แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในการยื่นคำให้การกฎหมายบัญญัติไว้แต่เพียงว่าให้จำเลยแสดงโดยแจ้งชัดในคำให้การว่าจำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสอง สำหรับเหตุแห่งการปฏิเสธนั้นกฎหมายมิได้บังคับว่าหากจำเลยหลายคนถูกฟ้องให้รับผิดร่วมกันแล้วจำเลยทุกคนจะต้องอ้างเหตุเหมือนกันหรือสอดคล้องต้องกันดังนั้นจำเลยแต่ละคนจึงมีสิทธิที่จะให้การต่อสู้คดีอย่างไรก็ได้ ไม่ต้องคำนึงว่าคำให้การของตนจะขัดแย้งกับคำให้การของจำเลยอื่นหรือไม่ กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าคำให้การของจำเลยที่ 4 ขัดแย้งกับคำให้การของจำเลยที่ 5 หรือไม่ จำเลยที่ 3 ปฏิบัติฝ่าฝืนระเบียบกรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือที่ 2 กล่าวคือ ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่เป็นนายทหารเวรเวลาเกิดเหตุได้เปิดประตูเข้าไปในห้องปฏิบัติงานโดยไม่มีเหตุอันควรและไม่มีเหตุจำเป็นถึง 2 ครั้ง โดยไม่ปรากฏว่ามีหัวหน้าเวร 1 คน และเสมียนเวร 1 คน ร่วมเป็นพยานรู้เห็นด้วย ทั้งไม่ได้ลงปูมไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งนอกจากจะปฏิบัติหน้าที่ผิดระเบียบวินัย ยังประมาทเลินเล่ออีกด้วยเมื่อคนร้ายเข้าไปทางประตูที่จำเลยที่ 3 เปิดทิ้งไว้และลักเอาเบ้าแพลทินัมจำนวน 4 เบ้าของโจทก์ไป จำเลยที่ 3จึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ เฉพาะจำเลยที่ 2 เท่านั้นที่ให้การต่อสู้คดีว่าฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายเคลือบคลุม จำเลยที่ 3 มิได้หยิบยกปัญหานี้ขึ้นต่อสู้เป็นประเด็นในคำให้การด้วย จำเลยที่ 3จึงไม่มีสิทธิยกปัญหานี้ขึ้นอ้างในชั้นฎีกาเพราะนอกเหนือคำให้การของตน และถือว่าจำเลยที่ 3 มิได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ อายุความเป็นระยะเวลาอย่างหนึ่ง การนับอายุความเป็นปีจึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 158 เดิมประกอบด้วยมาตรา 159 วรรคสอง เดิม กล่าวคือ มิให้นับวันที่23 ธันวาคม 2529 ซึ่งเป็นวันแรกรวมคำนวณเข้าด้วยเพราะมิได้มีการเริ่มอะไรในวันนั้น ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2529 เป็นต้นไป โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 23 ธันวาคม 2530 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่จะครบ 1 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งห้าเป็นข้าราชการในสังกัดของโจทก์ได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยประมาทเลินเล่อไม่ใช้ความระมัดระวังให้สมควรแก่วิสัยและพฤติการณ์ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ จำเลยทั้งห้าจึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเบ้าแพลทินัมให้แก่โจทก์ตามราคาที่กระทรวงการคลังกำหนดคือเบ้าที่ 1 และที่ 2 ราคาเบ้าละ 55,000 บาท เบ้าที่ 3 และที่ 4ราคาเบ้าละ 82,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 274,000 บาทโจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งเลยร่วมกันรับผิดใช้เงินจำนวนดังกล่าวเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2529 แต่จำเลยทั้งห้าปฏิเสธความรับผิดขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินจำนวน 274,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับจากวันที่ 24 ธันวาคม 2529 