แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ความหมายของข้อความว่า “ได้ส่งไปโดยมีผู้ขนส่งหลายคนหลายทอด”ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 618 ต้องปรากฏว่าแต่ละคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับของหรือสินค้าที่ถูกขนส่งเป็นผู้มีหน้าที่โดยตรงในการนำสินค้าจากที่แห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่งด้วยการรับขนส่งกันเป็นช่วง ๆ ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ลำพังแต่การเป็นเพียงตัวแทนของผู้ขนส่งทอดใดทอดหนึ่งเพื่อทำธุรกรรมทางด้านเอกสารเกี่ยวกับสินค้า หรือปฏิบัติพิธีการทางศุลกากรในการนำเรือเข้าเทียบท่า แจ้งกำหนดเรือบรรทุกสินค้าเข้าให้เจ้าของสินค้าทราบเพื่อจะได้มารับสินค้าเท่านั้นโดยไม่ปรากฏว่าได้เข้าไปเกี่ยวข้องขนส่งสินค้าด้วยแล้ว ก็ไม่อาจถือว่าตัวแทนเรือดังกล่าวเป็นผู้ร่วมขนส่งหลายคนหลายทอดได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ประกอบกิจการขนส่งสินค้าทางทะเลอยู่ที่ประเทศสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จำเลยที่ 2เป็นผู้ร่วมขนส่งสินค้าทอดสุดท้ายในประเทศไทย เมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน 2533 บริษัทคาร์เปท อินเตอร์เนชั่นแนล ไทยแลนด์ จำกัดผู้ซื้อสั่งซื้อสินค้าเครื่องทอพรมรวม 4 เครื่อง ราคา 5,150,000 เหรียญไต้หวันจากบริษัทชูชิง แมชชีนเนอรี่ จำกัด ผู้ขายในประเทศสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน)ผู้ขายว่าจ้างจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งสินค้าดังกล่าวจากเมืองคีลุง ประเทศสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) มายังประเทศไทย โดยเรือเดินทะเลชื่อโคลัมบาผู้ซื้อเอาประกันภัยสินค้าในระหว่างการขนส่งไว้กับโจทก์ในวงเงิน5,262,157.57 บาท ต่อมาวันที่ 22 พฤศจิกายน 2533 เรือโคลัมบาเดินทางมาถึงประเทศไทย หลังจากขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือแล้ว ปรากฏว่าสินค้าที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหายบางส่วนเนื่องจากการขนส่งต้องส่งเครื่องจักรกลับไปซ่อมที่โรงงานของผู้ผลิต เสียค่าซ่อมและค่าขนส่งรวมเป็นเงิน 2,247,912 บาท หักค่าซากเป็นเงิน 650,000 บาท คงเหลือความเสียหาย 1,597,912 บาท โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาประกันภัยในจำนวนเงินดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อไปแล้ว โจทก์จึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิตามกฎหมายโจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสองแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,597,912 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะผู้กระทำการแทนไม่ใช่กรรมการผู้มีอำนาจ การแต่งตั้งทนายความจึงไม่ชอบ จำเลยที่ 2 ไม่ใช่ผู้ร่วมขนส่งกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 เป็นเพียงตัวแทนในการทำพิธีการเรือเท่านั้น ความเสียหายเกิดจากเหตุสุดวิสัย ผู้ซื้อได้รับสินค้าไปโดยไม่อิดเอื้อน จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดและโจทก์เรียกค่าเสียหายสูงเกินความจริง ขอให้ยกฟ้อง
ในการนัดสืบพยานโจทก์นัดแรก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้หมายแจ้งวันนัดให้จำเลยที่ 1 และทนายจำเลยที่ 2 ทราบ ไม่มีผู้รับให้ปิดหมายให้โจทก์นำส่งภายใน 7 วัน ต่อมาพนักงานเดินหมายรายงานว่า ส่งหมายนัดสืบพยานโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยวิธีปิดหมายแล้ว ส่วนจำเลยที่ 2 โจทก์ไม่มาเสียค่าธรรมเนียมในการส่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องจำเลยที่ 2 จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2
โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ต่อไปแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 1,597,912 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาอุทธรณ์คำสั่งแล้ว พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษากลับ ให้โจทก์จัดการนำส่งหมายนัดสืบพยานโจทก์ให้จำเลยที่ 2 ภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดแล้วดำเนินกระบวนพิจารณาเฉพาะคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ต่อไป
ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 แล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยที่ 2มิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2533 บริษัทคาร์เปทอินเตอร์เนชั่นแนล ไทยแลนด์ จำกัด สั่งซื้อสินค้าพิพาทเครื่องทอพรมรวม4 เครื่อง ราคา 5,150,000 เหรียญไต้หวัน จากบริษัทชูชิง แมชชีนเนอรี่จำกัด ในประเทศสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ทั้งนี้ บริษัทชูชิง แมชชีนเนอรี่จำกัด ว่าจ้างจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาทจากเมืองคีลุง ประเทศสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) มายังประเทศไทย โดยจำเลยที่ 1 ใช้เรือเดินทะเลชื่อโคลัมบาเป็นพาหนะบรรทุกขนส่งสินค้าพิพาท และบริษัทคาร์เปทอินเตอร์เนชั่นแนล ไทยแลนด์ จำกัด เอาประกันภัยสินค้าพิพาทในระหว่างขนส่งไว้กับโจทก์ในวงเงิน 5,262,157.57 บาท ต่อมาวันที่ 22 พฤศจิกายน2533 เรือโคลัมบาเดินทางมาถึงท่าเรือกรุงเทพและได้มีการขนถ่ายสินค้าลงจากเรือโคลัมบานำไปเก็บไว้ในโรงพักสินค้าหมายเลข 9 ของการท่าเรือแห่งประเทศไทยแล้วปรากฏว่ามีสินค้าพิพาทบางส่วนเสียหาย บริษัทคาร์เปทอินเตอร์เนชั่นแนล ไทยแลนด์ จำกัด เรียกร้องค่าเสียหายจากโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัย โจทก์จ่ายเงินให้บริษัทคาร์เปท อินเตอร์เนชั่นแนล ไทยแลนด์จำกัด 1,597,912 บาท จึงเข้ารับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกค่าเสียหาย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการแรกว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ร่วมขนส่งสินค้าพิพาทกับจำเลยที่ 1 อันเป็นการขนส่งหลายคนหลายทอดหรือไม่เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 618 ที่บัญญัติว่า”ถ้าของนั้นได้ส่งไปโดยมีผู้ขนส่งหลายคนหลายทอดท่านว่าผู้ขนส่งทั้งนั้นจะต้องรับผิดร่วมกันในการสูญหาย บุบสลาย หรือส่งชักช้า” ซึ่งโดยความหมายของข้อความที่ว่า “ได้ส่งไปโดยมีผู้ขนส่งหลายคนหลายทอด” นั้น ต้องปรากฏว่าแต่ละคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับของหรือสินค้าที่ถูกขนส่งนั้นเป็นผู้มีหน้าที่โดยตรงในการนำสินค้าจากที่แห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่งด้วยการรับขนส่งกันเป็นช่วง ๆตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางจึงจะถือว่าเป็นการขนส่งหลายคนหลายทอดลำพังแต่ผู้นั้นเป็นเพียงตัวแทนของผู้ขนส่งทอดใดทอดหนึ่ง เพื่อทำธุรกรรมทางด้านเอกสารเกี่ยวกับสินค้า หรือปฏิบัติพิธีการทางศุลกากรในการนำเรือเข้าเทียบท่า แจ้งกำหนดเรือบรรทุกสินค้าเข้าให้เจ้าของสินค้าทราบเพื่อจะได้มารับสินค้าเท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่าได้เข้าไปเกี่ยวข้องขนส่งสินค้าด้วยแล้ว ก็ไม่อาจที่จะถือได้ว่าตัวแทนเรือดังกล่าวเป็นผู้ร่วมขนส่งหลายคนหลายทอดได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 618 ดังเช่นที่โจทก์ฎีกา ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ได้มอบหมายให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดจิรพัฒน์เป็นตัวแทนขออนุญาตทำการบรรทุกและขนถ่ายและขอเครื่องมือทำการขนถ่ายสินค้าพิพาทลงจากเรือโคลัมบา จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนเกี่ยวข้องในการขนถ่ายสินค้าพิพาทแล้วนั้น เห็นว่า เรือโคลัมบาที่จำเลยที่ 1 ใช้บรรทุกขนส่งสินค้าพิพาทได้เดินทางมาถึงท่าเรือกรุงเทพซึ่งเป็นท่าเรือปลายทางในการขนส่งสินค้าแล้ว การขนถ่ายสินค้าพิพาทลงจากเรือโคลัมบาเพื่อนำไปเก็บไว้ที่โรงพักสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทยนั้น จากคำเบิกความของนายนพดล มีสุขเสมอ พยานโจทก์ซึ่งเคยเป็นพนักงานของโจทก์ตำแหน่งหัวหน้าส่วนรับประกันภัยทางทะเลและขนส่งที่ตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 