แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
วันที่ 8 กันยายน 2531 โจทก์ยื่นคำแถลงว่าส่งหมายเรียก และสำเนาคำฟ้องให้จำเลยทั้งสี่ไม่ได้ ขอส่งใหม่ ศาลชั้นต้นสั่งว่า ส่งให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ใหม่ สำหรับจำเลยที่ 4 ให้รอฟังผล การส่งหมายก่อน วันที่ 12 กันยายน 2531 ศาลชั้นต้นสั่งในรายงาน เดินหมายฉบับลงวันที่ 8 กันยายน 2531 ซึ่งรายงานว่าส่งหมายเรียก และสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 4 ไม่ได้ว่ารอโจทก์แถลง วันที่ 5 ตุลาคม 2531รองจ่าศาลรายงานว่า โจทก์ไม่ได้แถลงหรือขอดำเนินการ ให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 4 ใหม่ เกิน 15 วัน นับแต่ที่ศาลสั่ง ศาลชั้นต้นสั่งว่า โจทก์ทิ้งฟ้องให้จำหน่ายคดี เฉพาะจำเลยที่ 4ดังนี้ การที่ศาลชั้นต้นสั่งในคำแถลงของโจทก์ เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2531ว่า ให้รอฟังผลการส่งหมายก่อน แล้วต่อมาสั่งในรายงานการเดินหมายเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2531 ให้รอฟังโจทก์แถลง นั้น เป็นการสั่งไปเพราะความหลงผิดว่าโจทก์ ยังมิได้แถลงหรือขอดำเนินการให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง ให้จำเลยที่ 4 ใหม่ไว้แล้ว ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งไม่ต่อเนื่องกับ ที่สั่งไว้ในคำแถลงของโจทก์คำสั่งจำหน่ายคดีจึงเป็นเพราะความหลงผิด ว่าโจทก์มิได้แถลงหรือขอดำเนินการให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง เมื่อโจทก์ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดี ศาลชั้นต้นย่อมมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งนั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27.
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสี่ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสี่ต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นสั่งรับคำฟ้อง หมายส่งสำเนาคำฟ้องให้จำเลยทั้งสี่ โดยให้โจทก์ทั้งสี่จัดการนำส่ง หากส่งไม่ได้ให้แถลงเพื่อดำเนินการต่อไป ภายใน 15 วัน นับแต่วันส่งไม่ได้ มิฉะนั้นให้ถือว่าทิ้งคำฟ้อง ต่อมาวันที่ 8 กันยายน 2531 ทนายโจทก์ทั้งสี่ยื่นคำแถลงต่อศาลว่าส่งให้จำเลยทั้งสี่ไม่ได้ ขอให้ส่งใหม่ หากส่งไม่ได้ขอให้ศาลสั่งปิดหมาย ศาลชั้นต้นสั่งว่า ส่งให้จำเลยที่ 1ถึงที่ 3 ใหม่ ไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิดสำหรับจำเลยที่ 4 ให้รอฟังผลการส่งหมายก่อน ต่อมาวันที่ 12 กันยายน 2531 แผนกรับฟ้องได้เสนอรายงานการเดินหมายฉบับลงวันที่ 8 กันยายน 2531 ต่อศาลว่าส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 4 เมื่อวันที่ 2 กันยายน2531 แต่ส่งไม่ได้ ศาลชั้นต้นสั่งว่า รอโจทก์แถลง และต่อมาวันที่5 ตุลาคม 2531 รองจ่าศาลทำรายงานเจ้าหน้าที่เสนอศาลว่า โจทก์ทั้งสี่ไม่ได้แถลงหรือขอดำเนินการให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 4 ใหม่ เกินกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ศาลสั่งให้รอฟังโจทก์ทั้งสี่แถลงแล้ว ศาลชั้นต้นสั่งว่า ถือว่าโจทก์ทั้งสี่ทิ้งฟ้องให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 4 ต่อมาวันที่ 11 ตุลาคม 2531 ทนายโจทก์ทั้งสี่ยื่นคำร้องว่าทนายโจทก์ทั้งสี่ทราบว่าส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 4 ไม่ได้และยื่นคำแถลงขอให้ส่งให้จำเลยที่ 4ใหม่ ตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2531 แล้ว ขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 4 เสียและสั่งให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 4 ใหม่ ศาลชั้นต้นสั่งว่า ศาลได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีไปเพราะความผิดหลง จึงให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว ให้ดำเนินการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 4 ใหม่ วันที่21 ธันวาคม 2531 จำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องว่าจำเลยที่ 4 เพิ่งทราบคำสั่งศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2531 เห็นว่าคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 4 ชอบแล้ว ขอให้เพิกถอนคำสั่งยกเลิกคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 4
ศาลชั้นต้นยกคำร้อง