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องครบถ้วนตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ ตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายกับได้สั่งการและวางมาตราการในการควบคุมดูแลรักษาทรัพย์สินของกองวิเคราะห์และทดสอบ กรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือเพื่อป้องกันทรัพย์สินของโจทก์โดยเคร่งครัดและรอบคอบตลอดมาอีกทั้งยังได้เรียกประชุมเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานเพื่อให้ทราบถึงการปฏิบัติงานและรักษาทรัพย์สินให้รัดกุมโดยได้ประชุมและวางระเบียบในการเก็บรักษาทรัพย์สินไว้เป็นลายลักษณ์อักษรการที่เบ้าแพลทินัมทั้ง 4 เบ้าสูญหายไปนั้นจึงมิใช่เป็นความบกพร่องต่อหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดและฟ้องโจทก์ขาดอายุความ หากฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดก็ไม่ต้องรับผิดเต็มตามฟ้อง เนื่องจากโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายสูงกว่าความเป็นจริงมาก เพราะโจทก์ซื้อเบ้าแพลทินัมมาเมื่อ พ.ศ. 2514 และ พ.ศ. 2518 รวมราคาทั้งสิ้นเพียง 47,798 บาท ทั้งได้ใช้งานมานานนับ 10 ปีแล้ว ย่อมเสื่อมราคาลงขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์มิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เบ้าแพลทินัม 4 เบ้าที่หายไปเพราะเงินที่นำมาซื้อท่อเบ้าแพลทินัมดังกล่าวเป็นเงินงบประมาณแผ่นดินซึ่งกระทรวงกลาโหมได้เบิกจากกระทรวงการคลัง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์ได้ทราบถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเวลานานเกินกว่า 1 ปี ก่อนฟ้องคดีนี้ เบ้าแพลทินัมได้สูญหายไปในระหว่างนอกเวลาราชการซึ่งมิได้เป็นช่วงเวลาที่อยู่ในความรับผิดของเวรรักษาความปลอดภัยซึ่งกรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ (วศ.ทร.) ได้แต่งตั้งขึ้นให้ทำหน้าที่ดูแลและรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินในระหว่างนอกเวลาราชการ การที่เบ้าแพลทินัมสูญหายไปมิได้เกิดจากจำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยประมาทเลินเล่อ แต่เบ้าแพลทินัมดังกล่าวได้หายไปเนื่องจากมีผู้นำออกไปในระหว่างเวลานอกราชการซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัยที่จำเลยที่ 2 จะป้องกันได้ การเก็บรักษาเบ้าแพลทินัมไม่ว่าจะเก็บรักษาในห้องใดย่อมเป็นการเก็บรักษาที่มีระบบป้องกันเป็นอย่างดีแล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด และโจทก์เรียกค่าเสียหายสูงเกินความจริง เบ้าแพลทินัมทั้ง 4 เบ้า มีราคารวมกันเพียง 487,798 บาท ทั้งได้ใช้งานมานานแล้วย่อมต้องสึกหรอและเสื่อมสภาพลงเหลือราคาไม่เกิน 35,000 บาทขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า เบ้าแพลทินัมที่หายไปมิใช่ทรัพย์สินของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2529ซึ่งเป็นวันศุกร์เวลา 9 นาฬิกา จำเลยที่ 4 และที่ 5 ได้ร่วมกันนำเบ้าแพลทินัม 4 เบ้า ออกจากโถอบในห้องปฏิบัติการเพื่อใช้วิเคราะห์น้ำตามหน้าที่จนถึงเวลา 16 นาฬิกา จึงใช้เสร็จและใกล้จะหมดเวลาราชการจำเลยที่ 4 และที่ 5 มีหน้าที่ต้องนำเบ้าแพลทินัมไปเก็บไว้ในห้องปฏิบัติการเอเอ ตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 เพื่อป้องกันการสูญหาย แต่จำเลยที่ 4 และที่ 5หาได้ปฏิบัติตามระเบียบและคำสั่งของผู้บังคับบัญชาไม่กลับนำเบ้าแพลทินัมดังกล่าวตั้งไว้บนโต๊ะปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการ 2 ซึ่งเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงและในวันที่ 22 มีนาคม 2529 เวลาประมาณ 18 นาฬิกา จำเลยที่ 3ซึ่งทำหน้าที่เป็นนายทหารเวร วศ.