คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5497/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานอันเป็นเหตุบรรเทาโทษนั้น หมายถึงหลังเกิดเหตุจำเลยต้องเข้ามอบตัวต่อเจ้าพนักงานตำรวจและรับสารภาพความผิด แต่ได้ความจากคำเบิกความของพนักงานสอบสวนว่า หลังเกิดเหตุจำเลยหลบหนีไป จึงไปขอออกหมายจับจำเลยต่อศาลชั้นต้น ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยได้ขณะจำเลยนั่งรถผ่านด่านตรวจของเจ้าพนักงานตำรวจ การที่จำเลยยอมให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมโดยดีเป็นเพราะมีหมายจับมากกว่าจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานอันเป็นเหตุบรรเทาโทษที่จะพึงลดโทษให้จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 78

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยข่มขืนกระทำชำเรานางสาวฝนทิพย์ผู้ตาย ซึ่งมิใช่ภริยาของจำเลยโดยใช้กำลังประทุษร้าย กอดรัด และกดตัวผู้ตายให้นอนลงมิให้ขัดขืน แล้วจำเลยถอดและดึงกระโปรงกับเสื้อชุดนักศึกษาและชุดชั้นในของผู้ตายออก จากนั้นข่มขืนกระทำชำเราผู้ตายด้วยความรุนแรงจนสำเร็จความใคร่ของจำเลย โดยผู้ตายไม่ยินยอมและอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หลังจากนั้นจำเลยฆ่าผู้ตายโดยเจตนาเพื่อปกปิดความผิดและเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดที่จำเลยได้ข่มขืนกระทำชำเราผู้ตายโดยจำเลยใช้มือทั้งสองข้างบีบคอผู้ตายอย่างแรงจนเป็นเหตุให้ผู้ตายขาดอากาศหายใจและถึงแก่ความตาย แล้วจำเลยได้ย้ายศพผู้ตายห่างออกไปประมาณ 50 เมตร โดยบรรทุกรถยนต์พาไปในบริเวณป่าละเมาะข้างสวนยางพาราแล้วซ่อนเร้นศพไว้ใต้พุ่มไม้เพื่อปิดบังการตายและเหตุแห่งการตาย ต่อมาเจ้าพนักงานยึดรถยนต์ 1 คัน ซึ่งจำเลยใช้บรรทุกศพผู้ตายเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91, 199, 276, 277 ทวิ, 288, 289 ริบรถยนต์ของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคแรก, 277 ทวิ (2), 289 (7), 199 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานข่มขืนกระทำชำเราหญิงอื่นซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ให้ประหารชีวิตจำเลยฐานฆ่าผู้อื่นเพื่อปกปิดความผิดอื่นของตน ให้ประหารชีวิตจำเลยฐานซ่อนเร้นศพ จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (2) ฐานข่มขืนกระทำชำเราหญิงอื่นซึ่งมิใช่กริยาของตนโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย จำคุกจำเลยตลอดชีวิต ฐานฆ่าผู้อื่นเพื่อปกปิดความผิดอื่นของตน จำคุกจำเลยตลอดชีวิตฐานซ่อนเร้นศพ จำคุก 6 เดือน เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วให้จำคุกจำเลยตลอดชีวิต ริบรถยนต์ของกลาง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคแรก, 289 (7), 199 ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานข่มขืนกระทำชำเราหญิงอื่นซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยใช้กำลังประทุษร้าย จำคุก 20 ปี ฐานฆ่าผู้อื่นเพื่อปกปิดความผิดอื่นของตน ให้ประหารชีวิตจำเลย และฐานซ่อนเร้นศพ จำคุก 1 ปี โดยไม่ลดโทษให้แก่จำเลยทั้งสามกระทง เมื่อลงโทษประหารชีวิตจำเลยแล้ว จึงไม่อาจนำโทษจำคุกในความผิดกระทงอื่นของจำเลยมารวมได้อีก คงให้ประหารชีวิตจำเลยสถานเดียว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองว่าเมื่อวันที่และสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยข่มขืนกระทำชำเรานางสาวฝนทิพย์ผู้ตาย แล้วใช้มือบีบคอผู้ตายจนถึงแก่ความตายเพื่อปกปิดความผิดอื่นของตน จากนั้นจำเลยใช้รถยนต์ของกลางย้ายศพแล้วซ่อนเร้นศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า มีเหตุสมควรลดโทษให้จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นการกระทำความผิดของจำเลย แต่โจทก์มีพยานแวดล้อมกรณีที่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คือนางสาวสาลินีน้องผู้ตาย และนายถวิลเป็นพยาน โดยนางสาวสาลินีเบิกความว่าก่อนเกิดเหตุพยานเห็นผู้ตายขึ้นรถยนต์ซึ่งพยานจำได้ว่าเป็นรถยนต์ของจำเลย นายถวิลเบิกความว่าพยานเห็นรถยนต์ซึ่งเป็นของจำเลยจอดอยู่ริมถนนสายเลี่ยงเมืองตรัง – ห้วยยอด ใกล้กับบริเวณที่พบศพผู้ตาย โดยเฉพาะรายงานการตรวจพิสูจน์ระบุว่าตรวจพบคราบอสุจิติดอยู่ที่กางเกงชั้นในที่ผู้ตายสวมใส่ในวันเกิดเหตุมีสารดีเอ็นเอของจำเลย นอกจากนี้เส้นขนบริเวณอวัยวะเพศมนุษย์ซึ่งเก็บจากช่องคลอดผู้ตาย และเส้นขนบริเวณอวัยวะเพศมนุษย์ซึ่งเก็บจากศพล้วนมีสารดีเอ็นเอของจำเลยทั้งสิ้น นับว่าเป็นพยานหลักฐานที่สำคัญ ดังนี้ พยานหลักฐานเท่าที่โจทก์นำสืบมารับฟังลงโทษจำเลยได้โดยไม่ต้องอาศัยคำรับสารภาพของจำเลย การที่จำเลยให้การรับสารภาพย่อมเป็นเพราะจำนนต่อพยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่มีเหตุบรรเทาโทษ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยยินยอมให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมโดยดีถือว่าเป็นการลุแก่โทษ มีเหตุลดโทษให้จำเลยได้นั้น เห็นว่า การลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานอันเป็นเหตุบรรเทาโทษนั้น หมายถึงหลังเกิดเหตุจำเลยต้องเข้ามอบตัวต่อเจ้าพนักงานตำรวจและรับสารภาพความผิด แต่ได้ความจากคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกบุญชายพนักงานสอบสวนว่าหลังเกิดเหตุจำเลยหลบหนีไป จึงไปขอออกหมายจับจำเลยต่อศาลชั้นต้น ต่อมาวันที่ 3 มีนาคม 2548 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยได้ขณะจำเลยนั่งรถผ่านด่านตรวจของเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรกิ่งอำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ การที่จำเลยยอมให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมโดยดีเป็นเพราะมีหมายจับมากกว่า จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานอันเป็นเหตุบรรเทาโทษที่จะพึงลดโทษให้จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share