จำเลยที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ศาลชั้นต้นสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 4 ไปตามที่รองจ่าศาลทำรายงานเจ้าหน้าที่ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2531 เสนอต่อศาลว่า โจทก์ทั้งสี่มิได้แถลงหรือขอดำเนินการให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 4 ใหม่ เกินกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ศาลสั่งในรายงานการเดินหมายเมื่อวันที่12 กันยายน 2531 ให้รอโจทก์ทั้งสี่แถลงแล้ว ทั้ง ๆ ที่โจทก์ทั้งสี่ได้ยื่นคำแถลงขอให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 4 ใหม่ไว้แล้วเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2531 การที่ศาลชั้นต้นสั่งไว้ในคำแถลงของโจทก์ทั้งสี่ดังกล่าวว่า สำหรับจำเลยที่ 4 ให้รอฟังผลการส่งหมายก่อน แล้วต่อมากลับสั่งในรายงานการเดินหมายเมื่อวันที่ 12กันยายน 2531 ให้รอฟังโจทก์ทั้งสี่แถลงนั้น เห็นได้ว่าเป็นการสั่งไปเพราะความหลงผิดว่าโจทก์ทั้งสี่มิได้แถลงหรือขอดำเนินการให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 4 ใหม่ไว้แล้วทั้งต่อมารองจ่าศาลก็มิได้รายงานเท้าความถึงการที่โจทก์ทั้งสี่เคยยื่นคำแถลงขอให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 4 ใหม่ไว้ แต่ศาลยังมิได้มีคำสั่ง เพียงแต่ให้รอฟังผลการส่งหมายให้จำเลยที่ 4 ก่อนศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งไปไม่ต่อเนื่องกับที่สั่งไว้ในคำแถลงของโจทก์ทั้งสี่ และที่ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 4 ก็เพราะความหลงผิดว่าโจทก์ทั้งสี่มิได้แถลงหรือขอดำเนินการให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 4 นั้นเอง เมื่อโจทก์ทั้งสี่ที่เสียหายได้ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดี ศาลชั้นต้นย่อมมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ที่จำเลยที่ 4 ฎีกาว่า คำสั่งศาลชั้นต้นในรายงานการเดินหมายเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2531 ว่ารอโจทก์ทั้งสี่แถลง มีความหมายชัดเจนว่าโจทก์ต้องแถลงเกี่ยวกับการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 4 ไม่ได้อีกครั้งหนึ่งนั้น เห็นว่า ได้วินิจฉัยมาแล้วว่าศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 4 เพราะความหลงผิดว่าโจทก์ทั้งสี่มิได้แถลงหรือขอดำเนินการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 4 ใหม่ ข้อที่ชี้ให้เห็นว่าเป็นเพราะความหลงผิดก็คือ ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์ทั้งสี่จัดการนำส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 4 ครั้งเดียวไม่มีเหตุผลที่ศาลชั้นต้นจะต้องมีคำสั่งถึงสองครั้งให้โจทก์ทั้งสี่แถลงเพื่อดำเนินคดีต่อไป ส่วนที่ในคำแถลงของโจทก์ทั้งสี่มิได้แนบหลักฐานแสดงภูมิลำเนาของจำเลยที่ 4 มาด้วยนั้น ก็เป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นจะใช้ดุลพินิจสั่งการตามที่เห็นสมควรได้ ต้องถือว่าโจทก์ทั้งสี่ได้ยื่นคำแถลงขอให้ศาลชั้นต้นเพื่อดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 4 ต่อไปภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันส่งไม่ได้ตามที่ศาลมีคำสั่งไว้ในคำฟ้องแล้ว ที่จำเลยที่ 4 ฎีกาว่า การเพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 4 เท่ากับสนับสนุนว่าหากโจทก์ทั้งสี่ทราบผลการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องของจำเลยบางคนไม่ได้ ก็สามารถที่จะแถลงขอให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องสำหรับจำเลยทุกคนและเสียค่าธรรมเนียมในการส่งหมายล่วงหน้าไว้เป็นหลักฐานได้นั้น เห็นว่า ตามคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีและคำแก้ฎีกาของโจทก์ทั้งสี่ก็อ้างอยู่ว่าเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2531ทนายโจทก์ทั้งสี่ไปติดตามผลการส่งหมายที่แผนกเดินหมายของศาลชั้นต้นได้ทราบผลการส่งหมายให้จำเลยที่ 4 ไม่ได้ เพราะบ้านปิดใส่กุญแจ ในวันเดียวกันโจทก์ทั้งสี่จึงได้ยื่นคำแถลงต่อศาล แสดงว่ามีการติดตามผลการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 4 เมื่อทราบว่าส่งไม่ได้แล้วจึงยื่นคำแถลงต่อศาลขอให้มีการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 4 ใหม่ โจทก์ทั้งสี่มิได้เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด และมิได้เป็นการแถลงขอให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 4 ใหม่ รวมทั้งเสียค่าธรรมเนียมในการส่งหมายไว้ล่วงหน้าแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 4 นั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยที่ 4 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.