คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 553/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ทนายจำเลยขอถอนตัว ศาลชั้นต้นได้แจ้งให้จำเลยทราบคำขอนั้นแล้ว จึงได้มีคำสั่งอนุญาตให้ทนายจำเลยถอนตัว เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ถูกต้องแล้วโดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยได้แต่งตั้งทนายเข้ามาก่อนวันศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทนายคนเดิมขอถอนตัวหรือไม่แต่อย่างใด
ศาลชั้นต้นได้นัดสืบพยานโจทก์นัดแรกเมื่อวันที่ 29 มกราคม2529 แต่ถึงวันนัดได้มีการเลื่อนวันนัดออกไป และมีการเลื่อนวันนัดสืบพยานโจทก์ออกไปอีกหลายครั้งโดยไม่มีการสืบพยานโจทก์เลยจนกระทั่งได้มีการสืบพยานโจทก์ครั้งรแกในวันที่ 18มีนาคม 2529 ถือได้ว่าวันสืบพยานคือวันที่ 18 มีนาคม 2529 เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่มาศาล และศาลได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 1ที่ 2 ขาดนัดพิจารณาจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 202 แล้ว.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่ให้ชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีสัญญาค้ำประกัน สัญญาจำนอง และตั๋วเงินแก่โจทก์จำเลยทั้งสี่ได้แต่งตั้งนายเฉลี่ย นามอักษร เป็นทนายความยื่นคำให้การต่อสู้คดี เฉพาะจำเลยที่ 3 ที่ 4 ได้แต่งตั้งนายสมปองนิรมิตรมหาปัญญา เป็นทนายอีกคนหนึ่งด้วย ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์เป็นฝ่ายนำสืบก่อน นัดสืบพยานโจทก์นัดแรกวันที่ 29 มกราคม2529 ถึงวันนัดคู่ความแถลงว่าคดีมีทางตกลงกันได้ ขอให้เลื่อนวันนัดสืบพยานโจทก์ออกไป ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2529 ถึงวันนัดนายเฉลี่ย นามอักษรทนายจำเลยทั้งสี่แถลงว่ายังไม่ได้พบกับจำเลยที่ 2 ถ้าได้พบจะมีทางตกลงกันได้ ขอเลื่อนคดีไปก่อน ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 10 เดือนเดียวกัน ครั้นถึงวันนัด ฝ่ายจำเลยคงมีแต่นายเฉลี่ย นามอักษร ทนายจำเลยทั้งสี่มาศาลแต่ผู้เดียวได้ยื่นคำร้องในวันนั้นเองว่ามีความคิดเห็นไม่ตรงกับจำเลยทั้งสี่ขออนุญาตถอนตัวจากการเป็นทนายจำเลยทั้งสี่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เลื่อนนัดไปสืบพยานโจทก์ในวันที่ 18 มีนาคม 2529 โดยให้แจ้งวันนัดให้จำเลยทั้งสี่ทราบพร้อมทั้งให้แจ้งด้วยว่าทนายจำเลยทั้งสี่ขอถอนตัว ให้จำเลยแต่งทนายคนใหม่ก่อนวันนัด 7 วัน มิฉะนั้นให้ถือว่าไม่ติดใจมีทนาย จำเลยทั้งสี่ได้รับหมายเมื่อวันที่ 21กุมภาพันธ์ 2529 ต่อมาในวันที่ 10 มีนาคม 2529 จำเลยที่ 1 ที่ 2ได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอคัดค้านการขอถอนตัวเพราะนายเฉลี่ยนามอักษร ได้รับเงินค่าจ้างว่าความไปจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 แล้วถ้าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ต้องแต่งทนายอื่นอีกก็จะต้องเสียค่าจ้างทนายคนใหม่อีก ทั้งเป็นระยะเวลากระชั้นชิด จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงขอยืนยันแต่งตั้งนายเฉลี่ย นามอักษร เป็นทนายจำเลยที่ 1 ที่ 2 ต่อไปศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันนั้นเองว่า ถือว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3(ที่ถูกน่าจะเป็นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4) ทราบคำขอต่อศาลขอถอนตัวจากการเป็นทนายแล้วอนุญาตให้ทนายถอนตัวได้ ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3แต่งทนายคนใหม่เข้ามาตามที่ศาลได้สั่งไว้แล้ว มิฉะนั้นจะถือว่าไม่ติดใจมีทนาย พอถึงวันที่ 18 มีนาคม 2529 อันเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์ ฝ่ายจำเลยมีเพียงตัวจำเลยที่ 4 และนายสมปองนิรมิตรมหาปัญญา ทนายจำเลยที่ 3 ที่ 4 มาศาล ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ขาดนัดพิจารณาแล้วทำการสืบพยานโจทก์ไป 1 ปาก โจทก์แถลงหมดพยาน จำเลยที่ 3 ที่ 4 แถลงไม่ติดใจสืบพยาน ศาลชั้นต้นจึงพิพากษาคดีในวันนั้นให้จำเลยทั้งสี่ชำระหนี้แก่โจทก์ตามฟ้อง ต่อมาเมื่อวันที่ 2 เมษายน ปีเดียวกัน จำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 3 ได้แต่งให้นายรัตนะ ทิมทอง เป็นทนายพร้อมทั้งยื่นคำแถลงว่าการที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 แต่งทนายเข้ามาสู้คดีเป็นการไม่ชอบจึงขอคัดค้านไว้ แล้วต่อมาวันที่ 17 เมษายน 2529 จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ยื่นอุทธรณ์ว่า ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2ขาดนัดพิจารณา ขอให้มีคำสั่งยกคำสั่งของศาลชั้นต้นและให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาคดีใหม่
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาว่า กรณีที่มีการคัดค้านการถอนทนาย ศาลจะอนุญาตให้ถอนทนายได้ต่อเมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 แต่งทนายเข้ามาก่อน และที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ขาดนัดนั้น เป็นการมิชอบ เพราะวันดังกล่าวมิใช่เป็นวันนัดครั้งแรกนั้น เห็นว่าคดีนี้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้รับหมายนัดของศาลชั้นต้นแจ้งวันนัดสืบพยานโจทก์ พร้อมทั้งเรื่องทนายจำเลยถอนตัวตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2529 ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งอนุญาตให้ทนายจำเลยถอนตัวในวันที่ 10 มีนาคมปีเดียวกันถือได้ว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ถูกต้องแล้ว โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้แต่งตั้งทนายเข้ามาก่อนวันศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทนายคนเดิมขอถอนตัวหรือไม่แต่อย่างใดอนึ่ง คดีนี้ศาลชั้นต้นได้นัดสืบพยานโจทก์นัดแรกเมื่อวันที่ 29มกราคม 2529 แต่ถึงวันนัดได้มีการเลื่อนวันนัดออกไปและมีการเลื่อนวันนัดสืบพยานโจทก์ออกไปอีกหลายครั้งโดยไม่มีการสืบพยานโจทก์เลย จนกระทั่งได้มีการสืบพยานโจทก์ครั้งแรกในวันที่ 18มีนาคม 2529 ฉะนั้น จึงถือได้ว่าวันสืบพยานคดีนี้คือวันที่ 18มีนาคม 2529 นั่นเอง เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่มาศาล และศาลได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ขาดนัดพิจารณา จึงชอบด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 202 แล้ว”
พิพากษายืน

Share