คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 551/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้ตายเคยหลอกล่วงเกินจำเลยทางประเวณีมาก่อน แล้วผู้ตายยังด่าว่าใส่ความจำเลยหาว่าจำเลยเป็นคนชั่วช้าในทางประเวณีต่อหน้าสามีของจำเลยอีก เช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยใช้ปืนยิงผู้ตายไปในขณะนั้น 6 นัดถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นด้วยบันดาลโทสะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๑๑ เวลากลางวัน จำเลยมีอาวุธปืนและกระสุน ๖ นัดใช้ยิงได้ไว้ในครอบครองโดยไม่รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่แล้วใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงสิบโทเจริญ จรูญฉาย ถึงแก่ความตายด้วยเจตนาฆ่าเหตุเกิดที่ตำบลโพธิ์กลาง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๗๒ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๑๐ มาตรา ๓ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ และขอให้ริบปืน ปลอกกระสุนและหัวกระสุนของกลาง
จำเลยให้การรับว่ายิงผู้ตายจริงเพราะบันดาลโทสะ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๗๒ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๑๐ มาตรา ๓ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ลงโทษตามกระทงหนักในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ประกอบด้วยมาตรา ๗๒ จำคุก๑ ปี มีเหตุสมควรจึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้ภายในกำหนด ๕ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ของกลางริบ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การกระทำของจำเลยไม่ใช่กระทำด้วยบันดาลโทสะพิพากษาแก้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ซึ่งเป็นกระทงหนักจำคุก ๑๕ ปี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงเชื่อว่า ผู้ตายคงได้พูดสบประมาทใส่ความจำเลยดังที่จำเลยนำสืบมาจนกลั้นโทสะไว้ไม่ได้ จำเลยจึงได้ยิงเอา การที่จำเลยยิงมากนัดนั้นไม่ใช่เป็นการที่จำเลยมีเจตนาหมายมาดมาล่วงหน้าที่จะฆ่าผู้ตายให้ได้ โดยนัยดังที่ศาลอุทธรณ์มีความเห็นมา แต่เห็นว่าเมื่อจำเลยถูกด่าว่าถูกใส่ความหาว่าเป็นคนชั่วช้าในทางประเวณีต่อหน้าสามีของตนที่ตนกลัวว่าเขาจะทอดทิ้งตน ทั้งจำเลยก็ห้ามผู้ตายให้หยุดพูดไม่ได้ จึงได้เอาปืนยิงเอาเพราะเกิดโทสะ เมื่อยิงไปนัดแรกแล้วอำนาจโทสะของจำเลยพลุ่งขึ้นมายืนจึงได้ยิงออกไปอีกหลายนัดจนเจ้าตัวเองก็ไม่รู้ว่ายิงกี่นัด ดังนี้ เป็นวิสัยธรรมดาที่บุคคลย่อมจะเป็นไปได้เช่นนั้น การด่าว่าใส่ความของผู้ตายต่อหน้าจำเลยและสามีจำเลยดังนั้นถือได้ว่าเป็นการกดขี่ข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การทำความผิดของจำเลยจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๒ ที่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ที่ศาลชั้นต้นกำหนดโทษ และรอการลงโทษจำเลยไว้นั้นเห็นว่าสมควรแล้ว
ศาลฎีกาพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า จำเลยมีความผิดให้ลงโทษและรอการลงโทษไว้ดังที่ศาลชั้นต้นพิพากษามาบังคับคดีไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

Share