คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5535/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ของรายพิพาทที่โจทก์นำเข้าห่างจากวันที่นำเข้าครั้งก่อน 7 วันซึ่งราคาอันแท้จริงในท้องตลาดยุติกันว่ามีราคาเครื่องละ 177เหรียญสหรัฐฯ ไม่น่าที่ราคาของของที่นำเข้าจะทันได้เปลี่ยนแปลงไปและเมื่อของที่นำเข้ามาเป็นของชนิดเดียวกันจากบริษัทผู้ผลิตขายในต่างประเทศบริษัทเดียวกัน แสดงให้เห็นได้ว่าน่าจะเป็นของที่ผลิตในคราวเดียวกัน เพราะระยะเวลา 7 วัน ไม่น่าจะผลิตของต่างคราวกันเป็นจำนวนมากได้ เป็นไปไม่ได้ว่าเมื่อของนั้นนำเข้ามาถึงประเทศไทยแล้ว จะมีราคาที่ขายโดยไม่ขาดทุนเท่ากับราคาที่กำหนดไว้ในประเทศของผู้ผลิต ต้องถือว่าราคาของในการนำเข้าคราวก่อนที่โจทก์จำเลยรับกันว่ามีราคาเครื่องละ 177 เหรียญสหรัฐฯนั้นเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาตรา 2.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อวิทยุติดตามตัว พร้อมอุปกรณ์ครบชุดเครื่องหมายการค้า “มอโตโรล่า” จากประเทศสหรัฐอเมริกาเข้ามาในราชอาณาจักรไทยในราคาเครื่องละ 153 เหรียญสหรัฐฯ ราคาเอฟ.โอ.บี. ค่าขนส่งทางอากาศ ค่าสินค้าผ่านท่าและค่าเบี้ยประกันอีกต่างหาก ซึ่งเมื่อรวมค่าภาระต่าง ๆ ดังกล่าวด้วยแล้วจะตกราคาเครื่องละ 154.53 เหรียญสหรัฐฯ ถึงเครื่องละ 157.30 เหรียญสหรัฐฯราคา ซี.ไอ.เอฟ. แล้วแต่ค่าขนส่งและค่าเบี้ยประกันภัยที่ต้องเสียจริง โดยโจทก์ได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้ารวม 17 ฉบับ ขอเสียภาษีอากรต่อจำเลยในพิกัดประเภท 8,527.90เจ้าพนักงานของจำเลยตรวจสอบแล้วไม่พอใจราคาสินค้าตามที่โจทก์ซื้อมาและแสดงไว้ ได้ให้โจทก์เพิ่มราคาสินค้าจากราคาที่ซื้อมาจริงลงในใบขนสินค้าขาเข้าเพื่อเสียภาษีให้ครบถ้วนตามจำนวนที่เจ้าพนักงานจำเลยได้กำหนดเป็นเครื่องละ 177 เหรียญสหรัฐฯราคา เอฟ.โอ.บี. ซึ่งโจทก์ต้องปฏิบัติตาม ทั้งนี้เพื่อจะนำของออกจากอารักขาของกรมศุลกากรจำเลย โดยโจทก์ได้ชำระภาษีอากรในส่วนที่เจ้าพนักงานของจำเลยได้ประเมินเพิ่มเกินไปรวมทั้งสิ้น1,123,507 บาท โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์โต้แย้งราคา ต่อมากองวิเคราะห์ราคาของจำเลยแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ให้โจทก์ทราบว่า เจ้าหน้าที่ได้ประเมินราคาโดยชอบแล้ว ซึ่งโจทก์ไม่เห็นด้วยและได้แจ้งให้กรมศุลกากรทบทวนพิจารณาอุทธรณ์อีกครั้งหนึ่ง ขณะนี้เรื่องอยู่ในระหว่างการพิจารณาของจำเลย ราคาสินค้าที่โจทก์ซื้อมาโรงงานผู้ผลิตเป็นผู้กำหนดราคาขายเองถือได้ว่าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด การประเมินราคาสินค้าโจทก์เพิ่ม เป็นการไม่ชอบขอให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์ 1,123,507 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยคืนเงินภาษีอากรตามฟ้องเพราะการชำระภาษีอากรของโจทก์เป็นการถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายในขณะนั้นแล้ว กล่าวคือสินค้าวิทยุติดตามตัวครบชุดสมบูรณ์ซึ่งโจทก์นำเข้า มีราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ณ เวลาและสถานที่ที่โจทก์นำของเข้าสำเร็จเป็นเงินเครื่องละ 177 เหรียญสหรัฐฯราคา เอฟ.