คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5493/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์ว่า โจทก์ลาออกจากการเป็นพนักงานของบริษัทจำเลยที่ 1 เอง จำเลยทั้งห้ามิได้เลิกจ้างโจทก์นั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของ ศาลแรงงานที่รับฟังว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ ไม่ใช่เป็นกรณีโจทก์ลาออกเอง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่ศาลแรงงานวินิจฉัยมาว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามสัญญา จำเลยจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยในส่วนค่าเสียหายเกี่ยวกับสินจ้าง แทนการบอกกล่าวล่วงหน้าว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายแก่โจทก์ เพราะจำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นเดียวกัน โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมทำให้โจทก์เสียหาย ซึ่งได้แก่ค่าเสียหายต่าง ๆ ที่โจทก์ระบุมา ในฟ้อง ศาลแรงงานวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งห้าเลิกจ้างโจทก์ โดยไม่เป็นธรรม จำเลยจึงต้องจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์การคำนวณค่าเสียหายในส่วนนี้ศาลแรงงานอาศัยเพียงสัญญาจ้าง เป็นฐานในการคิดเท่านั้น มิใช่เป็นการพิพากษาให้จำเลย จ่ายค่าเสียหายในส่วนนี้ตามข้อตกลงที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างดังกล่าว ฉะนั้น อุทธรณ์ของจำเลยที่อ้างว่าโจทก์ไม่มีสิทธิ ได้รับค่าเสียหายในส่วนนี้ตามสัญญาจ้างจึงไม่ใช่เป็นการ โต้แย้งคำพิพากษาศาลแรงงานที่จะอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ กระทำการแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลในฐานะนายจ้างแม้ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 2 จะระบุให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 มีฐานะเป็นนายจ้างด้วยก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ได้กระทำการใด ๆอันเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 2ถึงที่ 5 ก็เป็นเพียงผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นตัวการเท่านั้น จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวหรือร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ เมื่อตามเอกสารระบุถึงการจ่ายเงินเดือนแก่โจทก์หลังจากเลิกจ้างแล้วอีก 3 เดือน โดยไม่ปรากฏว่าเป็นเงินประเภทใด แต่การจ่ายเงินในอัตราดังกล่าวเป็นลักษณะของการจ่ายค่าชดเชย ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46(2) เพราะโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลย เป็นเวลาปีเศษ แต่ไม่ครบ 3 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับ ค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน หรือ 3 เดือน ซึ่งเท่ากับ จำนวนเงินที่จำเลยจ่ายแก่โจทก์ การที่ศาลแรงงานนำข้อเท็จจริง ตามเอกสารดังกล่าวที่ว่าโจทก์ได้รับเงินจากจำเลยหลังจาก เลิกจ้างแล้วดังกล่าวไปหักออกจากความรับผิดที่จำเลยจะต้องจ่าย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเงินที่โจทก์ได้รับหลังจากเลิกจ้างแล้วนั้นเป็นส่วนหนึ่งของความรับผิดในการจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าว ล่วงหน้าแก่โจทก์ จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลแรงงานพิพากษาให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยนับแต่วันที่เกิน คำขอของโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกา เห็นควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ เมื่อวันที่ 15กุมภาพันธ์ 2538 จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบริหาร มีหน้าที่ปฏิบัติงานตามวัตถุประสงค์และคำสั่งของจำเลยที่ 1 โดยมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 กระทำการแทนจำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้าง สัญญาจ้างมีสาระสำคัญว่าจำเลยจะจ่ายค่าจ้างให้โจทก์เดือนละ 2 ครั้ง ทุกวันที่ 14 และวันที่ 28 ของเดือน โจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 185,500 บาท โจทก์มีสิทธิได้รับเงินส่วนแบ่งจากกำไรสุทธิในอัตราร้อยละของกำไรสุทธิ โจทก์มีสิทธิได้รับค่าธรรมเนียมประจำปีในการเป็นสมาชิกของสโมสรกีฬากรุงเทพ ซึ่งปัจจุบันโจทก์ชำระปีละ 107,000 บาท โจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ การเสนองานใหม่ การทำประกันสุขภาพ การหยุดพักผ่อนประจำปี สำหรับการเลิกจ้าง จำเลยจะต้องบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ทราบเป็นเวลา 6 เดือน ต่อมาวันที่ 30 กันยายน 2539 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและจำเลยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามสัญญา อันถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องขาดรายได้ประจำจากเงินเดือนและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามสัญญาจ้างแรงงาน โดยโจทก์มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 6 เดือน คิดเป็นเงิน 1,113,000 บาท ค่าเสียหายเนื่องจากโจทก์ไม่ได้รับส่วนแบ่งจากผลกำไรเป็นระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2540 ถึง 2544 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,185,000 บาท โจทก์มีสิทธิได้รับค่าเสียหายสำหรับค่าสมาชิกสโมสรกีฬากรุงเทพ เป็นระยะเวลา 5 ปี ปีละ 107,000 บาท รวมเป็นเงิน 535,000 บาท โจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าทุก ๆ ระยะ 7 วันของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 1,113,000 บาท นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2539 ถึงวันฟ้องรวม 121 วัน เป็นเงิน 3,005,100 บาท ดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงิน 1,722,500 บาท นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2539 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 42,826.54 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหาย ในลักษณะต่าง ๆ พร้อมดอกเบี้ยตามฟ้อง กับให้จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการทำงานให้โจทก์
จำเลยทั้งห้าให้การว่า จำเลยทั้งห้าไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ตามฟ้อง แต่โจทก์เป็นฝ่ายสมัครใจลาออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 เอง เพื่อไปทำงานกับบริษัทอื่นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2539 จำเลยที่ 1 อนุมัติให้โจทก์ลาออกได้ จำเลยทั้งห้าจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและเงินต่าง ๆ ตามฟ้องให้แก่โจทก์เงินส่วนแบ่งจากผลกำไรมิใช่เป็นเงินที่โจทก์จะได้รับเป็นการแน่นอนแต่เป็นการตกลงกันในเงื่อนไขไว้ในอนาคตว่าหากโจทก์ทำงานกับจำเลยที่ 1 ครบปี และจำเลยที่ 1 มีกำไรสุทธิ โจทก์ก็จะได้รับส่วนแบ่งจากผลกำไร หากขาดทุนโจทก์ก็จะไม่ได้รับส่วนแบ่งนี้ เมื่อโจทก์พ้นสภาพการเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินส่วนแบ่งจากผลกำไรที่เรียกมาล่วงหน้าดังกล่าวสำหรับเงินค่าสมาชิกสโมสรกีฬากรุงเทพเป็นสวัสดิการที่จำเลยที่ 1 ให้สำหรับพนักงาน ค่าสมาชิกดังกล่าวจำเลยที่ 1 จ่ายให้แก่สโมสรมิได้จ่ายให้แก่โจทก์เช่นเดียวกับค่าจ้าง โจทก์พ้นสภาพการเป็นพนักงานแล้วจำเลยที่ 1 ไม่จำต้องจัดสวัสดิการดังกล่าวให้โจทก์หรือใช้เงินให้แก่โจทก์แทน โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าทุกระยะเจ็ดวันของยอดเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เพราะเงินดังกล่าวมิใช่ค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินเพิ่ม จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในการจ้างโจทก์เข้าทำงาน จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5จึงไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 558,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 30 กันยายน 2539 และจ่ายค่าสมาชิกสโมสรกีฬาจำนวน 107,000 บาท กับจ่ายส่วนแบ่งกำไรจำนวน1,185,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะจ่ายเงินเสร็จแก่โจทก์ ทั้งให้ออกหนังสือรับรองการทำงานให้โจทก์ด้วย แต่ทั้งนี้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว คำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งห้าอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์ว่าโจทก์ลาออกจากการเป็นพนักงานของบริษัทจำเลยที่ 1 เอง จำเลยทั้งห้ามิได้เลิกจ้างโจทก์นั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางที่รับฟังว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ ไม่ใช่เป็นกรณีโจทก์ลาออกเอง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์เรื่องค่าเสียหายเกี่ยวกับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าว่าจำเลยไม่ต้องจ่ายแก่โจทก์เพราะจำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมาว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามสัญญา จำเลยจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยในส่วนนี้จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
