คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 554/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในกรณีที่ธนาคารโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ที่ 3 ให้ร่วมกันใช้หนี้เบิกเงินเกินบัญชี ซึ่งต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การขาดนัดพิจารณาและมิได้อุทธรณ์ฎีกานั้น เมื่อมูลกรณีเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้ของลูกหนี้ร่วมอันไม่อาจแบ่งแยกได้ และศาลฎีกาเห็นว่าศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสามร่วมกันเสียดอกเบี้ยทบต้นไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาก็ย่อมให้คำพิพากษาที่เกี่ยวกับดอกเบี้ยทบต้นมีผลถึงจำเลยที่ 1 ที่ 2ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) และมาตรา 247
จำเลยเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารโจทก์โดยมีข้อตกลงว่าหากจำเลยออกเช็คสั่งจ่ายเงิน และเงินมีไม่พอจ่ายก็ให้ธนาคารโจทก์ถือจ่ายไปตามคำสั่ง เป็นเงินเท่าใดให้ถือว่ายอดเงินที่จ่ายเกินนั้นเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชี โดยจำเลยยอมให้คิดดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือน ดังนั้น ระหว่างระยะเวลาที่จำเลยเบิกเงินเกินบัญชี จนถึงวันที่ธนาคารโจทก์ทวงถามและถือว่าจำเลยผิดนัดนั้น ดอกเบี้ยทบต้นที่ธนาคารโจทก์คิดเอากับจำเลยตามข้อตกลงจึงกลายเป็นต้นเงิน ฉะนั้น ในกรณีที่ธนาคารโจทก์ฟ้องเรียกเงินดอกเบี้ยจากจำเลยก่อนผิดนัดจึงเป็นเรื่องฟ้องเรียกต้นเงิน ไม่ใช่เรียกดอกเบี้ยค้างส่ง (ต้องใช้อายุความตาม มาตรา 164แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หาใช่ตามมาตรา 166 ไม่)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนควบกิจการธนาคารเกษตรจำกัด และธนาคารมณฑล จำกัด เข้าด้วยกันใช้ชื่อใหม่ว่า “ธนาคารกรุงไทย จำกัด” เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2502 จำเลยทั้งสามได้เปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารมณฑล จำกัด เป็นเงิน 85,000 บาท ในนามยี่ห้อในบัญชีว่ายี่ห้อ “หน่ำทง” โดยมีข้อตกลงว่า ในการสั่งจ่ายเงิน จำเลยสองคนร่วมกันลงชื่อและประทับตราจึงจะสมบูรณ์ ในกรณีจำเลยออกเช็คสั่งจ่ายเงินและเงินมีไม่พอจ่ายเมื่อธนาคารถือจ่ายไปตามคำสั่งเป็นเงินเท่าใด ให้ถือว่ายอดเงินที่จ่ายเกินนั้นเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชี โดยจำเลยยอมเสียดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี โดยคิดดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือนตามธรรมเนียมประเพณีของธนาคารพาณิชย์ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2502 ปรากฏว่าจำเลยเป็นหนี้ธนาคาร 46,500 บาท 08 สตางค์ หลังจากนั้นจำเลยไม่ได้ติดต่อกับธนาคารอีก และเมื่อคิดดอกเบี้ยทบต้นถึงวันที่ 30 มีนาคม 2509 จำเลยเป็นหนี้ธนาคารอยู่รวม 127,362 บาท 06 สตางค์ ได้ทวงถามแล้ว จำเลยไม่ชำระ จึงขอให้จำเลยร่วมกันใช้จำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยทบต้นนับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ และขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยไม่เคยเปิดบัญชีเงินฝากในนาม “ยี่ห้อหน่ำทง” และไม่เคยใช้ชื่ออื่นนอกจากชื่อ “นายคุน คุนผลิน” ชื่อเดียวจำเลยปฏิเสธเรื่องเกี่ยวกับการเบิกเงินเกินบัญชีทั้งหมดและต่อสู้ว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยไม่ถูกต้อง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะไม่เคยทวงถาม ฟ้องขาดอายุความและเคลือบคลุม

ศาลชั้นต้นเห็นว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม ไม่ขาดอายุความ และโจทก์ไม่จำต้องทวงถามก่อนฟ้อง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายคุน คุณผลิน จำเลยที่ 3 ใช้ชื่อว่า “เชี๊ยะคุน” ร่วมกับจำเลยที่ 1, 2 เปิดบัญชีเดินสะพัดในนามยี่ห้อ “หน่ำทง” กับธนาคารมณฑล จำกัด และเป็นลูกหนี้ธนาคารจริง พิพากษาให้จำเลยทั้ง 3 ร่วมกันใช้เงินและดอกเบี้ยตามฟ้อง

จำเลยที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ไม่เชื่อว่า นายคุน คุนผลิน จำเลยที่ 3 คือนายเซี๊ยะคุน พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 3

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเชื่อว่า จำเลยที่ 3 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1, 2 เปิดบัญชีในนามยี่ห้อ “หน่ำทง” กับธนาคารมณฑล จำกัด จำเลยเป็นลูกหนี้ธนาคารทั้งต้นและดอกเบี้ยคิดถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2507 เป็นเงิน 104,348 บาท 37 สตางค์ โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ภายใน 7 วัน จำเลยไม่ยอมชำระ ฉะนั้นถือได้ว่าได้มีการเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดตั้งแต่วันครบกำหนดเวลาบอกกล่าวนั้นแล้ว ธนาคารจึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้อีกหลังจากนั้นที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสามร่วมกันเสียดอกเบี้ยทบต้นจึงเป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาจึงให้คำพิพากษานี้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ที่ 2ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) และ 247ในประเด็นที่จำเลยที่ 3 ต่อสู้ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความในเรื่องดอกเบี้ยค้างส่งนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ดอกเบี้ยตามบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์และจำเลยจากวันที่ 3 สิงหาคม 2502 ถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2507 ได้กลายเป็นต้นเงินโดยวิธีคิดดอกเบี้ยทบต้นตามประเพณีของธนาคารจนถึงวันที่โจทก์ทวงถาม และถือว่าผิดนัด ฉะนั้น กรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินดอกเบี้ยจากจำเลยก่อนผิดนัดจึงเป็นเรื่องฟ้องเรียกต้นเงินไม่ใช่เรียกดอกเบี้ยค้างส่ง ฟ้องโจทก์ในกรณีนี้จึงไม่ขาดอายุความ

พิพากษาแก้ศาลอุทธรณ์เป็นว่า ให้จำเลยทั้ง 3 ร่วมกันรับผิดในจำนวนเงิน 104,348 บาท 37 สตางค์ กับดอกเบี้ยทบต้นตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2507ถึงวันที่ 4 ธันวาคม 2507 อันเป็นวันผิดนัด ส่วนดอกเบี้ยต่อจากนั้นให้คิดดอกเบี้ยธรรมดาในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีจนกว่าจำเลยจะใช้เงินเสร็จ

Share