โอ.บี. มิใช่ราคาเครื่องละ 153 เหรียญสหรัฐฯ ราคาเอฟ.โอ.บี. ก่อนที่โจทก์จะนำสินค้าวิทยุติดตามตัวครบชุดสมบูรณ์ตามใบขนสินค้าขาเข้าจำนวน 17 ฉบับ ตามฟ้องเข้ามาในราชอาณาจักรนั้น โจทก์เคยนำวิทยุติดตามตัวซึ่งเป็นสินค้าชนิด แบบ คุณภาพประเภท เมืองกำเนิด และพิกัดอัตราศุลกากรเช่นเดียวกันเข้ามาในราชอาณาจักรผ่านพิธีการทางศุลกากรของจำเลยตามกฎหมาย โดยสำแดงราคาเป็นเงินเครื่องละ 177 เหรียญสหรัฐฯ ราคา เอฟ.โอ.บี. ที่โจทก์ชำระเงินภาษีอากรเพิ่มต่อจำเลยเป็นเงินรวม 1,123,507 บาท จึงเป็นการถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายในขณะนั้นทุกประการแล้ว
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วพิพากษาว่า ราคาสินค้าที่โจทก์ซื้อมาตามที่สำแดงไว้ในใบขนสินค้าคือเครื่องละ 153 เหรียญสหรัฐฯเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ให้เพิกถอนการประเมินของจำเลยให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์จำนวน 1,123,507 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ปัญหาวินิจฉัยมีว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาดของของที่โจทก์นำเข้าคราวที่พิพาทกันนี้จะมีราคาเท่าที่โจทก์สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าหรือมีราคาตามราคาที่เจ้าพนักงานประเมิน พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ของชนิดเดียวกันที่โจทก์นำเข้าที่เป็นกรณีพิพาทนี้ โจทก์เคยนำเข้าเมื่อวันที่5 กุมภาพันธ์ 2531 โดยสำแดงราคาไว้เครื่องละ 177 เหรียญสหรัฐฯและเจ้าพนักงานก็เรียกเก็บค่าอากรตามที่โจทก์สำแดงดังกล่าว จึงเป็นอันถือได้ว่าทั้งโจทก์และจำเลยยอมรับกันว่าราคาที่นำเข้าคราวนั้นเครื่องละ 177 เหรียญสหรัฐฯ เป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดและราคาที่โจทก์เคยสำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้า และใบกำกับสินค้าเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 166 และ 167 ซึ่งนำเข้ามาเมื่อวันที่2 พฤษภาคม 2531 โจทก์สำแดงราคาไว้เครื่องละ 177 เหรียญสหรัฐฯซึ่งโจทก์จำเลยไม่ได้โต้แย้งกันในเรื่องราคาดังกล่าว จึงต้องถือว่าโจทก์จำเลยยอมรับว่าราคานั้นเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดของของที่โจทก์นำเข้า ได้พิจารณาชนิดของของที่โจทก์นำเข้าตามที่ปรากฏในใบขนสินค้าขาเข้าและใบกำกับสินค้า เอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 166และ 167 กับชนิดของของที่ปรากฏในใบขนสินค้าขาเข้าที่เป็นกรณีพิพาททั้ง 17 ฉบับแล้ว ปรากฏว่าใบขนสินค้าขาเข้าทั้งสองครั้งระบุไว้เป็นภาษาไทยอย่างเดียวกันว่า วิทยุติดตามตัวครบชุด และระบุ MODEL A04 JRC 5961 A เช่นเดียวกัน