คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5563/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2541 มาตรา 30 ตรี บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีการโอนทรัพย์สินที่ได้ขายตามวิธีการที่กำหนดไว้ในมาตรา 30 ทวิ แล้ว… (3) ผู้ซื้อทรัพย์สินมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยตามวิธีการและตามอัตราในสัญญาเดิม” เมื่อจำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ค. ตกลงอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปี ส่วนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 21 ต่อปี และโจทก์ได้รับโอนสิทธิทั้งหมดตามสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาจำนอง ต่อมาวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงยอมปรับโครงสร้างหนี้ รวมทั้งจำเลยที่ 1 ยอมรับดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราสูงสุดตามเงื่อนไขที่ได้กำหนดไว้ในสัญญากู้ยืมเงิน ตามสัญญากู้เงินและบันทึกต่อท้ายสัญญากู้ยืมเงิน ประกอบกับตามบทบัญญัติดังกล่าวรับรองให้โจทก์มีสิทธิที่จะคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราเดิมที่ระบุไว้ในสัญญากู้ยืมเงิน โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 7,152,289.11 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของต้นเงิน 3,214,147.56 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 9552, 26434, 26435 และ 31903 ตำบลเชียงรากน้อย อำเภอบางปะอิน (พระราชวัง) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ถ้าได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 7,152,289.11 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 3,214,147.56 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 14 ตุลาคม 2547) จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระ ให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 9552, 26434, 26435 และ 31903 ตำบลเชียงรากน้อย อำเภอบางปะอิน (พระราชวัง) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมสิ่งปลูกสร้างขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ถ้าได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2536 จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์คาเธ่ย์ไฟน์แนนซ์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 4,000,000 บาท ตกลงดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี โดยนำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาจดทะเบียนจำนองเป็นประกัน และมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญากู้เงิน หนังสือสัญญาจำนองที่ดินและสัญญาค้ำประกันหนี้สิน ต่อมาวันที่ 5 สิงหาคม 2540 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ดังกล่าวระงับการดำเนินกิจการ และโจทก์ซื้อสินเชื่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นั้นรวมทั้งสินเชื่อของจำเลยทั้งสองด้วย ครั้นวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าวและตกลงทำบันทึกต่อท้ายสัญญากู้เงิน แต่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์เพียงบางส่วน โจทก์มีหนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว จำเลยทั้งสองเพิกเฉยไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ปัญหาเรื่องโจทก์บรรยายฟ้องว่า “…โดยโจทก์เป็นผู้ซื้อสินเชื่อที่อยู่อาศัยจากการประมูลขายได้ทั้งหมด…” นั้น ที่จำเลยทั้งสองฎีกาต้องหมายความว่า โจทก์ต้องเป็นผู้ซื้อโดยเป็นผู้ประมูลได้เองโดยตรงในทำนองเดียวกันกับประมูลซื้อทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดทั่วไป ดังนี้ เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การต่อสู้ถึงความหมาย “จากการประมูลขายได้ทั้งหมด” ไว้ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยในปัญหาว่าโจทก์ไม่ได้นำสืบนอกคำฟ้อง ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย และขณะโจทก์เข้าทำสัญญาซื้อสินเชื่อตามฟ้องกับองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) โจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคลแล้วตามสำเนาหนังสือรับรองและสำเนาสัญญาซื้อขาย ซึ่งบริษัทเลแมน บราเดอร์ส โฮลดิ้งส์ จำกัด ผู้ชนะการประมูลสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้โอนสิทธิที่จะทำสัญญาขายมาตรฐานให้โจทก์ โดยบริษัทดังกล่าวได้ทำสัญญาค้ำประกันที่ไม่อาจเพิกถอนได้ ตามประกาศ ปรส. ข้อ 4.1.5 (2) และสัญญาค้ำประกัน เมื่อโจทก์ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของการประมูลแล้ว โจทก์จึงได้รับโอนสิทธิมาโดยชอบด้วยกฎหมายและผูกพันจำเลยทั้งสอง พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อที่ 2 ว่า โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตในการฟ้องคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า “โจทก์เป็นผู้ซื้อสินเชื่อที่อยู่อาศัยจากการประมูลขายได้ทั้งหมด” เป็นการบรรยายซึ่งสภาพแห่งข้อหา ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า โจทก์มีสิทธิในการฟ้องคดีนี้อย่างไร ส่วนผู้ใดเป็นผู้ประมูลได้และโจทก์เข้ามาซื้อรับโอนสิทธินั้นถือเป็นรายละเอียดที่นำสืบได้ในชั้นพิจารณา โดยโจทก์ได้นำสืบในรายละเอียดดังกล่าวแล้ว และแม้ตามประกาศ ปรส. ดังกล่าวห้ามมิให้บุคคลที่ถือหุ้นในบุคคลที่เกี่ยวข้องกับ ปรส. ตั้งแต่ร้อยละ 10 ขึ้นไป เป็นผู้ประมูลหรือผู้ซื้อ แต่สำเนาคำพิพากษาและสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 และคำพิพากษาดังกล่าวไม่ผูกพันคู่ความในคดีนี้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงให้ฟังได้ว่า บริษัทเลแมน บราเดอร์ส โฮลดิ้งส์ จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 10 ขึ้นไปของบริษัทเลแมน บราเดอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด หรือไม่ จึงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตในการฟ้องคดีนี้ ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อที่ 3 ว่า โจทก์ซื้อสินเชื่อของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ คาเธ่ย์ไฟน์แนนซ์ จำกัด (มหาชน) มาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีเพียงว่า ในวันที่โจทก์เสนอราคาซื้อในการประมูลขายสินเชื่อตามฟ้องนั้น โจทก์ยังไม่เป็นนิติบุคคล โจทก์จึงไม่เป็นผู้ซื้อและไม่มีอำนาจฟ้องเท่านั้น จำเลยทั้งสองมิได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ แม้ฝ่ายจำเลยทั้งสองได้ถามค้านพยานโจทก์เกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวไว้ก็ไม่ทำให้เกิดเป็นประเด็นโดยชอบในศาลชั้นต้น ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ซื้อสินเชื่อของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์คาเธ่ย์ไฟน์แนนซ์ จำกัด (มหาชน) มาโดยชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อสุดท้ายว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ได้หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2541 มาตรา 30 ตรี บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีการโอนทรัพย์สินที่ได้ขายตามวิธีการที่กำหนดไว้ในมาตรา 30 ทวิ แล้ว… (3) ผู้ซื้อทรัพย์สินมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยตามวิธีการและตามอัตราในสัญญาเดิม” เมื่อจำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์คาเธ่ย์ไฟน์แนนซ์ จำกัด (มหาชน) ตกลงอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปี ส่วนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 21 ต่อปี และโจทก์ได้รับโอนสิทธิทั้งหมดตามสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาจำนอง ต่อมาวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงยอมปรับโครงสร้างหนี้ รวมทั้งจำเลยที่ 1 ยอมรับดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราสูงสุดตามเงื่อนไขที่ได้กำหนดไว้ในสัญญากู้ยืมเงิน ตามสัญญากู้เงินและบันทึกต่อท้ายสัญญากู้ยืมเงิน ประกอบกับตามบทบัญญัติดังกล่าวรับรองให้โจทก์มีสิทธิที่จะคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราเดิมที่ระบุไว้ในสัญญากู้ยืมเงิน โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความในชั้นฎีกา 8,000 บาท แทนโจทก์

Share