คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5503/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประมวลรัษฎากร มาตรา 19 หาใช่บทบัญญัติเรื่องอายุความในการเรียกร้องให้ชำระค่าภาษีอากรไม่ แต่เป็นระยะเวลาให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกผู้ยื่นรายการมาไต่สวนในเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อว่ารายการที่ยื่นนั้นไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่บริบูรณ์ภายในกำหนด 5 ปี พ้นกำหนดนี้แล้วจะมีผลเพียงเจ้าพนักงานประเมินไม่มีอำนาจออกหมายเรียกตัวผู้ยื่นรายการมาไต่สวนหรือนำบัญชีหรือพยานหลักฐานอันควรแก่เรื่องมาแสดงได้เท่านั้นแต่สิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระค่าภาษีและเงินเพิ่มมีอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 167 เดิม การที่เจ้าพนักงานประเมินมิได้ออกหมายเรียกจำเลยมาไต่สวนหรือหมายเรียกพยานหรือให้จำเลยหรือพยานนำบัญชีพยานหลักฐานมาแสดง ภายในกำหนด 5 ปี ก็หาทำให้การประเมินภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรไม่ชอบไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง เอกสารสำเนาใบขนสินค้าขาออกที่ผู้ส่งออกยื่นต่อศุลกากรเมืองฮ่องกงเป็นสำเนาเอกสารที่ถ่ายจากต้นฉบับ เป็นเอกสารของทางราชการเมืองฮ่องกงซึ่งผู้ส่งสินค้าออกยื่นเอกสารดังกล่าวแจ้งการส่งออกต่อทางราชการเมืองฮ่องกง ว. รองกงสุลใหญ่ฝ่ายศุลกากรประจำเมืองฮ่องกงเป็นผู้ติดต่อขอรับเอกสารมาจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรเมืองฮ่องกง ส่งมาให้กองวิเคราะห์ราคา กรมศุลกากร ซึ่งต้นฉบับอยู่ที่ศุลกากรเมืองฮ่องกงแม้จะเป็นเอกสารลับของทางราชการเมืองฮ่องกงก็ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามมิให้รับฟัง ทั้งเป็นกรณีที่ไม่สามารถนำต้นฉบับมาได้โดยประการอื่นและเท่ากับศาลภาษีอากรกลางได้อนุญาตให้นำสำเนาเอกสารมาสืบได้แล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93(2) แม้จะเป็นภาพถ่ายสำเนาเอกสารที่ไม่มีผู้ลงชื่อรับรองสำเนาถูกต้องก็ตามก็รับฟังเอกสารดังกล่าวประกอบพยานบุคคลได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้เงินค่าภาษีอากรและเงินเพิ่มแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยได้ชำระภาษีไปครบถ้วนแล้วการประเมินของโจทก์ไม่ชอบ ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะยึดเงินประกันโจทก์ต้องคืนเงินประกัน จำเลยจึงขอถือคำให้การนี้เป็นคำฟ้องแย้งด้วยขอให้ยกฟ้องโจทก์ และเพิกถอนการประเมินทั้งหมดของโจทก์กับให้โจทก์ทั้งสองคืนเงินประกันทั้ง 19 ใบขนพร้อมดอกเบี้ยแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่มีสิทธิรับเงินคืนจากโจทก์ที่ 1 เมื่อจำเลยไม่มีสิทธิในเงินจำนวนที่วางประกันไว้แก่โจทก์ที่ 1 แล้ว โจทก์จึงหาต้องรับผิดชอบในเรื่องดอกเบี้ยของเงินจำนวนดังกล่าวต่อจำเลย ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินภาษีอากรจำนวน6,580,156.26 บาทแก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน ของอากรขาเข้าที่ต้องชำระเพิ่มตามใบขนสินค้าเลขที่ บี 024-00459, บี 044-03144, บี 054-04762,บี 054-07702, บี 124-00051, บี 024-00052, บี 024-00053,บี 015-04837, บี 035-00652, บี 035-00692, บี 045-00584,บี 045-04539, บี 045-05897, เอ 055-00663, บี 055-04024,บี 055-05724, บี 075-05739, บี 085-05259, เอ 115-04961เป็นรายเดือนเดือนละ 1,245.76 บาท, 987.64 บาท, 762.28 บาท,775.37 บาท, 411.69 บาท, 1,424.54 บาท, 384.25 บาท, 535.78 บาท,101.60 บาท, 549.96 บาท, 1,272.46 บาท, 526.17 บาท,711.86 บาท, 402.18 บาท, 1,006.19 บาท. 961.24 บาท, 1,532 บาท,2,003.71 บาท, 669.98 บาท ตามลำดับ เงินเพิ่มภาษีการค้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนของภาษีการค้าที่ต้องชำระเพิ่มตามใบขนสินค้าเลขที่ บี 124-00051, บี 124-00052, บี 124-00053, บี 015-04837,บี 035-00652, บี 035-03692, บี 045-00584, บี 045-04593,บี 045-05897, เอ 055-00663, บี 045-04024, บี 055-05724,บี 075-05739, บี 085-05259, เอ 115-04961 เป็นรายเดือนเดือนละ 366.83 บาท, 1,263.85 บาท, 333.27 บาท, 458.04 บาท,44.90 บาท, 477.61 บาท, 1,115.05 บาท, 472.57 บาท, 616.14 บาท,355.15 บาท, 870.31 บาท, 859.28 บาท, 2,000.93 บาท, 2,623.43 บาท,826.73 บาท ตามลำดับ และเงินเพิ่มภาษีบำรุงเทศบาลในอัตราร้อยละ10 ของเงินเพิ่มภาษีการค้าที่ต้องชำระดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง ทั้งนี้ สำหรับภาษีการค้าที่ต้องชำระเพิ่มเมื่อรวมกับที่โจทก์ขอมาถึงวันฟ้องต้องไม่เกินกว่าเงินค่าภาษีการค้าที่ต้องชำระ และให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อระหว่างปี 2522 ถึง 2524 จำเลยได้นำเข้าสินค้านาฬิกายี่ห้ออีคิวตี้จากเมืองฮ่องกง จำนวน 48 ใบขน และต่อมาในระหว่างปี 2524 ถึง 2525 นำเข้ามาอีก 22 ใบขน สินค้าที่พิพาทคดีนี้เป็นจำนวนที่จำเลยนำเข้าช่วงหลัง 19 ใบขน ซึ่งจำเลยได้ยื่นใบขนสินค้า พร้อมทั้งชำระค่าภาษีอากรตลอดจนวางเงินประกันตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 และได้รับสินค้าไปจากการตรวจปล่อยแล้วต่อมาเจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1 ตรวจสินค้าและราคาที่จำเลยสำแดงไว้ในใบขนสินค้าเทียบกับข้อมูลที่มีอยู่และราคาในใบขนสินค้าขาออกที่ผู้ขายยื่นไว้ต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรเมืองฮ่องกง รวมทั้งในกรมธรรม์ประกันภัยสินค้าจำนวนหนึ่งที่ตรวจค้นได้จากจำเลยแล้ว เห็นว่า จำเลยสำแดงราคาในใบขนสินค้าต่ำกว่าความจริง จึงใช้ราคาที่ระบุไว้ในใบขนสินค้าออกเป็นเกณฑ์ในการประเมินภาษีอากรสำหรับสินค้าที่จำเลยนำเข้าช่วงแรกจำนวน48 ใบขน ส่วนสินค้ารายพิพาทจำนวน 19 ใบขนคดีนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ก็อาศัยหลักเกณฑ์เดิมประเมินภาษีอากรใหม่แต่จำเลยอุทธรณ์การประเมิน กองวิเคราะห์ราคาจึงมีหนังสือถึงกงสุลใหญ่ฝ่ายศุลกากรประจำเมืองฮ่องกง ขอให้สืบราคาหรือข้อมูลราคาสินค้ารายพิพาทอีกครั้ง ปรากฏว่ารองกงสุลใหญ่ได้เคยส่งมาให้แล้วตามเอกสารหมาย จ.5 แผ่นที่ 17-93 แต่เอกสารทั้งหมดเป็นเอกสารของสินค้ารวม 9 เที่ยวเรือ หรือ 9 ใบขน และมี 7 เที่ยวเรือที่ตรงกับใบขนสินค้าที่พิพาท จึงใช้ราคาตามใบขนสินค้าขาออกเป็นเกณฑ์ประเมินภาษีอากร ส่วนสินค้าพิพาทอีก 12 ใบขนพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ใช้วิธีหาค่าเฉลี่ยร้อยละของราคาที่เพิ่มขึ้นระหว่างราคาในใบขนสินค้า กับราคาในใบขนสินค้าขาออกจำนวน 7 ใบขนนั้นมาคำนวณหาราคาส่งออก แล้วบวกค่าระวางบรรทุกและค่าประกันภัยที่จำเลยสำแดงไว้มาเป็นราคาในการประเมินภาษีอากรใหม่