ทร. ได้ไขกุญแจเข้าไปในห้องปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่ กวทส.วศ.ทร. เพื่อรับประทานอาหารและต่อมาเวลา 8.45 นาฬิกา ใกล้เวลาจะออกเวร จำเลยที่ 3ได้ไขกุญแจห้องปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่อีกครั้งเพื่อเปลี่ยนเสื้อผ้าจำเลยที่ 3 มีสิทธิเข้าไปในห้องดังกล่าวเพื่อรับประทานอาหารเปลี่ยนเสื้อผ้าและพักผ่อนเช่นเดียวกับนายทหารเวรคนอื่นที่มาเข้าเวร การที่จำเลยที่ 3 เข้าออกจากห้องดังกล่าวโดยไม่ได้บันทึกการเปิดห้องไว้ในสมุดปูม และมิได้ปิดชื่อจำเลยที่ 3คาดทับไว้ที่บานประตูเมื่อออกจากห้องดังกล่าว แม้จะเป็นการผิดระเบียบไปบ้างแต่ระเบียบดังกล่าวมิใช่กฎหมาย และการกระทำของจำเลยที่ 3 ก็มิใช่เป็นผลโดยตรงที่ทำให้เบ้าแพลทินัม 4 เบ้าสูญหายไป อีกทั้งมิใช่เป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3โจทก์ทราบว่าเบ้าแพลทินัมหายไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2529และได้ตั้งกรรมการสอบสวนหาผู้รับผิดทางแพ่ง ต่อมากรรมการสอบสวนได้ทำบันทึกเสนอผลการสอบสวนต่อโจทก์เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2529นอกจากนี้กรมสารบรรณทหารเรือได้เสนอโจทก์ให้ทราบถึงผลการสอบสวนหาผู้รับผิดทางแพ่งกรณีเบ้าแพลทินัมสูญหายเมื่อวันที่17 ธันวาคม 2529 โดยพิจารณาแล้วเห็นสมควรสั่งให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายและโจทก์มีคำสั่งเห็นควรอนุมัติให้ดำเนินการได้เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2529 แสดงว่าโจทก์ทราบเรื่องละเมิดและรู้ตัวว่าจำเลยที่ 3 จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อโจทก์ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2529 หรืออย่างช้าที่สุดก็ในวันที่22 ธันวาคม 2529 แต่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 วันที่ 23 ธันวาคม 2530ซึ่งเกิน 1 ปีแล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การว่า เบ้าแพลทินัมหายไปมิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 4 โดยปกติเบ้าแพลทินัมเมื่อเสร็จงานแล้วจะเก็บรักษาไว้ในห้องปฏิบัติการ 2 มิได้นำไปเก็บในห้องปฏิบัติการเอเอ และมีได้มีการประกาศคำสั่งหรือระเบียบวิธีปฏิบัติว่าเมื่อเสร็จงานแล้วหรือหลังจากหมดเวลาราชการจะต้องนำเบ้าแพลทินัมไปเก็บรักษาไว้ในห้องปฏิบัติการเอเอเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2529 จำเลยที่ 4 ได้นำเบ้าแพลทินัมไปใช้ในการปฏิบัติงานวิเคราะห์น้ำให้แก่โจทก์กับจำเลยที่ 5หลังจากใช้งานแล้วก็นำไปเก็บไว้ในห้องปฏิบัติการ 2 เช่นที่เคยปฏิบัติมา ก่อนที่จะกลับบ้านจำเลยที่ 4 ตรวจดูแล้วเห็นว่าจำเลยที่ 5 ได้ปิดประตูหน้าต่างห้องปฏิบัติการ 2 เป็นที่เรียบร้อยและใช้สายยูคล้องบานพับประตูแล้วล็อกด้วยแม่กุญแจพร้อมปิดกระดาษที่เขียนชื่อของจำเลยที่ 5 คาดทับระหว่างบานประตูไว้ถือว่าจำเลยที่ 4 ได้ใช้ความระมัดระวังอย่างเพียงพอแล้วจึงไม่ต้องรับผิด โจทก์คิดราคาทรัพย์สินที่สูญหายตามสภาพของใหม่ที่ซื้อในปัจจุบันเป็นการไม่ถูกต้องเพราะราคาที่ซื้อมาถูกกว่าและทรัพย์ดังกล่าวใช้มานานหลายปีแล้วย่อมเสื่อมสภาพไปเพราะการใช้ โจทก์ฟ้องคดีเกิน 1 ปี ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ให้การว่า