คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5526/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยกู้เงินผู้เสียหายและนำเช็คที่มีแต่ลายมือชื่อของจำเลยโดยมิได้ลงจำนวนเงินและวันที่มามอบให้ ผู้เสียหายทราบว่าเช็คที่จะดำเนินคดีอาญาได้ต้องลงรายการให้ครบ จึงให้จำเลยลงรายการใน เช็ค แต่จำเลยเขียนหนังสือได้เพียงลงชื่อของตนเอง ผู้เสียหายก็ให้คนเขียนตัวอย่างให้จำเลยเขียนครบรายการในเช็คเช่นนี้ การที่จำเลยเขียนเช็คดังกล่าว ก็เพราะผู้เสียหายต้องการจะได้หลักฐานในการดำเนินคดีทางอาญาแก่จำเลยเมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ที่กู้ยืม มิใช่จำเลยมีเจตนาออกเช็คเพื่อชำระหนี้เงินกู้จำเลยจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2497 มาตรา 3

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 จำเลยให้การปฏิเสธศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้องลงโทษจำคุก 4 เดือนจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยได้กระทำความผิดดังโจทก์ฟ้องหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเบิกความว่าเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2529 จำเลยมาขอกู้ยืมเงินผู้เสียหาย90,000 บาท โดยตกลงจะนำมาชำระคืนในวันที่ 18 มกราคม 2529 ในวันนั้นจำเลยได้ออกเช็คมอบให้ผู้เสียหาย 3 ฉบับ เป็นเช็คที่มีแต่ลายมือชื่อของจำเลยไม่มีจำนวนเงินและวันที่ เนื่องจากผู้เสียหายทราบจากธนาคารว่าเช็คตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไปจะต้องลงรายการให้ครบจึงจะดำเนินคดีอาญาได้ ผู้เสียหายจึงขอให้จำเลยกรอกรายการต่าง ๆให้ครบ จำเลยกลับบอกว่าเซ็นได้แต่ชื่อ ผู้เสียหายจึงให้คนหลายคนมาช่วยเขียนตัวหนังสือเป็นตัวอย่างให้จำเลยดู แล้วให้จำเลยเขียนลงไปในเช็คของจำเลยทีละตัวโดยให้จำเลยกรอกรายการลงไปในเช็คฉบับเดียวเป็นจำนวนเงิน 90,000 บาท ส่วนเช็คอีก 2 ฉบับนั้นผู้เสียหายได้คืนให้แก่จำเลยไป จำเลยกรอกรายการต่าง ๆ เสร็จในวันเดียวกันนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จากคำเบิกความของผู้เสียหายดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการที่จำเลยเขียนเช็คตามฟ้องนั้นเป็นเพราะผู้เสียหายต้องการจะได้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีทางอาญากับจำเลยเมื่อจำเลยไม่ยอมชำระหนี้เงินกู้ที่จำเลยกู้ไปจากผู้เสียหาย มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยมีเจตนาออกเช็คตามฟ้องเพื่อเป็นการชำระหนี้เงินกู้ให้แก่ผู้เสียหายแต่อย่างใด จำเลยจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2497 มาตรา 3 ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share