คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 557/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามรื้อถอนส่วนที่ก่อสร้างปกคลุมทางเดินหลังอาคารและพื้นชั้นลอย อันเป็นการต่อเติมดัดแปลงอาคารพิพาทให้ผิดไปจากแบบ ซึ่งไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ ตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 42 และมาตรา 43 ที่ให้อำนาจไว้ ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้เคยฟ้องขอเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่มีคำสั่งให้จำเลยทั้งสาม รื้อถอนอาคารส่วนที่ต่อเติมดังกล่าว และศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง จึงมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีนี้มิให้ยกข้อเท็จจริงที่ยุติตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างเป็นประการอื่น สำหรับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็น เจ้าของที่ดินที่อาคารพิพาทตั้งอยู่จึงมีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 ในลักษณะที่ไม่อาจแบ่งแยกความรับผิดออกจากกันได้ จำเลยที่ 3 จะโต้แย้งข้อเท็จจริงนั้นเป็นประการอื่นไม่ได้เช่นกัน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครที่ให้เว้นพื้นที่ด้านหลังอาคารพาณิชย์เป็นที่ว่างไว้ไม่น้อยกว่า 2 เมตร เป็นข้อบัญญัติเพื่อความปลอดภัยของบุคคลและทรัพย์สิน เพื่อใช้เป็นทางเข้าออกอาคารเมื่อเกิดอัคคีภัย จึงมีผลใช้บังคับต่อบุคคลและสถานที่ภายในเขตที่กำหนดไว้โดยเท่าเทียมกัน เมื่ออาคารพิพาทของจำเลยปลูกสร้างในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครก็ต้องอยู่ภายใต้การบังคับของข้อบัญญัติดังกล่าว จำเลยจะยกการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของบุคคลอื่นมาเป็นข้อแก้ตัวว่าตนไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันรื้อถอนอาคารตึกแถวเลขที่ ๔๐๘ และ ๔๑๐ แขวงจักรวรรดิ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร เฉพาะส่วนที่ก่อสร้างดัดแปลงต่อเติมโดยไม่ได้รับอนุญาต หากจำเลยทั้งสาม ไม่รื้อถอน ให้โจทก์เป็นฝ่ายรื้อถอน โดยให้จำเลยทั้งสามเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรื้อถอนอาคารตึกแถวเลขที่ ๔๐๘ และ ๔๑๐ ถนนวานิช ๑ แขวงจักรวรรดิ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ในส่วนที่ก่อสร้างดัดแปลงต่อเติมผิดไปจากแบบที่ได้รับอนุญาต หากจำเลยทั้งสามไม่ยอมรื้อถอน ให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนโดยจำเลยทั้งสามเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายแทน
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยทั้งสาม ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามรื้อถอนส่วนที่ก่อสร้างปกคลุมทางเดินหลังอาคารและพื้นชั้นลอย อันเป็นการต่อเติมดัดแปลงอาคารพิพาทให้ผิดไปจากแบบซึ่งไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๒ และมาตรา ๔๓ ที่ให้อำนาจไว้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า คดีที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ฟ้องขอเพิกถอนคำวินิจฉัยของ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และคดีดังกล่าวถึงที่สุดให้ยกฟ้องตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๗๙๘/๒๕๓๗ ซึ่งมีผลผูกพันจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ในคดีนี้มิให้ยกข้อเท็จจริงที่ยุติแล้วนั้นขึ้นกล่าวอ้างเป็นประการอื่นสำหรับจำเลยที่ ๓ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่อาคารพิพาทเลขที่ ๔๐๘ ตั้งอยู่ จึงมีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ ๑ ในลักษณะที่ไม่อาจแบ่งแยกความรับผิดออกจากกันได้ จำเลยที่ ๓ จะโต้แย้งข้อเท็จจริงนั้นเป็นประการอื่นไม่ได้เช่นกัน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ปัญหาวินิจฉัยประการต่อมาจำเลยทั้งสามฎีกาว่า ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครข้อ ๗๖ (๔) ไม่มีผลใช้บังคับในกรณีของจำเลยทั้งสาม ดังนั้น การต่อเติมดัดแปลงอาคารพิพาทตามฟ้องจึงชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครที่ให้เว้นพื้นที่ด้านหลังอาคารพาณิชย์เป็นที่ว่างไว้ไม่น้อยกว่า ๒ เมตร เป็นข้อบัญญัติเพื่อความปลอดภัยของบุคคลและทรัพย์สิน เพื่อใช้เป็นทางเข้าออกอาคารเมื่อเกิดอัคคีภัย ข้อบัญญัติดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมายซึ่งบังคับใช้ต่อบุคคลและสถานที่ภายในเขตที่กำหนดไว้โดยเท่าเทียมกันไม่มีข้อยกเว้นว่าพื้นที่ใดอยู่นอกเขตการบังคับใช้ เมื่ออาคารพิพาทของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ปลูกสร้างในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครก็ต้องอยู่ภายใต้การบังคับใช้ของข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครดังกล่าวเช่นเดียวกับอาคารอื่นทั้งหมดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล หากอาคารอื่นมีลักษณะเช่นเดียวกับอาคารพิพาทก็ต้องถูกบังคับให้รื้อถอนทำนองเดียวกับอาคารพิพาทของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ หาได้อยู่เหนือการบังคับใช้ของข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครไม่ จำเลยทั้งสามจะยกการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของบุคคลอื่นมาเป็นข้อแก้ตัวว่าตนไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายด้วยไม่ได้
พิพากษายืน.

Share