คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5512/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กองป้องกันและปราบปราม กรมศุลกากร มีหน้าที่ตรวจสอบสินค้านำเข้าส่งออกเพื่อเก็บภาษีอากร และปราบปรามผู้ลักลอบนำสินค้าเข้าหรือส่งสินค้าออกโดยหลีกเลี่ยงภาษีอากร รวมทั้งมีอำนาจยึดกักตรวจสินค้าที่มีเหตุสงสัยว่าจะนำเข้ามาในราชอาณาจักรหรือส่งออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย การตรวจปล่อยสินค้ากรณีขอผ่อนผันใบสุทธินำกลับและยกเว้นอากรนั้น หากมีเหตุหรือพฤติการณ์แวดล้อมเป็นที่สงสัยอันควรเชื่อว่าสินค้านั้นไม่ใช่สินค้ารายเดียวกับที่ส่งออก หรือเป็นสินค้าที่ถูกลักลอบนำเข้าโดยหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรเจ้าหน้าที่กองป้องกันและปราบปรามก็มีอำนาจโดยชอบที่จะกักสินค้านั้นไว้เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัติศุลกากรต่อไปได้ โจทก์ได้รับการผ่อนผันใบสุทธินำกลับและยกเว้นอากรขาเข้าแล้วแต่ตามพฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุอันควรให้เจ้าหน้าที่กองป้องกันและปราบปรามของจำเลยสงสัย และน่าเชื่อว่าสินค้าที่โจทก์นำกลับเข้ามาและขอผ่อนผันใบสุทธินำกลับไม่ใช่สินค้ารายเดียวกับสินค้าที่ส่งออกไปแต่เป็นสินค้าที่ใช้วิธีผ่อนผันใบสุทธินำกลับหลีกเลี่ยงภาษีอากรขาเข้า เจ้าหน้าที่กองป้องกันและปราบปรามของจำเลยจึงกักสินค้าดังกล่าวของโจทก์ไว้ตรวจสอบ ทั้งได้ตรวจสอบสินค้าดังกล่าวถึง2 ครั้ง ภายในเวลาอันสมควรแล้ว เช่นนี้ จำเลยจึงมีสิทธิและอำนาจโดยชอบที่จะสั่งไม่ปล่อยสินค้านั้นแก่โจทก์ได้ การกระทำของจำเลยมิใช่เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ จึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ส่งสินค้าใบเลื่อยจำนวน 17 หีบห่อ ไปให้ผู้ซื้อที่ประเทศสิงคโปร์ โดยโจทก์ได้ยื่นใบขนสินค้าขาออก และเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ตรวจสอบพิจารณายกเว้นอากรให้โจทก์ตามกฎหมายแล้ว ต่อมาผู้ซื้อขอส่งสินค้าดังกล่าวทั้งหมดคืน โจทก์จึงยื่นคำร้องขอผ่อนผันใบสุทธินำสินค้ากลับเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขอรับการยกเว้นอากรขาเข้า กองพิธีการและประเมินอากรได้ส่งการผ่อนผันใบสุทธินำกลับและยกเว้นอากรขาเข้าให้แก่โจทก์ โจทก์ได้นำเอกสารไปยังกองตรวจสินค้าขาเข้าเพื่อทำการตรวจและปล่อยสินค้าให้โจทก์แล้ว แต่เจ้าหน้าที่กองป้องกันและปราบปรามตั้งข้อสงสัยและหน่วงเหนี่ยวไม่ยอมตรวจปล่อยสินค้าของโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายขอให้บังคับจำเลยปล่อยสินค้าดังกล่าวแก่โจทก์ถ้าไม่สามารถส่งมอบสินค้าได้ให้ใช้ราคาเป็นเงิน 684,137.50 บาท เป็นค่าเสียหายอีก190,000 บาท