และได้เสียอากรนำเข้าในพิกัดประเภทเดียวกัน กรณีจึงเป็นที่เห็นได้ว่าของที่โจทก์นำเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 17 ฉบับ ที่เป็นกรณีพิพาทเป็นของชนิดเดียวกับที่โจทก์นำเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้า และใบกำกับสินค้าเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 166 และ 167 ตามใบขนสินค้าขาเข้าที่โจทก์นำเข้าทั้ง 17 ฉบับที่พิพาทเป็นการนำเข้าระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม 2531 ซึ่งโจทก์สำแดงราคาที่นำเข้าในราคาเครื่องละเท่า ๆ กัน แสดงว่าของที่โจทก์นำเข้าในทุกคราวมีราคาเท่ากัน การนำเข้าที่เป็นกรณีพิพาทโจทก์นำเข้าครั้งแรกเมื่อวันที่9 พฤษภาคม 2531 ซึ่งห่างจากวันที่ที่นำเข้าครั้งก่อนซึ่งราคาอันแท้จริงในท้องตลาดยุติกันว่ามีราคาเครื่องละ 177 เหรียญสหรัฐฯในระยะเวลาเพียง 7 วันเท่านั้น ไม่น่าที่ราคาของของที่นำเข้าจะทันได้เปลี่ยนแปลงไป และในเมื่อของที่นำเข้ามาเป็นของชนิดเดียวกันจากบริษัทผู้ผลิตขายในต่างประเทศบริษัทเดียวกัน การที่นำเข้ามาห่างกันเพียง 7 วันเป็นการแสดงให้เห็นได้ว่าน่าจะเป็นของที่ผลิตในคราวเดียวกัน เพราะระยะเวลา 7 วันนั้น เห็นได้ว่าไม่น่าจะผลิตของต่างคราวกันเป็นจำนวนมากได้ ทั้งเมื่อได้พิจารณาตามหนังสือที่บริษัทต่างประเทศติดต่อกับโจทก์เกี่ยวกับราคาของของที่โจทก์นำเข้าตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 15 ซึ่งโจทก์อ้างว่าโจทก์สำแดงราคา เอฟ.โอ.บี ในใบขนสินค้าขาเข้าเครื่องละ 153เหรียญสหรัฐฯ เพราะบริษัทผู้ผลิตได้ผลิตสินค้าจำนวนมากขึ้น และต้นทุนลดลงแล้ว เห็นว่าราคาตามจำนวนที่กล่าวนั้นเป็นราคาจัดเก็บเฉพาะภายในประเทศ อันหมายถึงราคาภายในประเทศของผู้ผลิตซึ่งอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา จึงเป็นไปไม่ได้ว่าเมื่อของนั้นนำเข้ามาถึงประเทศไทยแล้ว จะมีราคาที่ขายโดยไม่ขาดทุนเท่ากับราคาที่กำหนดไว้ในประเทศของผู้ผลิต ประกอบกับราคาสินค้าตามเอกสารหมาย จ.1แผ่นที่ 15 เป็นราคาตามแบบ A 04 JRB 5961 A ซึ่งเป็นสินค้าคนละแบบกับสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้าที่พิพาท ซึ่งเป็นแบบA 04 JRB 5961 A ราคาของสินค้าตามเอกสารดังกล่าวย่อมแตกต่างกับราคาสินค้าที่พิพาท ดังนั้น จึงถือไม่ได้ว่าราคาที่โจทก์สำแดงนั้นเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ราคาอันแท้จริงในท้องตลาดของของที่โจทก์นำเข้าซึ่งห่างจากเวลาที่โจทก์นำเข้าในคราวก่อนเพียง7 วัน จึงน่าจะเป็นราคาเดียวกัน ในการนำเข้าคราวก่อนโจทก์จำเลยรับกันว่าของที่นำเข้ามีราคาเครื่องละ 177 เหรียญสหรัฐฯ การที่เจ้าพนักงานประเมินถือเอาราคาดังกล่าวมาประเมินเรียกอากรเพิ่มจึงเป็นการประเมินจากราคาอันแท้จริงในท้องตลาดของของที่โจทก์นำเข้า เป็นการประเมินชอบแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยคืนเงินตามที่เรียกร้องมาในฟ้องได้…”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์.

Share