แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.รัษฎากร มาตรา 79/2 กำหนดหลักเกณฑ์ของฐานภาษีสำหรับการนำเข้าสินค้าไว้เป็นการเฉพาะแล้ว โดยวรรคสามบัญญัติว่า “ราคา ซี.ไอ.เอฟ. ได้แก่ราคาสินค้าบวกด้วยค่าประกันภัยและค่าขนส่งถึงด่านศุลกากรที่นำสินค้านั้นเข้าในราชอาณาจักร” และกฎกระทรวง (ฉบับที่ 132) ข้อ 8 ระบุว่า ราคาซื้อขายของที่นำเข้าที่ใช้ในการกำหนดราคาศุลกากรจะต้องเป็นราคาที่ได้ชำระจริงหรือที่จะต้องชำระสำหรับของที่นำเข้านั้น เมื่อได้มีการขายเพื่อส่งออกมายังราชอาณาจักร
การตรวจปล่อยสินค้าถ่านหินของโจทก์เทกองในลักษณะ BULK CARGO ผลการคำนวณจากการวัดระดับเรือได้น้ำหนักสินค้า 6,198 เมตริกตัน เท่ากับน้ำหนักสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้า ใบตราส่งสินค้า บัญชีสินค้าสำหรับเรือ บัญชีหีบห่อสินค้า ใบรับรองค่าขนส่ง และหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า โดยมีราคาต่อหน่วยคือ 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อเมตริกตัน จึงเป็นราคาสินค้า 495,840 ดอลลาร์สหรัฐ การที่โจทก์ปฏิเสธราคาเช่นว่านั้นว่าไม่ถูกต้อง ความจริงราคาที่โจทก์จ่ายต่ำกว่านั้น โจทก์จึงมีหน้าที่พิสูจน์ให้ได้ความดังที่อ้าง เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าค่าความชื้นที่ปรากฏตามบัญชีราคาสินค้านั้นสามารถคำนวณหักออกจากปริมาณน้ำหนักสินค้าทั้งหมดเพื่อคำนวณหาราคาที่แท้จริงอย่างไร โจทก์จึงไม่อาจนำค่าความชื้นมาหักเป็นส่วนลดจากมูลค่าของสินค้าได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินเรียกเก็บอากรขาเข้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีอื่น ๆ เลขที่ กค 3305175/10-08-2553 ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2553 จำนวน 81,325.31 บาท
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือเลขที่ กค 3305175/10-08-2553 ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2553 กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การประเมินของเจ้าพนักงานของกรมศุลกากรและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 79/1 ฐานภาษีสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการ ได้แก่ มูลค่าทั้งหมดที่ผู้ประกอบการได้รับหรือพึงได้รับจากการขายสินค้าหรือการให้บริการ รวมทั้งภาษีสรรพสามิตตามที่กำหนดใน มาตรา 77/1 (19) ถ้ามีด้วย” และวรรคสามบัญญัติว่า “มูลค่าของฐานภาษีไม่ให้รวมถึง (1) ส่วนลดหรือค่าลดหย่อน ที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ลดให้ในขณะขายสินค้าหรือให้บริการและได้หักส่วนลดหรือค่าลดหย่อนดังกล่าวออกจากราคาสินค้าหรือราคาค่าบริการ โดยได้แสดงให้เห็นไว้ชัดแจ้งว่าได้มีการหักส่วนลดหรือค่าลดหย่อนไว้ในใบกำกับภาษีในแต่ละครั้งที่ออกแล้ว…” เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับมูลค่าของฐานภาษี มูลค่าเพิ่มที่ใช้สำหรับผู้ประกอบการกระทำกิจการขายสินค้าหรือการให้บริการ แต่กรณีของโจทก์เป็นการนำเข้าสินค้าที่มีมาตรา 79/2 แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดหลักเกณฑ์ของฐานภาษีสำหรับการนำเข้าสินค้าไว้เป็นการเฉพาะแล้ว โจทก์เป็นผู้นำเข้าสินค้าที่มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจะต้องยื่นใบขนสินค้าตามแบบที่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนดต่อเจ้าพนักงานศุลกากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร