แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คันคลองห้วยถ่านรวมทั้งทางพิพาทกว้างประมาณ 4 เมตรยาวตลอดแนวลำคลองดังกล่าว เป็นคันคลองที่เจ้าของที่ดินตามแนวคันคลองแห่งนั้นได้อุทิศที่ดินดังกล่าวให้เป็นทางสาธารณะสำหรับจำเลยที่ 1 แม้จะไม่ได้ทำหนังสืออุทิศที่ดินให้เป็นทางสาธารณะโดยตรงดังเช่นเจ้าของที่ดินรายอื่น ๆ แต่การที่จำเลยที่ 1 อนุญาตให้ทางราชการนำดินที่ได้จากการขุดคลองห้วยถ่านมาไว้ในที่ดินของจำเลยที่ 1 และไม่คัดค้านการที่จำเลยที่ 2 ผู้เช่าที่ดินของจำเลยที่ 1 ที่ได้ทำหนังสืออุทิศที่ดินของจำเลยที่ 1 ให้แก่ทางราชการเพื่อใช้ทำสาธารณประโยชน์ขุดลอกคลอง รวมตลอดถึงการที่จำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์ทั้งสามและประชาชนทั่วไปใช้ทางพิพาทอันเป็นส่วนหนึ่งของคันคลองห้วยถ่านตลอดมาจนกระทั่งมีการปิดกั้น พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 อุทิศที่ดินของตนส่วนที่เป็นคันคลองห้วยถ่านและทางพิพาทให้เป็นทางสาธารณประโยชน์โดยปริยาย การอุทิศที่ดินให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นหาจำต้องกระทำด้วยการอุทิศให้โดยชัดแจ้งแต่เพียงประการเดียวไม่
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามครอบครองทำประโยชน์พักอาศัยอยู่ในที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1)เลขที่ 27 หมู่ที่ 14 ตำบลบ้านพร้าว อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายกที่ดินแปลงนี้เป็นของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 อาณาเขตของที่ดินด้านทิศใต้จดคลองห้วยถ่านทิศตะวันตกจดที่ดินของจำเลยที่ 1ซึ่งอาณาเขตด้านทิศตะวันตกและทิศใต้จดคลองห้วยถ่าน จำเลยที 1ได้ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เช่าทำนาอยู่ ประมาณต้นปี 2533ก่อนกรมชลประทานจะทำการขุดลอกคลองห้วยถ่านจำเลยทั้งสามและโจทก์ที่ 2 รวมทั้งราษฎรที่มีที่ดินอยู่ติดกับคลองห้วยถ่านทั้งสองฝั่งยกที่ดินของตนส่วนที่ติดกับคลองให้เป็นทางสาธารณะขนาดเท่าที่กรมชลประทานเห็นสมควร กรมชลประทานจึงใช้ดินที่ขุดลอกถมขยายคันคลองเดิมทำเป็นทางสาธารณะทั้งสองฝั่งขนาดกว้างประมาณ 4 เมตร โจทก์ทั้งสามและประชาชนทั่วไปใช้ทางดังกล่าวสัญจรเข้าออกสู่ถนนสาธารณะเรื่อยมา จนกระทั่งเดือนพฤษภาคม 2534จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกันปลูกต้นไม้บนคันคลองปิดกั้นทางสาธารณะ และเดือนธันวาคมปีเดียวกันจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันกั้นรั้วลวดหนามบนทางสาธารณะดังกล่าว ทำให้โจทก์ทั้งสามและประชาชนได้รับความเสียหายไม่สามารถใช้สัญจรได้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามรื้อถอนต้นไม้ รั้ว และสิ่งปิดกั้นที่ทำไว้ทั้งหมดออกไปและปรับแต่งหน้าดินบนทางดังกล่าวให้มีสภาพเดิม เปิดเป็นทางสาธารณะมีความกว้าง 4 เมตร ยาวจากที่ดินของโจทก์ที่ 2 จนสามารถออกสู่ถนนสาธารณะได้
จำเลยทั้งสามให้การว่า ทางพิพาทไม่ใช่ทางสาธารณะ แต่เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินของจำเลยที่ 1 ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) เลขที่ 10 หมู่ที่ 14 ตำบลบ้านนา จังหวัดนครนายกจำเลยที่ 1 ไม่เคยอุทิศที่ดินส่วนที่เป็นทางพิพาทให้เป็นทางสาธารณะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเช่าที่ดินของจำเลยที่ 1 ทำนาจึงมีสิทธิกระทำการใด ๆ บนทางพิพาทได้โดยไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติฟังได้ตามที่คู่ความรับและไม่โต้เถียงกันว่า โจทก์ทั้งสามครอบครองทำประโยชน์และปลูกบ้านพักอาศัยอยู่ในที่ดินตาม ส.ค.1 เลขที่ 27 หมู่ที่ 14ตำบลบ้านพร้าว อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ซึ่งเป็นของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 อาณาเขตของที่ดินด้านทิศใต้จดคลองห้วยถ่านด้านทิศตะวันตกจดคลองห้วยถ่านและที่ดินของจำเลยที่ 1 ตามน.ส.3 เลขที่ 10 หมู่เดียวกัน ที่ดินของจำเลยที่ 1 มีอาณาเขตด้านทิศใต้และทิศตะวันตกจดคลองห้วยถ่านจำเลยที่ 2 และที่ 3เช่าที่ดินของจำเลยที่ 1 ทำนาและปลูกบ้านพักอาศัยทางพิพาทเป็นคันคลองห้วยถ่านที่อยู่ในเขตที่ดินของจำเลยที่ 1 มีความกว้างประมาณ 4 เมตร โจทก์ทั้งสามใช้คันคลองดังกล่าวเป็นทางสัญจรเข้าออกสู่ทางสาธารณะตลอดมา จนกระทั่งเดือนธันวาคม 2534จำเลยทั้งสามปิดกั้นทางพิพาท ทำให้โจทก์ทั้งสามไม่สามารถใช้สัญจรไปมาได้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามว่าเดิมคันคลองห้วยถ่านเป็นคันคลองหรือถนนสาธารณะหรือไม่และเจ้าของที่ดินตามแนวคันคลองห้วยถ่านได้อุทิศที่ดินดังกล่าวให้เป็นทางสาธารณะหรือไม่นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานโจทก์ทั้งสามมีน้ำหนักน่าเชื่อถือยิ่งกว่าพยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์ทั้งสามนำสืบ ฉะนั้นคันคลองห้วยถ่าน รวมทั้งทางพิพาทกว้างประมาณ 4 เมตรยาวตลอดแนวลำคลองดังกล่าว ตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องเอกสารหมาย จ.14จึงเป็นคันคลองที่เจ้าของที่ดินตามแนวคันคลองแห่งนั้นได้อุทิศที่ดินดังกล่าวให้เป็นทางสาธารณะ สำหรับจำเลยที่ 1 แม้จะไม่ได้ทำหนังสืออุทิศที่ดินให้เป็นทางสาธารณะโดยตรงดังเช่นเจ้าของที่ดินรายอื่น ๆ แต่การที่จำเลยที่ 1 อนุญาตให้ทางราชการนำดินที่ได้จากการขุดลอกคลองห้วยถ่านมาไว้ในที่ดินของจำเลยที่ 1และไม่คัดค้านการที่จำเลยที่ 2 ทำหนังสืออุทิศที่ดินของจำเลยที่ 1ให้แก่ทางราชการเพื่อใช้ทำสาธารณประโยชน์ขุดลอกคลอง รวมตลอดถึงการที่จำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์ทั้งสามและประชาชนทั่วไปใช้ทางพิพาทอันเป็นส่วนหนึ่งของคันคลองห้วยถ่านตลอดมา จนกระทั่งมีการปิดกั้นในเดือนธันวาคม 2534 พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 อุทิศที่ดินของตนส่วนที่เป็นคันคลองห้วยถ่านและทางพิพาทให้เป็นทางสาธารณะโดยปริยายซึ่งการอุทิศที่ดินให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นหาจำต้องกระทำด้วยการอุทิศให้โดยชัดแจ้งแต่เพียงประการเดียวไม่เมื่อคดีฟังได้ว่าคันคลองห้วยถ่านรวมทั้งทางพิพาทเป็นทางสาธารณะการที่จำเลยทั้งสามเข้าไปปลูกต้นไม้และล้อมรั้วปิดกั้นทางดังกล่าวจนโจทก์ไม่สามารถใช้เข้าออกสู่ทางสาธารณะได้จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามมีอำนาจฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์ของตนได้
พิพากษากลับเป็นว่า ทางพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคันคลองดังกล่าว กว้างประมาณ 4 เมตร ตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องเอกสารหมาย จ.14 เป็นทางสาธารณะ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรื้อถอนต้นไม้ รั้ว และสิ่งปิดกั้นทั้งหมดออกไปจากทางพิพาทและปรับแต่งทางพิพาทให้มีสภาพเช่นเดิมจนโจทก์ทั้งสามสามารถใช้ทางพิพาทเข้าออกสู่ถนนสาธารณะได้