จำเลยให้การว่า โจทก์ยังไม่ได้รับการผ่อนผันใบสุทธินำเข้าและยกเว้นอากรขาเข้าตามกฎหมาย เพราะสินค้าของโจทก์จะต้องผ่านการเปิดหีบห่อตรวจสอบและพิสูจน์ว่าเป็นสินค้ารายเดียวกับที่โจทก์ส่งออกไม่มีการเปลี่ยนลักษณะและรูปร่าง การผ่อนผันใบสุทธินำกลับและยกเว้นอากรของกองพิธีการและประเมินอากรเป็นเพียงการปฏิบัติการเบื้องต้นเพื่อขอยกเว้นภาษีอากรเท่านั้น สินค้าของโจทก์มิใช่สินค้ารายเดียวกับที่โจทก์ส่งออกไป จำเลยจึงมีอำนาจที่จะเก็บสินค้าของโจทก์ไว้เพื่อตรวจพิสูจน์ได้ จำเลยได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบสินค้าของโจทก์แล้วมีมติว่ามิใช่เป็นสินค้าที่โจทก์ส่งออกไปจำเลยจึงไม่สามารถปล่อยสินค้าของโจทก์ออกไป และไม่ต้องชดใช้ราคาค่าเสียหายหากมีก็ไม่เกิน 10,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยปล่อยสินค้าตามฟ้องแก่โจทก์ ถ้าไม่สามารถส่งมอบสินค้าได้ก็ให้ใช้ราคา กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบรับกันฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่าเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2527 โจทก์ส่งสินค้าใบเลื่อย 17 หีบห่อ จำนวน 53,500 ปื้น น้ำหนัก 1,385 กิโลกรัมราคา 684,137.50 บาท ไปให้บริษัท โกลเด็นวีล ฮาร์ดแวร์ แอนด์แมชชินเนอรี่ จำกัด ที่ประเทศสิงคโปร์ โดยเรือปิกาซุส ไพร์ด เที่ยวขาออกวันที่ 10 กันยายน 2527 โจทก์ยื่นใบขนสินค้าขาออกและแบบแสดงรายการการค้าลงวันที่ 30 สิงหาคม 2527 เพื่อปฏิบัติการทางศุลกากร และโจทก์ได้รับยกเว้นอากรเลขที่ ข 2598/30 สิงหาคม 2527เมื่อสินค้าของโจทก์ถึงประเทศสิงคโปร์แล้ว บริษัทที่ได้รับสินค้าได้ส่งสินค้าใบเลื่อยทั้ง 17 หีบห่อ กลับคืนมาถึงประเทศไทย ในวันที่18 มิถุนายน 2528 โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอผ่อนผันใบสุทธินำกลับและยกเว้นอากรขาเข้าสินค้าของโจทก์ดังกล่าว กองพิธีการและประเมินอากรของจำเลยได้ผ่อนผันใบสุทธินำกลับและยกเว้นอากรให้ แต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุน กองป้องกันและปราบปรามของจำเลยตรวจสอบสินค้าของโจทก์แล้วไม่ยอมสั่งปล่อยสินค้าให้โจทก์ คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่าการขอผ่อนผันใบสุทธินำกลับและยกเว้นอากรขาเข้าตามเอกสารหมาย จ.8 มีผลสมบูรณ์อันทำให้จำเลยต้องสั่งปล่อยสินค้าใบเลื่อย 17 หีบห่อ และต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า กองป้องกันและปราบปรามหน่วยงานของจำเลยมีหน้าที่ตรวจสอบสินค้านำเข้าส่งออกเพื่อเก็บภาษีอากรและปราบปรามผู้ลักลอบนำสินค้าเข้าหรือส่งสินค้าออกโดยหลีกเลี่ยงภาษีอากร รวมทั้งมีอำนาจยึดกักตรวจสินค้าที่มีเหตุสงสัยว่าจะนำเข้ามาในราชอาณาจักรหรือส่งออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย การตรวจปล่อยสินค้ากรณีขอผ่อนผันใบสุทธินำกลับและยกเว้นอากรนั้น หากมีเหตุหรือพฤติการณ์แวดล้อมเป็นที่สงสัยอันควรเชื่อว่าสินค้านั้นไม่ใช่สินค้ารายเดียวกับสินค้าที่ส่งออกหรือเป็นสินค้าที่ถูกลักลอบนำเข้าโดยหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร เจ้าหน้าที่กองป้องกันและปราบปรามของจำเลยก็มีอำนาจโดยชอบที่จะกักสินค้านั้นไว้เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัติศุลกากรต่อไปได้ พฤติการณ์ต่าง ๆของโจทก์ปรากฏข้อเท็จจริงว่า โจทก์และนายไพฑูรย์ จรัลเลิศเรืองชัยซึ่งเป็นพี่ของหุ้นส่วนหุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์ได้เคยขอผ่อนผันใบสุทธินำกลับและยกเว้นอากรขาเข้าสินค้าใบเลื่อยยี่ห้อ ECLIPSEกลับจากประเทศสิงคโปร์ รวมทั้งครั้งเกิดเหตุคดีนี้เป็นจำนวนถึง 4ครั้ง โดยโจทก์ขอผ่อนผัน 