ปัญหาข้อ (2) โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องหรือไม่โดยจำเลยอุทธรณ์ว่าการเรียกเก็บภาษีอากรเพิ่มของโจทก์ทั้งสองไม่ชอบด้วยประมวลรัษฎากร มาตรา 19 ที่บัญญัติให้เจ้าพนักงานต้องดำเนินการไต่สวนภายใน 5 ปี แต่โจทก์ทั้งสองหาได้ปฏิบัติการตามกฎหมายไม่จนล่วงเลยเวลาที่กฎหมายกำหนด โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจประเมินเพิ่มภาษีอากรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีอำนาจฟ้องนั้นเห็นว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 19 หาใช่บทบัญญัติเรื่องอายุความในการเรียกร้องให้ชำระค่าภาษีอากรไม่ แต่เป็นระยะเวลาให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกผู้ยื่นรายการมาไต่สวนในเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อว่ารายการที่ยื่นนั้นไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่บริบูรณ์ภายในกำหนด 5 ปี พ้นกำหนดนี้แล้วจะมีผลเพียงเจ้าพนักงานประเมินไม่มีอำนาจออกหมายเรียกตัวผู้ยื่นรายการมาไต่สวน หรือนำบัญชีหรือพยานหลักฐานอันควรแก่เรื่องมาแสดงได้เท่านั้น แต่สิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระค่าภาษีและเงินเพิ่มมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 167 เดิม(มาตรา 193/31 ที่แก้ไขใหม่) การที่เจ้าพนักงานประเมินมิได้ออกหมายเรียกจำเลยมาไต่สวนหรือหมายเรียกพยานหรือให้จำเลยหรือพยานนำบัญชีหรือพยานหลักฐานมาแสดง ภายในกำหนด 5 ปีก็หาทำให้การประเมินภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรไม่ชอบไม่โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ปัญหาข้อ (3) การประเมินผลของเจ้าพนักงานประเมินชอบหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า พยานหลักฐานของโจทก์ขัดต่อเหตุผลทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายและมีพิรุธไม่น่าเชื่อถือเป็นตัวเลขที่คิดคำนวณเฉลี่ยขึ้นมาเอง มิใช่ราคาสินค้านำเข้าที่แท้จริงในท้องตลาดนั้น เห็นว่า โจทก์มีนายจำนงค์ ดิษเทศซึ่งเคยรับราชการในตำแหน่งผู้อำนวยการกองวิเคราะห์ราคากรมศุลกากร เบิกความว่า ฝ่ายสืบสวน กองป้องกันและปราบปรามตรวจพบว่าจำเลยสำแดงราคาสินค้านาฬิกาที่นำเข้าต่ำกว่าราคาที่แท้จริง โดยพบหลักฐานว่า ราคาที่ระบุไว้ในเอกสารประกันภัยในการส่งสินค้าพิพาทจากเมืองฮ่องกงมาประเทศไทยนั้นสูงกว่าราคาที่ระบุไว้ในใบขนสินค้ากองวิเคราะห์ราคาจึงสอบราคาไปยังกงสุลใหญ่ฝ่ายศุลกากรประจำเมืองฮ่องกง และได้เอกสารเกี่ยวกับการส่งออกของบริษัทเจี๊ยบฮั้ว จำกัด ซึ่งขายสินค้าให้จำเลยที่ได้สำแดงรายการและราคาสินค้าต่อศุลกากรเมืองฮ่องกง