คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5560/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อนายจ้างออกคำเตือนเป็นหนังสือแก่ลูกจ้างแล้วประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน มิได้กำหนดวิธีการแจ้งคำเตือนให้ลูกจ้างทราบ การให้ลูกจ้างลงชื่อทราบคำเตือนมิใช่วิธีการอย่างเดียวสำหรับการแจ้งคำเตือน นายจ้างอาจใช้วิธีการอย่างอื่นแทนได้ เช่น การแจ้งด้วยวาจาหรือปิดประกาศให้ทราบ ดังนั้นการที่ลูกจ้างไม่ยอมลงชื่อรับทราบคำเตือนเป็นหนังสือตามที่นายจ้างสั่ง จึงไม่เป็นความผิดฐานขัดคำสั่งนายจ้าง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย เมื่อวันที่13 สิงหาคม 2530 จำเลยให้โจทก์ลงชื่อรับทราบคำเตือน โดยกล่าวหาว่าโจทก์ทะเลาะกับพนักงานด้วยกันซึ่งไม่เป็นความจริง โจทก์จึงไม่ยอมลงชื่อรับทราบคำเตือน ต่อมาจำเลยมีคำสั่งตัดเงินเดือนโจทก์ 965 บาทโดยอ้างเหตุว่า โจทก์ไม่ยอมลงชื่อรับทราบคำเตือนอันเป็นการไม่ชอบขอให้บังคับจำเลยคืนเงินดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ทะเลาะวิวาทกับนางดวงตาและยังละทิ้งหน้าที่ประจำจำเลยจึงออกคำตักเตือนเป็นหนังสือแก่โจทก์และนางดวงตาและเรียกให้มาลงชื่อรับทราบคำตักเตือนนั้น แต่โจทก์ไม่ยอมลงชื่อเป็นการขัดคำสั่งของนายจ้างที่กระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย คำสั่งตัดเงินเดือนของโจทก์ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงิน 965 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ตามอุทธรณ์ ข้อ 1 เห็นว่า กรณีนี้เป็นเรื่องที่จำเลยออกคำตักเตือนเป็นหนังสือ ผลแห่งคำตักเตือนนั้นหากโจทก์ทำผิดซ้ำคำตักเตือนเป็นกรณีเดียวกันอีก โจทก์อาจถูกลงโทษถึงขั้นเลิกจ้างได้ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยถึงวิธีการแจ้งคำตักเตือนเป็นหนังสือโดยอ้างอิงประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 (3) ว่า ควรเป็นวิธีการอย่างใด วีธีการเช่นว่านั้นเป็นการเพียงพอที่จะถือว่าลูกจ้างทราบคำเตือนเป็นหนังสือแล้วหรือไม่ จึงเป็นการวินิจฉัยที่ชอบแล้ว เมื่อถือว่าโจทก์ทราบคำตักเตือนแล้ว ผลเป็นประการใด จำเลยจะลงโทษการที่โจทก์ยอมลงชื่อรับทราบคำเตือนได้หรือไม่ เป็นอีกกรณีหนึ่ง ซึ่งจะได้ว่ากล่าวกันต่อไปในประเด็นข้ออื่น ๆ
ตามประเด็นข้อ 4 เห็นว่า เมื่อนายจ้างออกคำตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว การแจ้งคำตักเตือนให้ลูกจ้างทราบ ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน มิได้กำหนดวิธีการไว้ประการใด การที่นายจ้างให้ลูกจ้างลงชื่อรับทราบคำตักเตือนเป็นหนังสือมิใช่วิธีการอย่างเดียวสำหรับการแจ้งคำตักเตือนเป็นหนังสือ ถ้าลูกจ้างไม่ยอมลงชื่อรับทราบคำตักเตือน นายจ้างอาจใช้วิธีการอย่างอื่นได้เป็นต้นว่าแจ้งด้วยวาจาหรือปิดประกาศคำตักเตือนให้ลูกจ้างทราบหากนายจ้างใช้วิธีการเช่นว่านั้นแล้วก็เป็นการเพียงพอที่จะถือว่าลูกจ้างทราบคำตักเตือนแล้ว เพราะฉะนั้น การที่โจทก์ไม่ยอมลงชื่อรับทราบคำเตือนเป็นหนังสือจึงไม่เป็นความผิดฐานขัดคำสั่งนายจ้างตามที่จำเลยอุทธรณ์ จำเลยหาอาจจะลงโทษโจทก์ได้ไม่…”
พิพากษายืน.

Share