คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5494/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อจำเลยให้การเพียงว่า โจทก์จงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย แต่เป็นคำสั่งเรื่องอะไรเหตุเกิดวันเดือนปีใดไม่ปรากฏ และที่ว่าโจทก์กระทำประการอื่น อันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตนั้น ก็ไม่ชัดแจ้งว่าโจทก์ทำสิ่งใดที่เรียกว่าไม่ถูกต้องหรือ ไม่สุจริต คำให้การจำเลยไม่มีประเด็นเรื่องดังกล่าว ดังนี้ ที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า แม้ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่า ทางนำสืบของจำเลยฟังไม่ได้ว่าโจทก์เป็นลูกจ้างทดลองงาน ที่จำเลยจะเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าว ล่วงหน้าแล้ว ยังจะต้องพิจารณาต่อไปด้วยว่าระหว่างที่โจทก์ เป็นลูกจ้างจำเลย โจทก์จงใจขัดคำสั่งของจำเลยอันชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ หรือกระทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตหรือไม่ จึงเป็นการอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานเมื่อ ข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย เมื่อข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานวินิจฉัยมาเป็นที่ยุติว่าโจทก์ได้รับเงินเดือนเดือนละ 10,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน และโจทก์ฟ้องเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จากจำเลยที่ 2 เพียง 57 วัน ซึ่งเป็นเงิน 19,000 บาท ดังนั้น ที่ศาลแรงงานพิพากษาให้จำเลยที่ 2 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าว ล่วงหน้าจำนวน 20,000 บาท แก่โจทก์ จึงเป็นการเกินคำขอ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 วรรคหนึ่งกำหนดให้บอกกล่าวล่วงหน้าเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่าย สินจ้างคราวใดคราวหนึ่งเพื่อให้มีผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไป จำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์ วันที่ 1 สิงหาคม 2540 แต่เนื่องจากค่าจ้างกำหนดจ่าย กันทุกวันสิ้นเดือน ฉะนั้น ระยะเวลาการบอกกล่าวล่วงหน้าของจำเลยจะชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อจำเลยเลิกจ้างในวันที่ 30 กันยายน 2540 ซึ่งเป็นกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไป การที่จำเลยที่ 2 บอกเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2540 กำหนดระยะเวลาการบอกกล่าวล่วงหน้าของจำเลยจึงไม่ครบถ้วน ตามกฎหมาย ที่ศาลแรงงานพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้าง แทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 2 เดือน จึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2539 บริษัทสเปเชียลลิสท์ อินเตอร์เนชั่นแนลออดิโอ จำกัด จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งพนักงานขายต่างจังหวัด ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 12,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือนต่อมาวันที่ 9 กรกฎาคม 2540 บริษัทสเปเชียลลิสท์ อินเตอร์เนชั่นแนลออดิโอ จำกัด มีข้อตกลงกับโจทก์ว่า ถ้าโจทก์เขียนใบลาออกจะโอนย้ายโจทก์ไปเป็นพนักงานของจำเลยทั้งสองในตำแหน่งอัตราค่าจ้างและสวัสดิการเท่าเดิม วันที่ 4 สิงหาคม 2540 จำเลยทั้งสองได้เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย โจทก์ทำงานกับจำเลยทั้งสองครบ 120 วัน แต่ไม่ถึง 1 ปี จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน และมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 57 วัน เป็นเงิน 22,800 บาท ในระหว่างที่โจทก์ทำงานกับจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์ 2,000 บาท นอกจากนี้จำเลยทั้งสองมีข้อตกลงจะให้ค่านายหน้าจากการขายอัตราร้อยละ 3 ของยอดสินค้าที่โจทก์ขายได้แก่โจทก์ ระหว่างวันที่ 19 พฤศจิกายน 2539 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2540 โจทก์ขายสินค้าได้ทั้งสิ้น 220,644 บาท จำเลยทั้งสองจึงต้องจ่ายค่านายหน้าให้โจทก์ 6,619.32 บาท และระหว่างวันที่ 17 ถึง 31 กรกฎาคม 2540 จำเลยทั้งสองค้างจ่ายเบี้ยเลี้ยงโจทก์จำนวน 1,680 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายค่าชดเชย 12,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 22,800 บาท ค่านายหน้า 6,619.32 บาท ค่าเบี้ยเลี้ยง 1,680 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จและออกใบผ่านงานให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1แต่เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีข้อตกลงกับโจทก์และบริษัทสเปเชียลลิสท์อินเตอร์เนชั่นแนลออดิโอ จำกัด ในการโอนโจทก์มาเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 โดยมีอัตราค่าจ้างและสวัสดิการเท่าเดิมตามฟ้องโจทก์ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2540 โจทก์สมัครเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 รับโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างทดลองงานในตำแหน่งพนักงานขายต่างจังหวัด ตกลงจ่ายสินจ้างเดือนละ 10,000 บาท โจทก์ไม่ปฏิบัติตามนโยบายของจำเลยที่ 2 ไม่เชื่อฟังคำสั่งของผู้บังคับบัญชามาทำงานสาย ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ตามเป้าและมีพฤติการณ์ส่อไปในทางไม่น่าไว้วางใจ จำเลยที่ 2 จึงเลิกจ้างโจทก์ ในวันที่ 1 สิงหาคม 2540 โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับได้รับค่าชดเชยเพราะทำงานกับจำเลยที่ 2 ติดต่อกันไม่ถึง 120 วัน และโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เพราะอยู่ระหว่างการทดลองงาน ทั้งจำเลยที่ 2 ได้จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว นอกจากนี้ค่านายหน้าตามฟ้องจำเลยที่ 2 ไม่เคยตกลงกับโจทก์และเกิดขึ้นก่อนโจทก์มาทำงานกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องจ่ายให้โจทก์ จำเลยที่ 2 ตกลงจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้ลูกจ้างทุกคนขณะปฏิบัติหน้าที่ต่างจังหวัด โดยจ่ายให้ในอัตราวันละ 580 บาท สำหรับเบี้ยเลี้ยงระหว่างวันที่ 17 ถึง 31 กรกฎาคม 2540 จำเลยที่ 2 ได้จ่ายให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับออกใบสำคัญแสดงการทำงานให้โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ประการแรกว่า แม้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าทางนำสืบของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ได้ว่าโจทก์เป็นลูกจ้างทดลองงานที่จำเลยที่ 2จะเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแล้วยังจะต้องพิจารณาต่อไปด้วยว่าระหว่างที่โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2นั้น โจทก์จงใจขัดคำสั่งของจำเลยที่ 2 อันชอบด้วยกฎหมายหรือไม่หรือกระทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2 ให้การเพียงว่าโจทก์จงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย แต่เป็นคำสั่งเรื่องอะไร เหตุเกิดวันเดือนปีใดไม่ปรากฏ และที่ว่าโจทก์กระทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตนั้น ก็ไม่ชัดแจ้งว่าโจทก์ทำสิ่งใดที่เรียกว่าไม่ถูกต้องหรือไม่สุจริต คำให้การจำเลยที่ 2 ไม่มีประเด็นเรื่องดังกล่าวอุทธรณ์จำเลยที่ 2 ข้อนี้จึงเป็นการอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลางต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ประการที่สองว่า ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 20,000 บาท แก่โจทก์เป็นการเกินไปกว่าที่ปรากฏตามคำฟ้องนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมาเป็นที่ยุติว่า โจทก์ได้รับเงินเดือนเดือนละ 10,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือนและโจทก์ฟ้องเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลยที่ 2 เพียง 57 วัน ซึ่งเป็นเงิน 19,000 บาท ดังนั้น ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 20,000 บาท แก่โจทก์ จึงเป็นการเกินคำขอ
ส่วนอุทธรณ์จำเลยที่ 2 ข้อ 3.1 ที่ว่า โจทก์เข้าทำงานกับจำเลยที่ 2 วันที่ 10 กรกฎาคม 2540 จำเลยที่ 2 ได้บอกเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ 1 สิงหาคม 2540 หากจำเลยที่ 2 ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ก็ชอบที่จะกำหนดสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์เท่ากับจำนวนสินจ้างที่จะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าจำนวน 1 เดือน เป็นเงินเพียง 10,000 บาทที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 2 เดือน จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 วรรคหนึ่ง กำหนดให้บอกกล่าวล่วงหน้าเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่งเพื่อให้มีผลเลิกสัญญากัน เมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไป เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 2 บอกเลิกจ้างโจทก์วันที่ 1 สิงหาคม 2540 แต่เนื่องจากค่าจ้างกำหนดจ่ายกันทุกวันสิ้นเดือนฉะนั้น ระยะเวลาการบอกกล่าวล่วงหน้าของจำเลยที่ 2 จะชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อจำเลยที่ 2 เลิกจ้างในวันที่ 30 กันยายน 2540 ซึ่งเป็นกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไป การที่จำเลยที่ 2 บอกเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2540 กำหนดระยะเวลาการบอกกล่าวล่วงหน้าของจำเลยที่ 2 จึงไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยส่วนนี้มานั้นชอบแล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 19,000 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share