จำเลยที่ 5 เป็นลูกน้องของจำเลยที่ 4และไม่มีส่วนประมาทเลินเล่อด้วย เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2529เวลาประมาณ 9 นาฬิกา จำเลยที่ 5 ใช้เบ้าแพลทินัมวิเคราะห์น้ำและทำงานจนหมดเวลาราชการแต่งานยังไม่เสร็จเพราะมีสารเคมีที่มีความร้อนสูงต้องรอให้เย็นก่อนจึงจะทำการตรวจสอบและวิเคราะห์หากเททิ้งก็จะเสียหายและเบ้าแพลทินัมก็ยังร้อน ทั้งผู้บังคับบัญชาก็ไม่มีข้อบังคับในเรื่องการเก็บรักษาเบ้าแพลทินัม จำเลยที่ 5ได้ใช้ความระมัดระวังในการเก็บรักษาเบ้าแพลทินัมแล้วโดยก่อนกลับบ้านได้ใช้สายยูคล้องบานประตูแล้วล็อกด้วยแม่กุญแจกับปิดกระดาษที่เขียนชื่อตนเองคาดทับระหว่างบานประตูไว้ทุกครั้งเบ้าแพลทินัมที่สูญหายเป็นของเก่าใช้มาหลายปีจนเสื่อมสภาพไปแล้ว โจทก์คิดราคาในสภาพของใหม่ที่ซื้อมาจึงไม่ถูกต้องฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เพราะโจทก์รู้ถึงการกระทำผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิดตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2529 แต่นำคดีมาฟ้องเกินกำหนด 1 ปี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า คำให้การของจำเลยที่ 4และที่ 5 ขัดแย้งกันนั้น เห็นว่า ในการยื่นคำให้การกฎหมายบัญญัติไว้แต่เพียงว่าจำเลยแสดงโดยแจ้งชัดในคำให้การว่าจำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วนรวมทั้งเหตุแห่งการนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสอง สำหรับเหตุแห่งการปฏิเสธนั้นกฎหมายมิได้บังคับว่าหากจำเลยหลายคนถูกฟ้องให้รับผิดร่วมกันแล้วจำเลยทุกคนจะต้องอ้างเหตุเหมือนกันหรือสอดคล้องต้องกันดังนั้นจำเลยแต่ละคนจึงมีสิทธิที่จะให้การต่อสู้คดีอย่างไรก็ได้ไม่ต้องคำนึงว่าคำให้การของตนจะขัดแย้งกับคำให้การของจำเลยอื่นหรือไม่ กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่า คำให้การของจำเลยที่ 4ขัดแย้งกับคำให้การของจำเลยที่ 5 หรือไม่
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยทั้งห้ากระทำโดยความประมาทเลินเล่อหรือไม่ เห็นว่า พยานโจทก์ไม่ได้เบิกความถึงระเบียบปฏิบัติของกรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือว่าหลังจากใช้เบ้าแพลทินัมจนหมดเวลาราชการแล้วจะต้องเก็บเบ้าแพลทินัมไว้ในห้องปฏิบัติการเอเอ ตรงกันข้ามกลับได้ความทำนองว่าให้เก็บเบ้าแพลทินัมในห้องปฏิบัติการ 2 ได้แต่ต้องใช้สายยูคล้องบานประตูแล้วล็อกด้วยแม่กุญแจ และต้องปิดกระดาษที่มีลายมือชื่อนายทหารเวรไว้ปิดคาดทับระหว่างประตูซึ่งก็เจือสมกับทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ที่ว่าโจทก์ไม่มีระเบียบเกี่ยวกับการเก็บรักษาเบ้าแพลทินัมแต่จำเลยที่ 1 ได้วางระเบียบไว้ว่าเบ้าแพลทินัมถ้าหากมีผู้ที่จะนำไปใช้จะต้องมาเบิกจากจำเลยที่ 1 และเมื่อเสร็จจากการใช้แล้วโดยที่ไม่ต้องใช้ต่อเนื่องอีก ให้นำมาส่งคืนจำเลยที่ 1ตามปกติเบ้าแพลทินัมจะเก็บไว้ในห้องปฏิบัติการ 2 ซึ่งข้อเท็จจริงก็ได้ความว่า จำเลยที่ 4 และที่ 5 ยังปฏิบัติงานไม่เสร็จ การที่จำเลยที่ 4 และที่ 5 นำเบ้าแพลทินัมไปเก็บไว้ในห้องปฏิบัติการ 2จึงเป็นไปตามระเบียบและมาตรการที่จะรักษาความปลอดภัยเบ้าแพลทินัมแล้ว และเมื่อดูแผนผังอาคาร กวทส.วศ.ทร.ตามเอกสารหมาย จ.13 จะเห็นได้ว่า ห้องปฎิบัติการ 1, 2ห้องปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และห้องปฏิบัติการเอเอจะอยู่ในห้องใหญ่ห้องเดียวกัน เมื่อเปิดประตูเข้าไปในห้องหนึ่งห้องใดก็สามารถเดินทะลุถึงกันได้ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 5เก็บเบ้าแพลทินัมไว้ในห้องปฏิบัติการ 2 และปิดประตูไว้ถูกต้องตามระเบียบ ถือได้ว่าได้ใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างดีแล้วเบ้าแพลทินัมหายไปไม่ใช่เพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5จึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
