คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5526/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ ส. ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการประเภทต้องร่วมรับผิดโดยไม่จำกัดจำนวนของจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้บางส่วนให้โจทก์ภายหลังจากที่หนี้ขาดอายุความแล้วแทนจำเลยที่ 1 อันเป็นการละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความ ย่อมมีผลถึง ส. ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการที่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในหนี้นั้นด้วย ส. จึงไม่อาจยกอายุความขึ้นต่อสู้เพื่อให้ตนพ้นความรับผิดได้ ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ถูกฟ้องให้รับผิดในหนี้ดังกล่าวในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดกของ ส. จำเลยที่ 2 จึงยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ไม่ได้กรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุคคลภายนอกตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 192 บัญญัติไว้ การละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความ ไม่จำต้องทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ เพียงแต่แสดงเจตนาให้เห็นว่าเป็นการละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความเท่านั้นก็เป็นการเพียงพอแล้ว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีนายสุชาติคำนันท์ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายสุชาติ จำเลยที่ 1 ซื้อไม้แปรรูปไปจากโจทก์หลายครั้ง แต่ไม่ชำระหนี้ ต่อมานายสุชาติได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้และได้นำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ 2 ครั้ง แล้วเพิกเฉย จำเลยที่ 1 ยังค้างชำระหนี้โจทก์เป็นเงิน 288,485 บาท ต่อมานายสุชาติตาย โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสองแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 และนายสุชาติไม่เคยซื้อไม้แปรรูปจากโจทก์ นายสุชาติไม่เคยทำหนังสือรับสภาพหนี้ ไม่เคยชำระหนี้ให้โจทก์ และฟ้องโจทก์ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นสั่งงดชี้สองสถาน และวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้นว่า แม้จะได้ความจริงตามคำฟ้องของโจทก์ คดีโจทก์ก็ขาดอายุความแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า แม้หนี้ที่โจทก์ฟ้องจะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่ถ้าข้อเท็จจริงได้ความตามคำฟ้องของโจทก์ว่าภายหลังจากล่วงเลยกำหนดอายุความแล้ว นายสุชาติได้นำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์บางส่วนของหนี้จำนวนตามฟ้อง แสดงให้เห็นว่านายสุชาติมีเจตนาที่จะชำระหนี้ให้โจทก์ ย่อมถือได้ว่านายสุชาติได้ละเสียแล้วซึ่งประโยชน์แห่งอายุความ จำเลยย่อมไม่มีสิทธิยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์และต้องรับผิดชำระหนี้ที่ค้างให้โจทก์ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด โดยมีนายสุชาติเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการประเภทต้องร่วมรับผิดไม่จำกัดจำนวนในบรรดาหนี้สิ้นของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของนายสุชาติ เมื่อนายสุชาติชำระหนี้ภายหลังจากหนี้ขาดอายุความแล้วแทนจำเลยที่ 1 อันเป็นการละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความ ย่อมมีผลถึงนายสุชาติซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการที่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในหนี้นั้นด้วย นายสุชาติจึงไม่อาจยกอายุความขึ้นต่อสู้เพื่อให้ตนพ้นความรับผิดได้ ดังนั้นจำเลยที่ 2 ที่ถูกฟ้องให้รับผิดในหนี้ของนายสุชาติดังกล่าวในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสุชาติจึงจะยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ไม่ได้เพราะจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสุชาติมิใช่เป็นบุคคลภายนอกตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 192 บัญญัติไว้ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่านายสุชาติมิได้ทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อไว้ในการชำระหนี้บางส่วนให้แก่โจทก์ จึงถือไม่ได้ว่านายสุชาติได้ละเสียแล้วซึ่งประโยชน์แห่งความ ศาลฎีกาเห็นว่าการละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 192 มิได้กำหนดไว้ว่าจะต้องทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญแต่อย่างใด ดังนั้น เพียงแต่แสดงเจตนาให้เห็นว่าเป็นการละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความเท่านั้นก็เข้าองค์ประกอบตามมาตรา 192 ดังกล่าวแล้ว
พิพากษายืน.

Share