คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5558/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลฎีกาพิพากษาให้ลงโทษปรับจำเลยและจำเลยถูกคุมขังอยู่ตั้งแต่ก่อนวันที่ศาลมีคำพิพากษา การเริ่มนับวันกักขังตามหมายกักขังคดีถึงที่สุดดังกล่าวจึงต้องนับย้อนให้ถึงวันที่ศาลชั้นต้นออกหมายกักขังระหว่างอุทธรณ์ฎีกา

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 4, 13, 24, 27, 43, 44, 47, และ 49 พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 27, 31, 70, 75, 76, และ 78 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และ 91 ริบของกลาง โดยให้หนังสือนิตยสาร “ว. 5 ว.5 ” ของกลางจำนวน 2 เล่ม ตกเป็นของผู้เสียหายและจ่ายค่าปรับกึ่งหนึ่งแก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานายบรรเจิด ตันติกัลยาภรณ์ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 และ 70 วรรคสอง เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้ปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 50,000 บาท รวม 2 กระทง เป็นปรับ 100,000 บาท ให้จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทงละ 3 เดือน และปรับกระทงละ 50,000 บาท รวม 2 กระทง เป็นจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 6 เดือน และปรับคนละ 100,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 ริบของกลางทั้งหมดโดยหนังสือนิตยสาร “ว. 5 ว. 5” ของกลางจำนวน 2 เล่ม ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์และจ่ายค่าปรับกึ่งหนึ่งแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ด้วยข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 24 (1), 27 (1), 43 วรรคสอง, 44 วรรคสอง, 46 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานทำซ้ำซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่น ให้ปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 50,000 บาท รวมสองกระทงเป็นปรับ 100,000 บาท ให้จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทงละ 3 เดือน และปรับกระทงละ 50,000 บาท รวมสองกระทงเป็น 100,000 บาท ความผิดฐานจำหน่ายงานอันละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น ให้ปรับจำเลยทั้งสามแต่ละคนกระทงละ 50,000 บาท อีกสองกระทงเป็นปรับคนละ 100,000 บาท รวมลงโทษจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 200,000 บาท ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 6 เดือน และปรับคนละ 200,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29 และ 30 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
จำเลยที่ 3 ไม่ชำระค่าปรับ ศาลชั้นต้นออกหมายกักขังเมื่อคดีถึงที่สุดให้กักขังจำเลยที่ 3 มีกำหนด 2 ปี แทนค่าปรับจำนวน 200,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2543 เป็นต้นไป
โจทก์ร่วมยื่นคำร้องคัดค้านว่า การที่ศาลชั้นต้นมีหมายกักขังเมื่อคดีถึงที่สุดโดยให้กักขังจำเลยที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2543 ไม่ถูกต้อง ขอให้แก้ไขการนับวันกักขังโดยเริ่มนับเมื่อจำเลยที่ 3 ครบกำหนดโทษจำคุกในคดีอื่น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า แม้จำเลยที่ 3 จะถูกจำคุกในคดีอื่นอยู่ด้วย หากคดีนี้ศาลไม่ประสงค์ให้หักวันต้องคุมขังให้อีก ก็ต้องระบุไว้ให้ชัดแจ้งในคำพิพากษา เมื่อคำพิพากษาไม่ระบุไว้ก็ต้องหักวันต้องคุมขังให้แก่จำเลยที่ 3 ดังนั้น การที่ศาลออกหมายกักขังจำเลยที่ 3 เมื่อคดีถึงที่สุดแทนค่าปรับเป็นเวลา 2 ปี โดยนับย้อนให้ถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2543 ถึงต้องต้องแล้ว
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมมีว่า ศาลชั้นต้นออกหมายกักขังเมื่อคดีถึงที่สุดสำหรับจำเลยที่ 3 ถูกต้องแล้วหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 30 วรรคสาม บัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้ต้องโทษปรับถูกคุมขังก่อนพิพากษา ให้หักจำนวนวันที่ถูกคุมขังนั้นออกจากจำนวนเงินค่าปรับ…” ดังนั้น เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 ถูกคุมขังอยู่ตั้งแต่ก่อนวันศาลมีคำพิพากษา การเริ่มนับวันกักขังตามกฎหมายคดีถึงที่สุดดังกล่าวจึงต้องนับย้อนให้วันที่ 22 พฤษภาคม 2543 ซึ่งเป็นวันที่ศาลชั้นต้นออกหมายกักขังระหว่างอุทธรณ์ฎีกาจำเลยที่ 3 ไว้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share