แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การคำนวณทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์นั้น ต้องแยกคำนวณตามจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันตามข้อหาของการผิดสัญญา โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดจากสัญญาเล่นแชร์ 2 วง แต่ละวงมีรายละเอียดข้อสัญญาต่างกัน การผิดสัญญาวงหนึ่งวงใดไม่เป็นเหตุให้ผิดสัญญาอีกวงหนึ่งด้วย โจทก์จึงสามารถแยกฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ตามข้อหาของการผิดสัญญาเป็นสองคดีเมื่อจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันสำหรับการเล่นแชร์แต่ละวงมีจำนวนไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 224 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จัดให้มีการเล่นแชร์ชนิดดอกตามขึ้น 2 วงโดยโจทก์เป็นหัวหน้าวง จำเลยที่ 1 ได้เล่นแชร์กับโจทก์วงแรกจำนวน 7 มือ วงที่สอง จำนวน 6 มือ โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสามีของจำเลยที่ 1 รู้เห็นยินยอมและได้ให้สัตยาบันในการเล่นแชร์ดังกล่าว ทั้งได้นำเงินที่เล่นแชร์ได้มาใช้อุปการะเลี้ยงดูครอบครัวต่อมาจำเลยที่ 1 ประมูลแชร์วงแรกได้รวม 5 ครั้ง ได้รับเงินค่าแชร์ที่ประมูลได้ไปครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 1 หลบหนีไปไม่ยอมส่งค่าแชร์ที่ประมูลได้ไปแล้ว 5 มือ และที่เหลือยังไม่ได้ประมูลอีก 2 มือโจทก์ต้องส่งค่าแชร์แทนจำเลยที่ 1 ให้ลูกวงแชร์ที่ประมูลได้เป็นเงิน24,900 บาท ส่วนแชร์วงที่สอง จำเลยที่ 1 ประมูลได้รวม 5 ครั้งแล้วหลบหนีไปเช่นกัน โจทก์ต้องชำระค่าแชร์แทนจำเลยที่ 1 ให้แก่ลูกวงแชร์ที่ประมูลแชร์ได้เป็นเงิน 38,880 บาท รวมค่าแชร์ 2 วงที่โจทก์ชำระแทนจำเลยที่ 1 ไปจำนวน 63,780 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 63,780 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้รู้เห็นยินยอมหรือให้สัตยาบันการเล่นแชร์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่เคยนำเงินมาใช้อุปการะเลี้ยงดูครอบครัว จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ โจทก์เล่นแชร์กับคนอื่นและให้คนอื่นประมูลแชร์ในนามของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่เคยเล่นแชร์กับโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 63,780 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท ห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ล้วนโต้เถียงในข้อเท็จจริง ศาลอุทธรณ์จึงไม่รับวินิจฉัยพิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1รับผิดนั้นเกิดจากสัญญาเล่นแชร์ 2 วง แต่ละวงมีรายละเอียดข้อสัญญาต่างกัน จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาวงหนึ่งวงใดไม่เป็นเหตุให้ผิดสัญญาอีกวงหนึ่ง การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเล่นแชร์วงแรกจึงมิได้เกี่ยวข้องกับข้อหาที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาเล่นแชร์วงที่สอง โจทก์จึงสามารถแยกฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ตามข้อหาของการผิดสัญญาเล่นแชร์แต่ละวงได้เป็นสองคดี ซึ่งแต่ละคดีก็จะมีทุนทรัพย์พิพาทไม่เกิน 50,000 บาท แม้โจทก์จะได้รวมฟ้อง จำเลยที่ 1 เป็นสองข้อหารวมกันมาเป็นคดีเดียว โดยศาลชั้นต้นรับคำฟ้องไว้พิจารณามิได้มีคำสั่งให้แยกคดีตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 29 ก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1รับผิดใช้เงินแก่โจทก์ตามฟ้อง โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในมูลหนี้ดังกล่าวเนื่องจากว่าเป็นหนี้ร่วมแล้ว จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนี้ “ในการคำนวณทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่งนั้น ศาลต้องแยกคำนวณตามจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันตามข้อหาของการผิดสัญญาเล่นแชร์แต่ละวง เมื่อจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันสำหรับเล่นแชร์วงแรกมีจำนวน 24,900 บาท วงที่สองมีจำนวน 38,880 บาทจึงต้องถือว่าอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 เป็นคดีที่มีจำนวนทุกทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 เพราะจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงจึงชอบแล้วฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน