คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5515/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้ครองสังหาริมทรัพย์อยู่ในขณะถูกทำละเมิดมีสิทธิรับชำระหนี้ค่าสินไหมทดแทนจากผู้ทำละเมิดได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 441 ย่อมมีสิทธิที่จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับการรับชำระหนี้ค่าสินไหมทดแทนได้เช่นกัน การที่จำเลยขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่อชนรถยนต์ที่ ส.ขับ และได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างจำเลยกับ ส.ขึ้น สัญญานั้นย่อมมีผลบังคับได้ แม้ส.จะไม่ใช่เจ้าของรถยนต์คันที่ขับและย่อมทำให้สิทธิเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้สละแล้วนั้นระงับสิ้นไปตาม มาตรา 852 โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันที่ ส. ขับซึ่งได้ซ่อมรถยนต์ไปแล้วจึงไม่อาจรับช่วงสิทธิ เรียกร้องจากจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขับรถยนต์กระบะ หมายเลขทะเบียน ม-2665นครปฐม ไปตามถนนในหมู่บ้านเฉลิมสุขนิเวศน์ แขวงลาดยาวเขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร โฉมหน้าจากปากซอยเฉลิมสุขมาจนถึงสี่แยกในหมู่บ้าน ขณะเดียวกันนายสมเกียรติ โสตถิวรนันทน์ขับรถคันหมายเลขทะเบียน 5ซ-5000 กรุงเทพมหานคร ซึ่งโจทก์รับประกันภัยไว้ออกจากถนนในหมู่บ้านมาถึงสี่แยกดังกล่าวข้างต้นจำเลยขับรถด้วยความประมาท กล่าวคือ เมื่อถึงสี่แยกจำเลยต้องชะลอความเร็วลง ให้รถคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ซึ่งถึงสี่แยกก่อนและอยู่ด้านซ้ายของจำเลยผ่านพ้นไปก่อน แต่จำเลยไม่กระทำเป็นเหตุให้รถคันที่จำเลยขับชนรถคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย โจทก์ได้ทำการซ่อมแซมรถคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้เป็นเงินจำนวน 70,382 บาท โจทก์จึงรับช่วงสิทธิมาโจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระค่าเสียหาย แต่จำเลยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2533 จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า หลังเกิดเหตุแล้วนายสมเกียรติกับจำเลยไปที่สถานีตำรวจนครบาลพหลโยธินและตกลงกันได้ โดยต่างฝ่ายต่างไม่เรียกร้องค่าเสียหายต่อกันและเจ้าพนักงานตำรวจลงบันทึกประจำวันเกี่ยวกับคดีทั้งสองฝ่ายต่างได้ลงลายมือชื่อต่อหน้าพนักงานสอบสวน สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายของนายสมเกียรติที่มีต่อจำเลยจึงระงับไป โจทก์ไม่มีสิทธิรับช่วงสิทธิใด ๆ อีก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ฎีกาว่านายสมเกียรติเป็นเพียงผู้ขับรถยนต์เท่านั้นไม่ใช่เจ้าของรถยนต์จึงไม่มีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความได้ คดีนี้โจทก์ฎีกาได้แต่เฉพาะข้อกฎหมายศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238ประกอบมาตรา 247 ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า นายสมเกียรติเป็นผู้ขับรถยนต์คันที่โจทก์เป็นผู้รับประกันภัย ในขณะเฉี่ยวชนกับรถยนต์คันที่จำเลยขับ นายสมเกียรติจึงเป็นผู้ครอบครองและขับรถยนต์ซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์ในขณะเกิดเหตุ หากจำเลยรับผิดและใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายสมเกียรติจำเลยย่อมหลุดพ้นไปเพราะการที่ได้ใช้ให้เช่นนั้น แม้บุคคลภายนอกจะเป็นเจ้าของทรัพย์เว้นแต่สิทธิของบุคคลภายนอกเช่นนั้นจะเป็นที่รู้อยู่แก่ตนเองหรือมิได้รู้เพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 441 และผลของมาตรา 441ที่บัญญัติให้ผู้ทำละเมิดเป็นอันหลุดพ้นจากหนี้ที่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หากว่าได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลซึ่งเป็นผู้ครองสังหาริมทรัพย์อยู่ในขณะถูกทำละเมิดนี้เอง ย่อมแสดงให้เห็นว่า ผู้ครองสังหาริมทรัพย์อยู่ในขณะถูกทำละเมิดมีสิทธิรับชำระหนี้ค่าสินไหมทดแทนจากผู้ทำละเมิดได้ แม้กระทั่งผู้ครองสังหาริมทรัพย์นั้นจะไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ก็ตาม เมื่อมีสิทธิที่จะรับชำระหนี้ได้ก็ย่อมที่จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับการรับชำระหนี้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีเช่นนี้ได้เช่นกันดังนี้สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างจำเลยกับนายสมเกียรติย่อมมีผลบังคับได้ แม้นายสมเกียรติจะไม่ใช่เจ้าของรถยนต์คันที่ขับก็ตาม และผลแห่งสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมทำให้สิทธิเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละแล้วนั้นระงับสิ้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 โจทก์จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะรับช่วงสิทธิได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share