2 ได้ความว่า เมื่อเรือเข้าเทียบท่าที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยแล้วนายเรือดังกล่าวเป็นผู้สั่งให้พนักงานของเรือขนถ่ายสินค้าโดยต้องขนถ่ายสินค้าและมอบสินค้าให้แก่การท่าเรือแห่งประเทศไทย และที่นายศราวุธ ปริวัติธรรม พยานโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานของการท่าเรือแห่งประเทศไทยเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 2 ว่า เมื่อเรือสินค้าต่างประเทศเข้าเทียบท่าเรือแล้วพนักงานของเรือมีหน้าที่ขนถ่ายสินค้าเพื่อนำไปเก็บไว้ที่โรงพักสินค้าเองย่อมแสดงว่าการขนถ่ายสินค้าพิพาทลงจากเรือโคลัมบาเพื่อนำไปเก็บที่โรงพักสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทยนั้นเป็นหน้าที่ของเรือโคลัมบาหรือจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 2 ได้รับจ้างขนถ่ายสินค้าพิพาทลงจากเรือโคลัมบาเพื่อนำไปเก็บไว้ที่โรงพักสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทยแต่อย่างใด ซึ่งตามคำเบิกความของนายศราวุธและนายพิระ รัตนนันท์ พยานจำเลยที่ 2 ได้ความว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิจะเข้าไปรับขนถ่ายสินค้าในเขตการท่าเรือแห่งประเทศไทยได้เนื่องจากจำเลยไม่ได้จดทะเบียนเป็นผู้รับขนถ่ายสินค้าไว้กับการท่าเรือแห่งประเทศไทยที่เรียกกันว่า “สตีวีโด” (STEVEDORE) และปรากฏข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดจิรพัฒน์เป็นผู้ขนถ่ายสินค้าพิพาทลงจากเรือโคลัมบานำไปเก็บไว้ที่โรงพักสินค้า 9 ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ตามใบแจ้งขอทำการบรรทุกและขนถ่ายสินค้าเอกสารหมาย จ.22 ข้อ 1 ระบุไว้ว่า “เรือลำนี้ซึ่งบริษัทBANGKOK SHIPPING เป็นตัวแทนของเรือได้ให้บริษัทผู้ประกอบกิจการห้างหุ้นส่วนจำกัดจิรพัฒน์เป็นผู้ทำการบรรทุกหรือขนถ่ายสินค้า” เป็นการแสดงฐานะของจำเลยที่ 2 ไว้ชัดว่าเป็นเพียงตัวแทนเรือโคลัมบาที่ตกลงให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดจิรพัฒน์เข้าทำการขนถ่ายสินค้าพิพาทลงจากเรือโคลัมบานำไปเก็บที่โรงพักสินค้าหมายเลข 9 ของการท่าเรือแห่งประเทศไทยประกอบกับนายเจริญ ทรงเจริญ ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า เป็นผู้ไปดูแลการขนถ่ายสินค้าลงจากเรือโคลัมบา ไม่มีหน้าที่ควบคุม กรรมการผู้ขนถ่ายสินค้าพิพาทเป็นลูกจ้างของห้างหุ้นส่วนจำกัดจิรพัฒน์ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เจ้าของเรือโคลัมบาเป็นผู้จ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดจิรพัฒน์โดยสั่งให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้จ่ายแทนทั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดจิรพัฒน์เป็นผู้เสียค่าเช่าเครื่องมือและอุปกรณ์การขนถ่ายสินค้า จำเลยที่ 2 ไม่มีหน้าที่จ่าย ดังนี้ ย่อมเห็นได้ว่าเรือโคลัมบาเป็นผู้ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดจิรพัฒน์เป็นผู้ขนถ่ายสินค้าพิพาทลงจากเรือโคลัมบานำไปเก็บไว้ที่โรงพักสินค้าหมายเลข 9 ของการท่าเรือแห่งประเทศไทยไม่ใช่จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับจ้างจากเรือโคลัมบา จำเลยที่ 2 เป็นเพียงตัวแทนของเรือโคลัมบาไปว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดจิรพัฒน์มาขนถ่ายสินค้าลงจากเรือโคลัมบาเท่านั้น ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยข้อเท็จจริงต้องกันว่าจำเลยที่ 2เป็นเพียงตัวแทนเรือโคลัมบาดำเนินการแจ้งการมาถึงของเรือให้ผู้รับตราส่งทราบเพื่อที่จะได้นำใบตราส่งมาเปลี่ยนเป็นใบปล่อยสินค้า ติดต่อกับหน่วยงานต่าง ๆ คือ การท่าเรือแห่งประเทศไทย กรมเจ้าท่า กองตรวจคนเข้าเมืองกรมศุลกากร อันเป็นงานเกี่ยวกับเอกสารหรือติดต่อกับบุคคลต่าง ๆ แทนจำเลยที่ 1 เท่านั้น มิใช่มีลักษณะเป็นการเข้าร่วมขนส่งสินค้าหลายคนหลายทอดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 618 แล้วพิพากษายกฟ้องโดยไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาอื่นของโจทก์ต่อไปอีกนั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน