แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามหนังสือมอบอำนาจให้ร้องทุกข์ ผู้เสียหายระบุให้จ. เป็นผู้มีอำนาจดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีทั้งทางอาญาและทางแพ่งต่อพนักงานสอบสวนในเหตุความผิดทั้งหลายซึ่งได้มีผู้กระทำขึ้นและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายย่อมเป็นการมอบอำนาจโดยชัดแจ้งให้ จ. ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแล้ว บันทึกการตกลงชดใช้ค่าเสียหายที่จำเลยยอมตกลงโอนสิทธิ และกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ให้แก่ผู้เสียหายภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งมีผลผูกพันกันเฉพาะทางแพ่งเมื่อไม่มีข้อความตอนใดเลยที่แสดงว่าผู้เสียหายตกลงไม่ติดใจเอาความในทางอาญาแก่จำเลย จึงไม่เป็นการยอมความ ทางอาญาโดยถูกต้องตามกฎหมาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้อง ของผู้เสียหายจึงไม่ระงับ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2539 วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2539 วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2539 และวันที่ 8 มีนาคม 2539 เวลากลางวัน จำเลยลักเอาเช็คธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบางนาเช็คเลขที่ 4073023, 4073025, 4073028 และ 4073033 สั่งจ่ายวันที่30 มกราคม 2539 วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2539 วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2539และวันที่ 8 มีนาคม 2539 ตามลำดับ จำนวนเงินฉบับละ 98,250 บาทของห้างหุ้นส่วนจำกัดสยามโมเดิร์นออยล์ ผู้เสียหายซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลย แล้วจำเลยนำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินและได้รับเงินไปแล้วโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 91และให้จำเลยคืนเงินจำนวน 393,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันรวม 4 กรรม ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามมาตรา 91 จำคุกกระทงละ 1 ปี รวมจำคุก 4 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 393,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อที่จำเลยฎีกาว่าศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ชอบเพราะจำเลยอุทธรณ์ว่า หนังสือมอบอำนาจให้ร้องทุกข์ตามเอกสารหมาย จ.7 ของผู้เสียหายมิได้ระบุมอบให้นายจุมพร บัวแบน ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนการสอบสวนจึงไม่ชอบ แต่ศาลอุทธรณ์กลับวินิจฉัยว่าแม้เอกสารดังกล่าวไม่ระบุว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดก็เป็นการร้องทุกข์ตามกฎหมายซึ่งคลาดเคลื่อนไปจากอุทธรณ์ของจำเลย ศาลฎีกาเห็นว่า หนังสือมอบอำนาจให้ร้องทุกข์ตามเอกสารหมาย จ.7ของผู้เสียหายระบุมอบอำนาจให้นายจุมพรเป็นผู้มีอำนาจดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีทั้งทางอาญาและทางแพ่งต่อพนักงานสอบสวนในเหตุความผิดทั้งหลายซึ่งได้มีผู้กระทำขึ้นและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย กรณีจึงเป็นการมอบอำนาจโดยชัดแจ้งให้นายจุมพรร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแล้วการสอบสวนนั้นจึงชอบ
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า บันทึกการตกลงชดใช้ค่าเสียหายเอกสารหมาย จ.14 เป็นการยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายซึ่งมีผลให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(2) นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามเอกสารดังกล่าวเป็นเพียงจำเลยยอมตกลงโอนสิทธิและกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ให้แก่ผู้เสียหายภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งมีผลผูกพันกันเฉพาะทางแพ่งเท่านั้น ไม่มีข้อความตอนใดเลยที่แสดงว่าผู้เสียหายตกลงไม่ติดใจเอาความในทางอาญาแก่จำเลย จึงไม่เป็นการยอมความทางอาญาโดยถูกต้องตามกฎหมาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงไม่ระงับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2)
พิพากษายืน