คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5492/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อความที่จำเลยที่ 1 เบิกความตอบทนายโจทก์ไว้ในสำนวน อย่างชัดแจ้งตามคำให้การพยานจำเลย ศาลแรงงานย่อมมีอำนาจ หยิบยกข้อความดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้ เพราะเป็นการวินิจฉัย ไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยเมื่อล้วนเป็นกรณีที่ขอให้ศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงใหม่ให้ผิดแผกแตกต่างไปจากข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานรับฟังมา ย่อมเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1ไว้ต่อโจทก์ซึ่งระบุไว้อย่างชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 2ขอค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในการเข้าทำงานกับโจทก์ ถ้าจำเลยที่ 1 กระทำด้วยประการใด ๆ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย และจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์แล้วจำเลยที่ 2 ยินยอมรับผิด ชดใช้แทนแก่โจทก์จนครบ แม้สัญญาค้ำประกันดังกล่าวจะได้กระทำกันก่อน ที่จำเลยที่ 1 เข้าทำงานกับโจทก์ก็ตาม แต่ก็เป็นการประกันความรับผิดในหนี้ในลักษณะที่เป็นเหตุการณ์ในอนาคตซึ่งหนี้นั้นอาจเกิดขึ้นจริง หรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681 วรรคสอง เมื่อต่อมาหนี้นั้นได้เกิดขึ้นตามที่ได้ตกลง ค้ำประกันไว้ จำเลยที่ 2 ก็ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เคยเป็นลูกจ้างโจทก์ จำเลยที่ 2และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 4,762,000 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 4,702,000 บาทนับแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2539 และจากต้นเงิน 60,000 บาท นับแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 กระทำการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ไว้ต่อโจทก์ จึงต้องรับผิดในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นในระหว่างปฏิบัติหน้าที่เป็นลูกจ้างโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 3 เข้าค้ำประกันจำเลยที่ 1 หลังจากที่จำเลยที่ 1 ก่อความเสียหายแก่โจทก์แล้ว จึงไม่ต้องรับผิดย้อนหลังขึ้นไปในความเสียหายที่เกิดขึ้นก่อนเข้าทำสัญญาค้ำประกัน พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 4,762,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 60,000 บาทนับแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2537 และจากต้นเงิน 4,702,000 บาทนับแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์คดีสำหรับจำเลยที่ 3 ให้ยก
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยโดยฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 เบิกความตอบทนายโจทก์รับว่า โดยหลักแล้วผู้จัดการสาขาไม่มีอำนาจในการค้ำประกันให้บุคคลช่วยจัดหาเงินมาซื้อรถยนต์จึงน่าเชื่อว่าการทำบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.13 หรือ ล.4 ในลักษณะดังกล่าวอยู่นอกเหนือขอบอำนาจของผู้จัดการสาขา เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่มีถ้อยคำดังกล่าวปรากฏในสำนวน เพราะจำเลยที่ 1 ไม่เคยเบิกความยอมรับข้อความดังกล่าวนั้น เห็นว่า ข้อความที่อ้างเป็นข้อความที่จำเลยที่ 1 เบิกความตอบทนายโจทก์ไว้ในสำนวนอย่างชัดแจ้ง ตามคำให้การพยานจำเลยเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2540 ในแผ่นที่ 2 ฉะนั้นที่ศาลแรงงานกลางหยิบยกข้อความดังกล่าวขึ้นวินิจฉัย จึงเป็นการวินิจฉัยไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนแล้ว หาใช่เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ปรากฏในสำนวนดังที่จำเลยที่ 1 ยกขึ้นอุทธรณ์ไม่ ส่วนอุทธรณ์อื่น ๆ ของจำเลยที่ 1 ล้วนเป็นกรณีที่ขอให้ศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงใหม่ให้ผิดแผกแตกต่างไปจากข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
สำหรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ว่า สัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.11 หรือ ล.1 ไม่ผูกพันจำเลยที่ 2 เพราะทำขึ้นก่อนที่จำเลยที่ 1 เข้าทำงานกับโจทก์แต่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการทำสัญญาค้ำประกันในลักษณะดังกล่าวเป็นการทำสัญญาค้ำประกันหนี้ในอนาคตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 681 เป็นการแปลความบทกฎหมายไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่าจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ไว้ต่อโจทก์ ตามเอกสารหมาย จ.11หรือ ล.1 ซึ่งระบุไว้อย่างชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 2 ขอค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในการเข้าทำงานกับโจทก์ ถ้าจำเลยที่ 1 กระทำด้วยประการใด ๆเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายและจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์แล้ว จำเลยที่ 2 ยินยอมรับผิดชดใช้แทนแก่โจทก์จนครบเช่นนี้แม้สัญญาค้ำประกันดังกล่าวจะได้กระทำกันก่อนที่จำเลยที่ 1 เข้าทำงานกับโจทก์ดังที่จำเลยที่ 2 อ้างก็ตาม แต่ก็เป็นการประกันความรับผิดในหนี้ในลักษณะที่เป็นเหตุการณ์ในอนาคตซึ่งหนี้นั้นอาจเกิดขึ้นจริงหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681 วรรคสอง เมื่อต่อมาหนี้นั้นได้เกิดขึ้นตามที่ได้ตกลงค้ำประกันไว้ จำเลยที่ 2 ก็ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันดังที่ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยมาชอบแล้ว หาใช่เป็นการแปลความหมายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681 วรรคสอง ผิดไปดังที่จำเลยที่ 2 อ้างไม่
พิพากษายืน

Share