เมื่อนำเอกสารดังกล่าวมาเปรียบเทียบกับใบขนสินค้าของจำเลยแล้ว ปรากฏว่ารายการตรงกับสินค้าที่จำเลยนำเข้าจะแตกต่างกันเฉพาะราคาเท่านั้นที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาปัญหาราคา จึงมีมติให้ใช้ราคาในใบขนสินค้าขาออกที่ผู้ส่งออกยื่นต่อศุลกากรเมืองฮ่องกงเป็นเกณฑ์ในการประเมินภาษีอากรสำหรับสินค้าที่จำเลยนำเข้าทั้งหมดซึ่งโจทก์มีนายวรชัย ศิริสุทธิกุล ดำรงตำแหน่งรองกงสุลใหญ่ฝ่ายศุลกากรประจำเมืองฮ่องกงตั้งแต่ปี 2520 ถึง 2526 เบิกความสนับสนุนว่าระหว่างปี 2522 ถึง 2525 กองประเมินอากรและกองวิเคราะห์ราคาได้มีหนังสือให้พยานสืบหาหลักฐานเกี่ยวกับการส่งออกของนาฬิกายี่ห้ออีควิตี้ซึ่งผู้ส่งออกคือบริษัทเจี๊ยบฮั่ว จำกัดขายให้แก่จำเลย พยานได้รวบรวมหลักฐานต่าง ๆ เช่น บัญชีราคาสินค้าใบขนสินค้าขาออกซึ่งบริษัทผู้ส่งออกยื่นต่อศุลกากรเมืองฮ่องกงรวมทั้งราคาขายปลีกของนาฬิกาบางรุ่น และแคตตาล็อกต่าง ๆ ส่งมาให้โจทก์ที่ 1 ต่อมากองวิเคราะห์ราคาขอให้สืบราคานาฬิกายี่ห้ออีควิตี้เพิ่มเติม พยานได้ดำเนินการแล้วจัดส่งเอกสารมาให้ปรากฏตามหนังสือนำส่งเอกสารหมาย จ.5 แผ่นที่ 17-18 และเอกสารที่ส่งมาพร้อมปรากฏตามเอกสารหมาย จ.5 แผ่นที่ 19-93 ประกอบด้วยตารางเปรียบเทียบราคานำเข้าและส่งออก แผ่นที่ 19-22 สำเนาบัญชีรายการบรรจุหีบห่อ สำเนาใบขนสินค้าขาออกของศุลกากรเมืองฮ่องกงแผ่นที่ 23-84 จากการเปรียบเทียบราคาที่ปรากฏในใบขนสินค้าขาออกของผู้ขายกับราคาที่จำเลยสำแดงในใบขนสินค้า เช่นในรายการที่ 1 ตามใบขนสินค้าขาออกเอกสารหมาย จ.5 แผ่นที่ 21ระบุเลขที่ใบกำกับสินค้าไว้ว่าที่ 000054 ชื่อเรือที่บรรทุกว่าไทยไพลิน วันที่ส่งออกจากเมืองฮ่องกงเครื่องหมายหีบห่อจะตรงกับใบขนสินค้า เอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 3 แต่ปรากฏว่าราคาที่ผู้ส่งออกสำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาออกจะมีราคาสูงกว่าที่จำเลยสำแดงในใบขนสินค้าเช่นเดียวกันทั้ง 9 เที่ยวเรือ นอกจากนี้โจทก์มีนายมณฑล เจียมปัญญารัชเจ้าหน้าที่ประเมินอากรเบิกความว่าเมื่อพยานพิจารณาแล้วได้ใช้ราคาในใบขนสินค้าขาออกของศุลกากรเมืองฮ่องกงเป็นเกณฑ์ในการประเมินราคาสินค้าของจำเลยจำนวน7 ใบขน ที่รายการตรงกัน ส่วนอีก 12 ใบขน ได้ประเมินราคาโดยถือเอาราคาเฉลี่ยจากใบขนสินค้าขาออกจำนวน 7 ใบขน ดังกล่าวซึ่งผู้บังคับบัญชาเห็นชอบด้วย เกี่ยวกับการตรวจค้นบริษัทจำเลยนั้นนายจำลอง เสตถาภิรมย์ สารวัตรศุลกากรผู้ตรวจค้นก็เบิกความว่าเหตุที่จะมีการตรวจค้นบริษัทจำเลยนั้นเพราะได้รับแจ้งจากกองพิธีการและประเมินอากรว่า จำเลยสำแดงราคาสินค้าต่ำกว่าความเป็นจริง ผลการตรวจค้นก็พบใบกรมธรรม์ประกันภัยสินค้าที่นำเข้ารวม 10 ฉบับ มูลค่าของสินค้าที่เอาประกันภัยจะสูงกว่าราคาที่จำเลยสำแดงในใบสินค้ามาก เช่น ตามกรมธรรม์เอกสารหมายจ.4 แผ่นที่ 7 นั้นจำเลยเอาประกันภัยสินค้า 172,650 เหรียญฮ่องกงแต่ตามใบขนสินค้าของจำเลยสำแดงราคาสินค้าไว้เพียง58,912 เหรียญฮ่องกง จำเลยไม่มีพยานหลักฐานที่น่าเชื่อมานำสืบหักล้างข้อเท็จจริงดังกล่าว คงนำสืบถึงวิธีการสั่งซื้อและชำระราคาสินค้า โดยจำเลยชำระราคาสินค้าผ่านการซื้อตั๋วแลกเงินธนาคารนครหลวงไทย