คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5535/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคดีหย่า แม้โจทก์จะไม่ได้นำสืบเรื่องอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง ศาลมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดว่าจะให้ฝ่ายใดเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใดและอีกฝ่ายจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1520 วรรคสองและมาตรา 1522 วรรคสอง เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่า ผู้เยาว์อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของโจทก์มาตลอดตั้งแต่จำเลยที่ 1 เริ่มมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปและเหตุหย่าเกิดจากความผิดของจำเลยที่ 1 ประกอบกับจำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้ให้การหรือสืบพยานว่าจำเลยที่ 1 ประสงค์จะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ทั้งสอง ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ทั้งสองและให้จำเลยที่ 1ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์คนละ 4,000 บาท ต่อเดือน จนกว่าจะบรรลุนิติภาวะจึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาให้จำเลยที่ 1 หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับโจทก์ ให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรทั้งสองแต่เพียงผู้เดียว ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเดือนละ 6,000 บาท ต่อคน นับแต่วันพิพากษาเป็นต้นไปจนกว่าบุตรแต่ละคนจะบรรลุนิติภาวะ และให้จำเลยทั้งสองชำระค่าทดแทนเป็นเงิน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันพิพากษาเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากกัน ให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กหญิง ฟ. และเด็กหญิง พ. บุตรผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียว ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรคนละ 4,000 บาท ต่อเดือน นับแต่วันพิพากษาเป็นต้นไปจนกว่าบุตรแต่ละคนจะบรรลุนิติภาวะ (เด็กหญิง ฟ. เกิดวันที่ 26 กันยายน 2543 และเด็กหญิง พ. เกิดวันที่ 17 ตุลาคม 2548) ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าทดแทนเป็นเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันพิพากษาเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ที่เสียเกินมา 1,000 บาท ให้แก่จำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรด้วยกันรวม 2 คน คือเด็กหญิง ฟ. อายุ 12 ปี และเด็กหญิง พ. อายุ 7 ปี
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยที่ 1 ยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยาอันเป็นเหตุฟ้องหย่าหรือไม่ เห็นว่า โจทก์นำนาง บ. ซึ่งมีบ้านอยู่ติดกับบ้านของจำเลยที่ 2 มาเบิกความว่า ตั้งแต่กลางปี 2555 จนถึงวันที่เบิกความ เห็นจำเลยที่ 1 พักอาศัยค้างคืนที่บ้านจำเลยที่ 2 โจทก์นำนาย ค. ซึ่งมีบ้านอยู่ติดกับบ้านของจำเลยที่ 2 มาเบิกความว่า พบเห็นจำเลยที่ 1 มาประมาณ 2 ปี แต่ที่พบเห็นเป็นประจำว่ามาพักอาศัยอยู่ที่บ้านของจำเลยที่ 2 ประมาณหนึ่งปีครึ่ง โจทก์นำนาย ป. ซึ่งมีบ้านอยู่คนละฝั่งถนนกับบ้านของจำเลยที่ 2 มาเบิกความว่า เคยเห็นจำเลยที่ 1 มาที่บ้านจำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 จะนอนพักค้างคืนหรืออาศัยอยู่ที่บ้านหลังดังกล่าวหรือไม่ แต่เห็นรถยนต์ของจำเลยที่ 1 จอดค้างคืนที่บ้านหลังดังกล่าว ทั้งนาง บ. นาย ท. และนาย ป. เป็นเพื่อนบ้านของจำเลยที่ 2 ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสองมาก่อนและไม่เคยรู้จักกับโจทก์ น่าเชื่อว่าพยานทั้งสามเบิกความไปตามความจริงที่พบเห็น ซึ่งเจือสมกับคำเบิกความของจำเลยทั้งสอง ข้อเท็จจริงรับฟังว่า จำเลยที่ 1 ไปนอนค้างคืนที่บ้านของจำเลยที่ 2 นำรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ไปจอดไว้ภายในบ้านของจำเลยที่ 2 จำเลยทั้งสองแลกเปลี่ยนรถยนต์กันใช้ เดือนละ 6 ถึง 7 ครั้ง ช่วยเหลือกันในด้านธุรกิจและออกงานสังคมร่วมกัน แม้โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าจำเลยทั้งสองร่วมประเวณีกัน และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 แนะนำบุคคลอื่นให้รู้จักจำเลยที่ 2 ในฐานะภริยา แต่การที่จำเลยทั้งสองไปไหนมาไหนด้วยกันอย่างเปิดเผย จำเลยที่ 1 มาพักอาศัยอยู่ที่บ้านของจำเลยที่ 2 อยู่ด้วยกันในเวลากลางคืนและแลกเปลี่ยนรถยนต์กันใช้ ช่วยเหลือกันในด้านธุรกิจเปิดคลินิกตรวจรักษาโรคร่วมกันที่บ้านของจำเลยที่ 2 โดยใช้ชื่อว่า ” ป. การพยาบาลและการผดุงครรภ์” เป็นการแสดงออกว่าจำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาว เอื้ออาทรดูแลเอาใจใส่ต่อกันซึ่งถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์ที่แสดงว่าจำเลยที่ 1 ยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยา อันเป็นเหตุฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (1) ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบเรื่องอำนาจปกครอง ศาลมีอำนาจกำหนดให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองแต่ฝ่ายเดียวหรือไม่ และค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้นสูงเกินไปหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะไม่ได้นำสืบเรื่องอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสอง ศาลก็มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดว่าจะให้ฝ่ายใดเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด และอีกฝ่ายจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1520 วรรคสอง และมาตรา 1522 วรรคสอง เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่า ผู้เยาว์อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของโจทก์มาตลอดตั้งแต่จำเลยที่ 1 เริ่มมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป และเหตุหย่าเกิดจากความผิดของจำเลยที่ 1 ประกอบกับจำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้ให้การหรือสืบพยานว่าจำเลยที่ 1 ประสงค์จะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ทั้งสอง ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ทั้งสองจึงชอบแล้ว ส่วนปัญหาเรื่องจำนวนค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้น เมื่อคำนึงถึงความสามารถของจำเลยที่ 1 ในการช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ทั้งสอง ซึ่งมีอายุ 12 ปีเศษ และ 7 ปีเศษ (ขณะฟ้อง) จนกว่าผู้เยาว์ทั้งสองจะบรรลุนิติภาวะ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูคนละ 4,000 บาท นับว่าเหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share