ร้องเรียนต่อนายอำเภอบ้านแพงว่า จำเลยที่ 1 นำบุคคลต่างด้าวไปทำบัตรประจำตัวประชาชนแทนนายลาวัลย์ สุทธิ ให้สอบสวนหาข้อเท็จจริง ตามเอกสารหมาย จ.1 ผลการสอบสวนได้ความว่านายลาวัลย์ สุทธิ ถึงแก่ความตายตั้งแต่อายุประมาณ 8 ปี ส่วนชายที่มายื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนเป็นบุคคลไม่มีสัญชาติไทย ยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนโดยแจ้งข้อความเท็จตามเอกสารหมาย จ.28 คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ฟังข้อเท็จจริงว่า นายลาวัลย์ สุทธิ บุตรของนางหนา สุทธิ ได้ถึงแก่ความตายไปก่อนที่จะมีการยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนและชายผู้ที่มายื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนตามเอกสารหมาย จ.2 ไม่ใช่นายลาวัลย์บุตรของนางหนา จำเลยทั้งสองไม่ได้ฎีกาโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในข้อนี้ ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ฟังได้ว่า ข้อความที่จำเลยทั้งสองให้ถ้อยคำต่อนายพิชัย โคหนองบัว ปลัดอำเภอบ้านแพงว่าชายผู้มายื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนชื่อนายลาวัลย์ สุทธิ ตามเอกสารหมาย จ.4, จ.5 นั้นเป็นเท็จ คงมีปัญหาวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองให้การรับรองตามเอกสารหมาย จ.4, จ.5 โดยรู้ว่าเป็นข้อความเท็จหรือไม่ โจทก์มีนายเชษฐา บุตรเวส เป็นพยานเบิกความว่า หลังจากนายพิชัยแจ้งให้ชายที่อ้างว่าชื่อนายลาวัลย์นำหลักฐานใบรับรองของผู้ใหญ่บ้าน กำนันหรือข้าราชการมารับรองว่าเป็นผู้มีภูมิลำเนาตามที่ยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชน วันเดียวกันชายดังกล่าวได้พาจำเลยทั้งสองมารับรองว่าตนเป็นบุคคลสัญชาติไทย มีภูมิลำเนาอยู่ตามสำเนาทะเบียนบ้านที่ยื่นพร้อมคำขอ พยานจึงได้บันทึกคำให้การรับรองของจำเลยทั้งสองไว้ ตามเอกสารหมาย จ.32 (ฉบับเดียวกับ จ.4) และ จ.33 (ฉบับเดียวกับ จ.5) และบันทึกคำรับรองของจำเลยที่ 1 ไว้ด้านหลังคำขอมีบัตรด้วยเพื่อป้องกันหลักฐานหาย แล้วดำเนินการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้ผู้ยื่นคำขอมีบัตรไป เห็นว่า พยานโจทก์ไม่เคยมีสาเหตุกับจำเลยทั้งสองมาก่อน ย่อมไม่เบิกความปรักปรำให้ร้ายแก่จำเลยทั้งสอง เชื่อว่าพยานโจทก์เบิกความตามความจริง ซึ่งตามเอกสารหมาย จ.4 (จ.32) และ จ.5 (จ.33) มีข้อความชัดเจนว่าจำเลยทั้งสองรับรองว่าผู้ยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนเป็นบุคคลคนเดียวกับนายลาวัลย์ สุทธิ มีชื่ออยู่บ้านเลขที่ 48 หมู่ที่ 12 ตำบลหนองแวง อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม โดยจำเลยที่ 1 รับรองในฐานะผู้ใหญ่บ้าน ส่วนจำเลยที่ 2 รับรองในฐานะรู้จักกัน โดยรับรองว่าจำเลยทั้งสองรู้จักนายลาวัลย์ดี และยังมีข้อความรับรองว่าถ้อยคำที่ให้ไว้เป็นความจริงทุกประการ แล้วลงชื่อจำเลยทั้งสอง ดังนั้น การที่ชายดังกล่าวสามารถนำพาจำเลยทั้งสองมาให้ถ้อยคำรับรองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้สอบสวนบันทึกคำรับรองไว้ได้ ย่อมบ่งชี้ว่าชายผู้ยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนได้มีการเจรจาตกลงกับจำเลยทั้งสองจนยินยอมมาให้คำรับรองดังกล่าว ข้อที่จำเลยทั้งสองอ้างว่านายพิชัยปลัดอำเภอขอร้องให้จำเลยทั้งสองรับรองว่าผู้มายื่นคำขอมีบัตรเป็นคนสัญชาติไทยชื่อนายลาวัลย์บุตรของนางหนาจริง จำเลยทั้งสองเชื่อถือนายพิชัยจึงรับรองให้นั้น เป็นเพียงคำเบิกความลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้ และยังได้ความว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ใหญ่บ้าน จำเลยที่ 2 เป็นพัฒนากรตำบลในท้องที่ตามภูมิลำเนาที่ขอมีบัตรประจำตัวประชาชน จำเลยทั้งสองย่อมต้องรู้จักบุคคลที่อยู่ภายในท้องที่ได้ดีและให้การรับรองผู้ที่ตนรู้จักเท่านั้น การที่จำเลยทั้งสองให้การรับรองโดยไม่ปรากฏว่ารู้จักกับผู้ยื่นคำขอมีบัตรมาก่อน ตามพฤติการณ์เชื่อว่าจำเลยทั้งสองให้การรับรองตามเอกสารหมาย จ.4, จ.5 โดยทราบดีว่าเป็นข้อความอันเป็นเท็จ เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่ผู้ยื่นคำขอมีบัตร จึงเป็นการแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานและแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน และการกระทำของจำเลยทั้งสองยังเป็นการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ไม่มีสัญชาติไทยที่ยื่นคำขอมีบัตรที่แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าตนเป็นผู้มีสัญชาติไทยด้วย จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดตามฟ้อง ข้อที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองเกิดขึ้นก่อนมีพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2542 มาตรา 8 ที่ให้ยกเลิกความในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 โดยเปลี่ยนองค์ประกอบความผิดจากเดิมที่กำหนดให้ผู้กระทำความผิดต้องเป็น “ผู้ไม่มีสัญชาติไทย” เป็น “ผู้ใด” ซึ่งต้องใช้กฎหมายในขณะกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 เมื่อคำฟ้องของโจทก์ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้มีสัญชาติไทย ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับความผิดต่อพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 เป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 14 เดิม เป็นฟ้องที่ไม่ชอบนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1 ข. ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันสนับสนุนโดยการให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่พวกของจำเลยทั้งสอง ซึ่งเป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทยยื่นคำขอมีบัตร มีบัตรใหม่หรือเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชน แบบ บ.ป. 1 โดยแจ้งข้อความเท็จหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยให้การรับรองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าพวกของจำเลยทั้งสองชื่อนายลาวัลย์ สุทธิ เป็นผู้มีสัญชาติไทยอันเป็นเท็จ ความจริงพวกของจำเลยทั้งสองไม่ได้ชื่อนายลาวัลย์ สุทธิ แต่เป็นผู้มีสัญชาติลาว เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่พวกของจำเลยทั้งสอง เช่นนี้จึงเป็นการฟ้องว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 ซึ่งเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ดังนั้น แม้จำเลยทั้งสองเป็นผู้มีสัญชาติไทยก็ไม่ทำให้ขาดองค์ประกอบความผิดเพราะมิได้ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองเป็นตัวการกระทำความผิดที่ต้องมีคุณสมบัติเฉพาะเป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทย ดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว”
พิพากษายืน.

Share