และชำระภาษีมูลค่าเพิ่มต่อเจ้าพนักงานศุลกากรพร้อมกับการชำระอากรขาเข้าตามมาตรา 83/8 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร โดยการยื่นใบขนสินค้าขาเข้าต้องปฏิบัติตามพิธีการที่กรมศุลกากรประกาศกำหนดไว้ ซึ่งตามมาตรา 79/2 แห่งประมวลรัษฎากร วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ฐานภาษีสำหรับการนำเข้าสินค้า ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ (1) ฐานภาษีสำหรับการนำเข้าสินค้าทุกประเภท ได้แก่ มูลค่าของสินค้านำเข้าโดยใช้ราคา ซี.ไอ.เอฟ. ของสินค้าบวกด้วยอากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิตตามที่กำหนดในมาตรา 77/1 (19) ค่าธรรมเนียมพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนและภาษีและค่าธรรมเนียมอื่นตามที่จะได้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา” และวรรคสามบัญญัติว่า “ราคา ซี. ไอ. เอฟ. ได้แก่ราคาสินค้าบวกด้วยค่าประกันภัยและค่าขนส่งถึงด่านศุลกากรที่นำสินค้านั้นเข้าในราชอาณาจักร เว้นแต่… (ข) ในกรณีที่เจ้าพนักงานศุลกากรได้ทำการประเมินราคาเพื่อเสียอากรขาเข้าใหม่ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ให้ถือราคานั้นเป็นราคาสินค้าในการคำนวณราคา ซี.ไอ.เอฟ…” คดีนี้ข้อเท็จจริงนี้ข้อเท็จจริงยุติในส่วนของค่าประกันภัยและค่าขนส่งแล้ว คงมีประเด็นพิพาทเฉพาะราคาสินค้าพิพาทที่โจทก์นำเข้ามาในราชอาณาจักร เมื่อตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 มาตรา 2 ได้บัญญัติความหมายของคำว่า “ราคาศุลกากร” หรือ “ราคา” แห่งของอย่างใดให้เป็นไปตามกฎกระทรวง ซึ่งกฎกระทรวง(ฉบับที่ 132) ออกตามความในพระราชบัญญัติศุลกากรพุทธศักราช 2469 ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการใช้และการกำหนดราคาศุลกากร ข้อ 8 ระบุว่า ราคาซื้อขายของที่นำเข้าที่ใช้ในการกำหนดราคาศุลกากรจะต้องเป็นราคาที่ได้ชำระจริงหรือที่จะต้องชำระสำหรับของที่นำเข้านั้นเมื่อได้มีการขายเพื่อส่งออกมายังราชอาณาจักร เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงซึ่งโจทก์ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านว่าการตรวจปล่อยสินค้าถ่านหินของโจทก์เทกองในลักษณะ BULK CARGO โดยวิธีวัดระดับเรือ (DRAFT SURVEY) ผลการคำนวณจากการวัดระดับเรือได้น้ำหนักสินค้า 6,198 เมตริกตัน เท่ากับน้ำหนักสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้า ใบตราส่งสินค้า (BILL OF LADING) บัญชีสินค้าสำหรับเรือ (MANIFEST) บัญชีหีบห่อสินค้า (PACKING LIST) ใบรับรองค่าขนส่ง และหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่สำแดงน้ำหนักไว้ 6,198 เมตริกตัน และราคาต่อหน่วย คือ 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อเมตริกตัน จึงเป็นราคาสินค้า 495,840 ดอลลาร์สหรัฐ การที่โจทก์ปฏิเสธราคาเช่นว่านั้นว่าไม่ถูกต้อง ความจริงราคาที่โจทก์จ่ายต่ำกว่านั้น โจทก์จึงมีหน้าที่พิสูจน์ให้ได้ความดังที่อ้าง เมื่อโจทก์อ้างว่าบัญชีราคาสินค้า (COMMERCIAL INVOICE) ที่แสดงการหักลบปริมาณที่เกี่ยวข้องกับค่าความชื้น จากปริมาณ 6,198 เมตริกตัน คงเหลือปริมาณ 5,881.28 เมตริกตัน แต่โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าค่าความชื้นที่ปรากฏตามบัญชีราคาสินค้านั้นสามารถคำนวณหักออกจากปริมาณน้ำหนักสินค้าทั้งหมดเพื่อคำนวณหาราคาที่แท้จริงอย่างไร ส่วนจำเลยนำสืบว่า กรณีที่มีส่วนลดราคาสินค้า ผู้นำเข้าต้องปฏิบัติตามประมวลระเบียบปฏิบัติศุลกากร พ.