สำหรับค่าเสียหายที่เกี่ยวกับเงินส่วนแบ่งกำไรประจำปีที่จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์ว่า ตามสัญญาจ้างเงินส่วนแบ่งผลกำไรจำเลยต้องรับผิดชอบต่อเมื่อโจทก์ยังเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 อยู่เมื่อพ้นหน้าที่เป็นพนักงานของจำเลยแล้วก็ไม่มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งผลกำไรนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่าจำเลยทั้งห้าเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์เสียหายซึ่งได้แก่ค่าเสียหายต่าง ๆที่โจทก์ระบุมาในฟ้อง ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งห้าเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม จำเลยจึงต้องจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ การคำนวณค่าเสียหายในส่วนนี้เพียงอาศัยสัญญาจ้างตามที่ระบุไว้ในเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 4 เป็นฐานในการคิดเท่านั้น มิใช่เป็นการพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายในส่วนนี้ตามข้อตกลงที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างดังกล่าว ฉะนั้น อุทธรณ์ของจำเลยทั้งห้าที่อ้างว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายในส่วนนี้ตามสัญญาจ้างจึงไม่ใช่เป็นการโต้แย้งคำพิพากษาศาลแรงงานกลางที่จะอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
โจทก์อุทธรณ์ในข้อแรกว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ด้วยนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลในฐานะนายจ้าง แม้ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 จะระบุให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 มีฐานะเป็นนายจ้างด้วยก็ตามแต่เมื่อได้กระทำการใด ๆ อันเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ก็เป็นเพียงผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการเท่านั้น จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวหรือร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์
โจทก์อุทธรณ์อีกข้อหนึ่งว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ 6 เดือน แต่จำเลยจ่ายให้หลังจากเลิกจ้างแล้ว 3 เดือน จึงพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเพียง 3 เดือน ไม่ถูกต้อง เพราะเงินที่จำเลยจ่ายหลังเลิกจ้าง 3 เดือน เป็นการจ่ายค่าชดเชย ไม่ใช่เป็นการจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น เห็นว่า ตามเอกสารหมาย จ.6ระบุถึงการจ่ายเงินเดือนแก่โจทก์หลังจากเลิกจ้างแล้วอีก 3 เดือนโดยไม่ปรากฏว่าเป็นเงินประเภทใด แต่การจ่ายเงินในอัตราดังกล่าวเป็นลักษณะของการจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46(2) เพราะโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยเป็นเวลาปีเศษ แต่ไม่ครบ 3 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน หรือ 3 เดือน ซึ่งเท่ากับจำนวนเงินที่จำเลยจ่ายแก่โจทก์ดังที่โจทก์อุทธรณ์ การที่ศาลแรงงานกลางนำข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์ได้รับเงินจากจำเลยหลังจากเลิกจ้างแล้วดังกล่าวไปหักออกจากความรับผิดที่จำเลยจะต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเงินที่โจทก์ได้รับหลังจากเลิกจ้างแล้วนั้นเป็นส่วนหนึ่งของความรับผิดในการจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย จำเลยต้องรับผิดในสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 6 เดือน ตามฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ แต่ที่ศาลแรงงานกลางให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 30 กันยายน 2539 นั้น เป็นการพิพากษาเกินคำขอของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไข
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์จำนวน 1,113,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share