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม2527 ผู้รับสินค้าทางประเทศสิงคโปร์ ไม่รับส่งกลับคืนมา โจทก์ขอผ่อนผันใบสุทธินำกลับเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2528 ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2527 ผู้รับสินค้าทางประเทศสิงคโปร์ไม่รับและส่งคืน โจทก์ขอผ่อนผันใบสุทธินำกลับเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2528 อันเป็นเหตุการณ์ในคดีนี้ และก่อนหน้านี้ห้างหุ้นส่วนจำกัดไพฑูรย์แมชชินเนอรี่ มีนายไพฑูรย์ จรัลเลิศเรืองชัย ซึ่งเป็นพี่ของหุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์ในคดีนี้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการเคยส่งสินค้าใบเลื่อยไปขายที่ประเทศสิงคโปร์ 2 ครั้ง ทางประเทศสิงคโปร์ไม่รับส่งกลับมาห้างหุ้นส่วนจำกัดไพฑูรย์ แมชชินเนอรี่ได้ขอผ่อนผันใบสุทธินำกลับทั้ง 2 ครั้ง ย่อมเห็นได้ว่า สินค้าใบเลื่อยยี่ห้อECLIPSE ส่งไปขายและถูกปฏิเสธคืนกลับมาจากประเทศสิงคโปร์ทั้ง 4ครั้ง โดยมีเหตุผลอย่างเดียวกัน อันเป็นพฤติการณ์ที่ส่อแสดงว่าโจทก์อาจสมรู้กับผู้ซื้อที่ประเทศสิงคโปร์ดำเนินการหลีกเลี่ยงภาษีอากรมาก่อนหลายครั้งแล้ว ปรากฏว่าสินค้าใบเลื่อยยี่ห้อECLIPSE ในคดีนี้มีถิ่นกำเนิดที่ประเทศอังกฤษ เป็นสินค้าที่ต้องเสียภาษีอากรขาเข้าในอัตราสูง จึงเป็นสินค้าที่มีการลักลอบนำเข้าเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีขาเข้ามาในราชอาณาจักรจำนวนมาก บริษัทโกลเด็นวีล ฮาร์ดแวร์ แอนด์ แมชชินเนอรี่ จำกัด ที่ประเทศสิงคโปร์ผู้สั่งซื้อสินค้านี้จากโจทก์ในประเทศไทยก็สามารถสั่งซื้อโดยตรงจากประเทศอังกฤษ ซึ่งจะเป็นการสะดวกและมีราคาถูกกว่าที่จะซื้อผ่านจากโจทก์ในประเทศไทย เพราะต้องเสียภาษีขาเข้าผ่านประเทศไทยและเสียค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทั้งปรากฏหลักฐานว่าเมื่อ พ.ศ. 2524 และพ.ศ. 2527 ห้างหุ้นส่วนจำกัดไพฑูรย์ แมชชินเนอรี่ และห้างหุ้นส่วนจำกัดธีระวัฒน์ เคยสั่งซื้อใบเลื่อยยี่ห้อเดียวกันนี้จากบริษัทโกลเด็นวีล ฮาร์ดแวร์ แอนด์ แมชชินเนอรี่ จำกัด อีกด้วย ฉะนั้น การที่โจทก์อ้างว่าบริษัทโกลเด็นวีล ฮาร์ด แอนด์ แมชชินเนอรี่ จำกัดสั่งซื้อสินค้านี้แล้วขอส่งกลับคืนมาเพื่อขอยกเว้นภาษีขาเข้าโดยไม่มีเหตุผลพิเศษอื่นใด จึงเป็นข้อพิรุธ ตามพฤติการณ์แห่งคดีนี้มีเหตุอันสมควรให้เจ้าหน้าที่กองป้องกันและปราบปรามของจำเลยสงสัยและน่าเชื่อว่าสินค้าที่โจทก์นำกลับเข้ามาและขอผ่อนผันใบสุทธินำกลับไม่ใช่สินค้ารายเดียวกับสินค้าที่ส่งออกไป แต่เป็นสินค้าที่ใช้วิธีการขอผ่อนผันใบสุทธินำกลับหลีกเลี่ยงภาษีอากรขาเข้าเจ้าหน้าที่กองป้องกันและปราบปรามของจำเลยจึงกักสินค้าในเลื่อยทั้ง 17 หีบห่อ ของโจทก์ไว้ตรวจสอบ ทั้งได้ตรวจสอบสินค้าดังกล่าวถึง 2 ครั้ง ภายในเวลาอันสมควรแล้ว ฉะนั้น การขอผ่อนผันใบสุทธินำกลับและยกเว้นอากรขาเข้ายังไม่มีผลสมบูรณ์ จำเลยจึงมีสิทธิและอำนาจโดยชอบที่จะสั่งไม่ปล่อยสินค้านั้นแก่โจทก์ การกระทำของจำเลยมิใช่เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ จำเลยไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ตามฟ้อง
พิพากษายืน.

Share