สำหรับจำเลยที่ 3 นั้นได้ความว่าได้ปฏิบัติฝ่าฝืนระเบียบกรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือที่ 2 ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2506ว่าด้วยการอยู่เวรประจำกรมนอกเวลาราชการ ข้อ 7.4 ตามเอกสารหมาย จ.14 กล่าวคือในระหว่างปฏิบัติหน้าที่เป็นนายทหารเวรวันเวลาเกิดเหตุ ได้เปิดประตูเข้าไปในห้องปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในอาคาร กวทส.วศ.ทร. โดยไม่มีเหตุอันควรและไม่มีเหตุจำเป็นโดยเข้าไปในห้องดังกล่าวถึง 2 ครั้ง และไม่ปรากฏว่ามีหัวหน้าเวร 1 คน และเสมียนเวร 1 คน ร่วมเป็นพยานรู้เห็นด้วย และไม่ได้ลงปูมไว้เป็นหลักฐาน ที่จำเลยที่ 3อ้างว่าได้ใส่กุญแจประตูหลังจากลับออกมาจากห้อง ก็เป็นคำกล่าวอ้างของจำเลยที่ 3 เพียงปากเดียว ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 กับพวกได้ตรวจดูบริเวณห้องปฏิบัติการ 2 แล้วไม่ปรากฏร่องรอยว่าคนร้ายได้งัดประตูหน้าต่างเข้าไป น่าเชื่อว่าคนร้ายเข้าไปทางประตูที่จำเลยที่ 3 เปิดไว้ จำเลยที่ 3นอกจากจะปฏิบัติหน้าที่ผิดระเบียบวินัยแล้ว ยังประมาทเลินเล่ออีกด้วยจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชอบใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์สำหรับเรื่องค่าเสียหายนั้นศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยให้เสร็จไป กระทรวงการคลังได้คำนวณค่าเบ้าแพลทินัมแล้วเป็นราคาในขณะสูญหาย 274,000 บาทปรากฏตามเอกสารหมาย จ.12 ซึ่งตามมติคณะรัฐมนตรีตามเอกสารหมาย จ.11 จะต้องคิดค่าเสียหายตามราคาในท้องตลาดขณะสูญหาย ดังนั้นจำเลยที่ 3 จึงต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 274,000 บาท
และที่จำเลยที่ 3 แก้ฎีกาว่า ผู้บัญชาการทหารเรือทราบรายงานผลการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดทางแพ่งเมื่อวันที่23 ธันวาคม 2529 อายุความจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันดังกล่าวมิใช่นับในวันรุ่งขึ้นและครบกำหนด 1 ปี ในวันที่ 22 ธันวาคม 2530โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 23 ธันวาคม 2530 คดีโจทก์จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า อายุความเป็นระยะเวลาอย่างหนึ่ง การนับอายุความเป็นปีจึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 158 เดิม(มาตรา 193/3 วรรคสอง) ประกอบด้วยมาตรา 159 วรรคสอง เดิม(มาตรา 193/5 วรรคสอง) กล่าวคือ มิให้นับวันที่ 23 ธันวาคม 2529ซึ่งเป็นวันแรกรวมคำนวณเข้าด้วยเพราะมิได้มีการเริ่มอะไรในวันนั้น ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2529 เป็นต้นไป โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 23 ธันวาคม 2530 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่จะครบ 1 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินจำนวน274,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากวันที่ 24 ธันวาคม 2529 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์