คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5496/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จำเลยที่ 1 มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกำหนดให้ลูกจ้างจะต้องใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีให้หมดสิ้นภายในปีนั้นๆ ไม่สามารถสะสมวันหยุดพักผ่อนประจำปีไปสมทบในปีต่อไป แต่ไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างได้กำหนดวันที่จะให้โจทก์หยุดพักผ่อนประจำปีหรือจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่โจทก์สำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปี 2543 จำนวน 4 วันแล้ว เมื่อโจทก์ยังไม่ได้หยุดพักผ่อนประจำปีในปี 2543 ครบตามที่กฎหมายกำหนด จึงต้องนำวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปี 2543 มารวมคำนวณจ่ายเป็นค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีด้วย
จำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาจ้างโจทก์ในวันที่ 6 มีนาคม 2544 จึงมีผลเป็นการเลิกสัญญาจ้างเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าคือ วันที่ 30 เมษายน 2544 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสอง และ ป.พ.พ. มาตรา 582 เมื่อจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ออกจากงานตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2544 จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์เท่ากับค่าจ้างที่โจทก์ควรจะได้รับนับแต่วันที่ 6 มีนาคม 2544 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2544 แต่โจทก์ขอมาเพียง 1 เดือน 24 วัน จึงให้ตามที่โจทก์ขอ
โจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 5 วัน แต่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายแก่โจทก์เพียง 1 วัน ย่อมไม่ชอบ แม้โจทก์ไม่อุทธรณ์ ศาลฎีกาเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความ จึงให้จำเลยที่ 1 จ่ายในส่วนที่ขาดอีก 4 วัน แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 55,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่ฟ้อง ค่าจ้างค้างจ่าย 50,366 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 5,166 บาท และค่าชดเชย 93,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง เงินเพิ่มร้อยละ 15 ทุกระยะ 7 วัน ของต้นเงิน 25,000 บาท นับแต่วันที่ 30 มกราคม 2544 ถึงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2544 เป็นเงิน 5,357 บาท ของต้นเงิน 14,200 บาท นับแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2544 ของต้นเงิน 31,000 บาท นับแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2544 และของต้นเงิน 5,166 บาท นับแต่วันที่ 5 มีนาคม 2544 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าจ้างค้างรวม 46,649.99 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 14,200 บาท และ 27,450 บาท นับแต่วันฟ้อง (8 มีนาคม 2544) และต้นเงิน 4,166.66 บาท กับ 833.33 บาท นับแต่วันที่ 10 มีนาคม 2544 สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 45,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และค่าชดเชย 75,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีของปี 2544 อันเป็นปีที่เลิกจ้างตามส่วนของวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่โจทก์พึงมีสิทธิจำนวน 1 วัน และโจทก์มีวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมของปี 2543 จำนวน 4 วัน ด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำความผิดตามมาตรา 119 จำเลยที่ 1 ก็ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้างตามส่วนรวมทั้งวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมรวม 5 วันแก่โจทก์ตามบทมาตราที่อ้างถึงข้างต้น ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยให้โจทก์ได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเฉพาะในปีที่เลิกจ้าง โดยเห็นว่าโจทก์ไม่มีสิทธินำวันหยุดพักผ่อนประจำปีของปี 2543 จำนวน 4 วัน มาสะสมและใช้หยุดในปี 2544 เนื่องจากจำเลยที่ 1 มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกำหนดให้ลูกจ้างจะต้องใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีให้หมดสิ้นภายในปีนั้นๆ ไม่สามารถสะสมวันหยุดพักผ่อนประจำปีไปสมทบในปีต่อไปนั้น ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างได้กำหนดวันที่จะให้โจทก์ได้หยุดพักผ่อนประจำปีตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว หรือได้จ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่โจทก์สำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปี 2543 จำนวน 4 วันแล้ว เมื่อโจทก์ยังไม่ได้หยุดพักผ่อนประจำปีในปี 2543 ครบตามที่กฎหมายกำหนด จึงต้องนำวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปี 2543 มารวมคำนวณจ่ายเป็นค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีด้วย คำพิพากษาศาลแรงงานกลางที่ให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์เพียง 1 วัน จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายข้างต้น แม้โจทก์จะไม่ได้อุทธรณ์ แต่เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายและเป็นไปตามคำฟ้องของโจทก์ ศาลฎีกาเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความ จึงให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 4,166.65 บาท แก่โจทก์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อมาว่า โจทก์มีสิทธิเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวนเท่าใด เห็นว่า จำเลยที่ 1 จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ทุกวันที่ 30 ของเดือน จำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2544 การบอกเลิกสัญญาจ้างในวันดังกล่าวจึงมีผลเป็นการเลิกสัญญาจ้างเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าคือ วันที่ 30 เมษายน 2544 ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสอง และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 482 เมื่อจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ออกจากงานตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2544 โดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์เท่ากับค่าจ้างที่โจทก์ควรจะได้รับนับแต่วันที่ 6 มีนาคม 2544 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2544 แต่โจทก์ขอมาเพียง 1 เดือน 24 วัน จึงให้ตามที่โจทก์ขอเป็นเงิน 45,000 บาท ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยปัญหานี้ชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในค่าจ้างที่ค้างชำระ สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีหรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ต้องจ่ายค่าจ้างค้างชำระตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยและต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี กับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามที่ศาลฎีกาวินิจฉัย จำเลยที่ 1 ก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยในเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามอัตราที่ศาลแรงงานกลางพิพากษา ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าจ้างรวม 49,983.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 14,200 บาท และ 27,450 บาท นับแต่วันฟ้อง (8 มีนาคม 2544) และต้นเงิน 4,166.65 บาท นับแต่วันที่ 10 มีนาคม 2544 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share