ศ.2544 ข้อ 2 01 04 10 ที่กำหนดไว้ว่ากรณีเป็นส่วนลดเงินสด ส่วนลดปริมาณ หรือส่วนลดการค้า ให้ผู้นำเข้าชำระค่าภาษีอากรตามราคาที่ได้ชำระจริง โดยแนบเอกสารหลักฐานจากผู้ขาย กรณีเป็นส่วนลดอื่น ๆ นอกจากส่วนลดเงินสด ส่วนลดปริมาณ หรือส่วนลดทางการค้า ผู้นำเข้าต้องยื่นคำร้องขอให้รับส่วนลดในการกำหนดราคาศุลกากร โดยมีหลักฐานหรือเอกสารจากผู้ขายมาแสดงให้เจ้าหน้าที่ประเมินอากรพิจารณาว่ามีเหตุผลเพียงพอและสมควรจะรับส่วนลดนั้นได้หรือไม่ แล้วเสนอผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรพิจารณาอนุมัติ สำหรับค่าความชื้นที่โจทก์หักไว้นั้น ไม่ใช่ส่วนลดเงินสดส่วนลดปริมาณ หรือส่วนลดการค้าที่สามารถหักออกจากราคาซื้อขายได้ แต่เป็นส่วนลดอื่น ๆ ที่ผู้นำของเข้าต้องยื่นคำร้องขอให้รับส่วนลดในการกำหนดราคาศุลกากร และหากผู้นำเข้าไม่มีหลักฐานหรือเอกสารอื่นจากผู้ขายมาแสดง ให้กำหนดราคาศุลกากรโดยไม่มีส่วนลด เมื่อโจทก์ไม่สืบพยานหรือถามค้านพยานจำเลยให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าค่าความชื้นดังกล่าวเป็นส่วนลดอื่น ๆ ที่ผู้นำของเข้าต้องยื่นคำร้องขอให้รับส่วนลดในการกำหนดราคาศุลกากร โดยมีหลักฐานหรือเอกสารจากผู้ขายมาแสดงให้เจ้าหน้าที่ประเมินอากรพิจารณาว่ามีเหตุผลเพียงพอและสมควรจะรับส่วนลดนั้นได้หรือไม่ตามทางปฏิบัติของประมวลระเบียบปฏิบัติศุลกากร พ.ศ.2544 ข้อ 2 01 04 10 เมื่อโจทก์ไม่ได้ยื่นคำร้องขอให้รับส่วนลดและไม่มีหลักฐานหรือเอกสารซึ่งระบุถึงส่วนลดจากผู้ขายมาแสดงในขณะยื่นใบขนสินค้าขาเข้า โจทก์จึงไม่อาจนำค่าความชื้นมาหักเป็นส่วนลดจากมูลค่าของสินค้าได้ ดังนั้น การที่โจทก์นำค่าความชื้นมาหักเป็นส่วนลดจึงทำให้ฐานภาษี มูลค่าเพิ่มที่โจทก์สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าไม่ถูกต้อง พยานหลักฐานแห่งคดีจึงไม่อาจรับฟังได้ตามที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า สินค้าถ่านหินที่โจทก์นำเข้ามีน้ำหนัก 6,198 เมตริกตัน การที่เจ้าพนักงานของกรมศุลกากรประเมินราคาสินค้าโดยคำนวณจากน้ำหนัก 6,198 เมตริกตัน ในราคา 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อเมตริกตัน เป็นราคาสินค้า 495,840 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 16,903,780.61 บาท บวกค่าประกันภัย 17,604.71 บาท และค่าขนส่ง 7,184,106.76 บาท รวมเป็นราคา ซี.ไอ.เอฟ. ของสินค้าที่ใช้เป็นฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม เท่ากับ 24,105,492.08 บาท คิดเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม 1,687,385 บาท จึงเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 79/2 (1) (ข) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว การประเมินของเจ้าพนักงานกรมศุลกากรและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ให้โจทก์ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มส่วนที่ขาด 60,465 บาท พร้อมเงินเพิ่ม 20,860.31 บาท ชอบแล้ว ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานของจำเลย จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