คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5496/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่ากันและทำบันทึกไว้ท้ายทะเบียนการหย่าว่า ทรัพย์สินทั้งหมดที่มีอยู่ในเขตจังหวัดชลบุรีและจังหวัดฉะเชิงเทรา ให้ตกเป็นของโจทก์ทั้งหมด ส่วนหนี้สินอื่น ๆ กับสถาบันการเงินภายในสองจังหวัดดังกล่าวที่เกิดขึ้นก่อนวันหย่า โจทก์ตกลงเป็นผู้ชำระหนี้ทั้งหมด ข้อตกลงดังกล่าวแม้จะเป็นเรื่องของการจัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 แต่จำเลยต้องดำเนินการจดทะเบียนโอนทรัพย์สินให้โจทก์ และโจทก์ต้องชำระหนี้แทนจำเลย ถือได้ว่ามีการกำหนดหน้าที่ให้โจทก์จำเลยปฏิบัติต่อกัน จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อมิได้ระบุเงื่อนไขไว้ว่า จำเลยจะต้องโอนทรัพย์สินให้โจทก์ก่อน โจทก์จำเลยจึงต้องปฏิบัติตามข้อตกลงพร้อมกันไป การที่โจทก์ยังไม่ได้ชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้แทนจำเลย จำเลยจึงมีสิทธิไม่ยอมโอนทรัพย์สินให้โจทก์ ตามมาตรา 369 โจทก์จะยกข้อตกลงเฉพาะที่เป็นประโยชน์ของตนฝ่ายเดียวมาบังคับจำเลยไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์จำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาวันที่ 9 เมษายน 2544 โจทก์จำเลยตกลงจดทะเบียนหย่ากัน และทำบันทึกเรื่องทรัพย์สินและหนี้สินต่อกันว่า สินสมรสที่มีอยู่ภายในจังหวัดชลบุรีและจังหวัดฉะเชิงเทราให้ตกเป็นของโจทก์ หนี้สินที่มีต่อสถาบันการเงินในสองจังหวัดดังกล่าวที่เกิดขึ้นก่อนวันหย่าโจทก์เป็นผู้รับชำระหนี้ทั้งหมด โจทก์ติดต่อให้จำเลยเปลี่ยนชื่อจำเลยในเอกสารสิทธิของทรัพย์สินเป็นชื่อโจทก์ จำเลยเพิกเฉย เป็นเหตุให้โจทก์ไม่อาจนำสินสมรสไปหารายได้เพื่อชำระหนี้ได้ ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อจำเลยในเอกสารสิทธิที่ดินและอาคารกับในสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์บรรทุกท้ายฟ้องเป็นชื่อโจทก์
จำเลยให้การว่า ทรัพย์สินที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยโอนเปลี่ยนชื่อในเอกสารสิทธิที่ดินและสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์บรรทุกเป็นของโจทก์นั้นไม่ใช่สินสมรส แต่เป็นสินส่วนตัวของจำเลยและบันทึกท้ายทะเบียนหย่าเป็นโมฆะ เพราะมีข้อตกลงให้โอนที่ดินที่มีหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 – 01) ซึ่งมีกฎหมายห้ามจำหน่ายจ่ายโอนสิทธิดังกล่าว ทั้งโจทก์ไม่ยอมชำระหนี้ตามข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์บรรทุกสิบล้อยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียน 80 – 3494 ฉะเชิงเทรา และยี่ห้อฮีโน่ หมายเลขทะเบียน 80 – 7342 ฉะเชิงเทราให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เดิมโจทก์จำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาวันที่ 9 เมษายน 2544 โจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่ากันตามสำเนาใบสำคัญการหย่าเอกสารหมาย จ.2 และทำบันทึกข้อตกลงเรื่องแบ่งทรัพย์สินและหนี้สินไว้ท้ายทะเบียนการหย่าตามเอกสารหมาย จ.3 ว่าทรัพย์สินทั้งหมดที่มีอยู่ในเขตจังหวัดชลบุรีและจังหวัดฉะเชิงเทราให้ตกเป็นของโจทก์ทั้งหมด ส่วนหนี้สินอื่น ๆ กับสถาบันการเงินภายในสองจังหวัดดังกล่าวที่เกิดขึ้นก่อนวันหย่า โจทก์ตกลงเป็นผู้ชำระหนี้ทั้งหมด ซึ่งหนี้สินกับสถาบันการเงินตามข้อตกลงนี้ได้แก่ หนี้ที่โจทก์และจำเลยมีภาระจะต้องชำระให้แก่ธนาคารอาคารสงเคราะห์และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร รวมเป็นเงินประมาณ 6 ล้านบาท ตามบัญชีหนี้สินเอกสารหมาย จ.4 แผ่นที่ 10 หลังจากจดทะเบียนหย่าแล้วจำเลยเพิกเฉยไม่ยอมโอนทรัพย์สินตามข้อตกลงให้โจทก์ โดยไม่จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อในหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินแปลงเลขที่ 18 สารบัญทะเบียนที่ดินเลขที่ 3265 อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา เอกสารหมาย จ.8 และในสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์บรรทุกสิบล้อ ยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียน 80 – 3494 ฉะเชิงเทรา ตามเอกสารหมาย จ.12 ให้เป็นชื่อของโจทก์ ฝ่ายโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าได้ชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่อธนาคารทั้งสองแห่งดังกล่าวแทนจำเลยตามข้อตกลงเช่นกัน มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ข้อตกลงเรื่องแบ่งทรัพย์สินและหนี้สินตามเอกสารหมาย จ.3 เป็นสัญญาต่างตอบแทนหรือไม่ เห็นว่า ข้อตกลงดังกล่าวแม้จะเป็นเรื่องของการจัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1532 ก็ตาม แต่เห็นได้ชัดแจ้งว่า หลังจากตกลงกันเช่นนี้แล้วจะต้องมีการปฏิบัติต่อไปโดยจำเลยต้องดำเนินการจดทะเบียนโอนทรพัย์สินให้โจทก์ และโจทก์ต้องชำระหนี้แทนจำเลย จึงถือได้ว่ามีการกำหนดหน้าที่ให้โจทก์จำเลยปฏิบัติต่อกัน ข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.3 จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อข้อตกลงมิได้ระบุเงื่อนไขไว้ว่า จำเลยจะต้องโอนทรัพย์สินให้โจทก์ก่อนแล้วโจทก์จึงจะชำระหนี้แทนจำเลย โจทก์จำเลยจึงต้องปฏิบัติตามข้อตกลงพร้อมกันไปการที่โจทก์ยังไม่ได้ชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้แทนำจเลย จำเลยจึงมีสิทธิไม่ยอมโอนทรัพย์สินให้โจทก์จนกว่าโจทก์จะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ดังกล่าวเสียก่อนได้ ทั้งนี้ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 369 โจทก์จะยกข้อตกลงเฉพาะที่เป็นประโยชน์ของตนฝ่ายเดียวมาบังคับจำเลยไม่ได้ โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิที่จะฟ้องบังคับจำเลยให้โอนทรัพย์สินตามข้อตกลงให้โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share