จำกัด จำนวนเงินที่ชำระจะตรงกับที่ระบุในใบกำกับสินค้าและใบขนสินค้าเท่านั้น ซึ่งเห็นว่าเป็นเพียงการชำระเงินกันวิธีหนึ่ง แต่การชำระราคาอาจกระทำได้หลายทางผู้ซื้ออาจชำระราคาที่นอกเหนือจากนั้นโดยวิธีอื่นก็ได้ข้อนำสืบของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ดังนั้น พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย เมื่อพิเคราะห์ถึงเหตุผลที่ว่า การส่งออกผู้ส่งออกจะต้องชำระค่าธรรมเนียมตามราคาสินค้าที่ส่งออกแก่ศุลกากรเมืองฮ่องกงและหากสำแดงเท็จก็จะมีโทษทางอาญาแล้ว ผู้ส่งออกคงไม่สำแดงราคาสินค้าในใบขนสินค้าขาออกโดยไม่เป็นความจริง เพราะหากผู้ขายสินค้าขายต่ำกว่าราคาที่ปรากฏในใบขนสินค้าขาออกก็ไม่มีเหตุผลใดที่ผู้ขายจะสำแดงราคาขายให้สูงขึ้น อันจะต้องทำให้เสียค่าธรรมเนียมการส่งออกเพิ่มขึ้นโดยใช่เหตุ คดีจึงมีเหตุผลให้เชื่อว่าราคาสินค้าตามใบขนสินค้าขาออก7 ใบขน และราคาเฉลี่ยจากใบขนสินค้าดังกล่าวอีก 12 ใบขน เป็นราคาอันแท้จริงของสินค้ารายพิพาท การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 จึงชอบแล้ว ที่จำเลยอุทธรณ์ข้อต่อมาว่า เอกสารสำเนาใบขนสินค้าขาออกที่ผู้ส่งออกยื่นต่อศุลกากรเมืองฮ่องกงไม่มีผู้ใดและหน่วยราชการรับรองความถูกต้อง การรับฟังสำเนาเอกสารดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า เอกสารดังกล่าวเป็นสำเนาเอกสารที่พยานโจทก์เบิกความยืนยันว่าถ่ายจากต้นฉบับ เป็นเอกสารของทางราชการเมืองฮ่องกงซึ่งผู้ส่งสินค้าออกยื่นเอกสารดังกล่าวแจ้งการส่งออกต่อทางราชการเมืองฮ่องกง นายวรชัยรองกงสุลใหญ่ฝ่ายศุลกากรประจำเมืองฮ่องกงเป็นผู้ไปติดต่อขอรับเอกสารดังกล่าวมาจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรเมืองฮ่องกง ส่งมาให้กองวิเคราะห์ราคา กรมศุลกากร และนายวรชัยเป็นผู้สืบพบต้นฉบับด้วยตนเองซึ่งต้นฉบับอยู่ที่ศุลกากรเมืองฮ่องกงตามที่ได้รับแจ้งให้สืบหาราคาสินค้ารายพิพาทจากโจทก์ที่ 1 อันเป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่เมื่อจำเลยมิได้โต้แย้งและนำสืบหักล้างคำเบิกความของนายวรชัยว่าสำเนาเอกสารดังกล่าวไม่ถูกต้องอย่างไรบ้าง แม้จะเป็นเอกสารลับของทางราชการเมืองฮ่องกงก็ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามมิให้รับฟัง ข้อนำสืบของโจทก์ตามคำเบิกความของนายวรชัยประกอบเอกสารดังกล่าวจึงน่าเชื่อถือ ทั้งเป็นกรณีที่ไม่สามารถนำต้นฉบับมาได้โดยประการอื่นและเท่ากับศาลภาษีอากรกลางได้อนุญาตให้นำสำเนาเอกสารมาสืบได้แล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 93(2) แม้จะเป็นภาพถ่ายสำเนาเอกสารที่ไม่มีผู้ลงชื่อรับรองสำเนาถูกต้องก็ตาม ก็รับฟังเอกสารดังกล่าวประกอบพยานบุคคลดังได้วินิจฉัยมาแล้วได้ ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยในข้ออื่น ๆ นอกจากนี้ล้วนแต่เป็นข้อที่มิใช่สาระสำคัญถึงกับจะทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ศาลฎีกาไม่จำต้องวินิจฉัยและเมื่อคดีฟังได้ว่าการประเมินภาษีอากรของโจทก์ชอบแล้วจำเลยก็ไม่มีสิทธิเรียกเงินประกันตามใบขนสินค้าทั้ง 19 ใบขน คืนจากโจทก์”
พิพากษายืน

Share