คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 549/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องถึงคดีที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษและมีคำขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 92 แม้ศาลชั้นต้นไม่ได้สอบคำให้การจำเลยที่ 1 ว่า เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ แต่โจทก์ได้อ้างส่งบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ซึ่งให้การว่า เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกในความผิดฐานลักทรัพย์ และพ้นโทษเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 และจำเลยที่ 1 ยังเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามติงว่า จำเลยที่ 1 พ้นโทษออกจากเรือนจำกลางสุรินทร์ในข้อหาลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 ต่อมาอีก 27 วัน ก็ถูกจับกุมคดีนี้ อันสอดคล้องกับบันทึกคำให้การดังกล่าว และได้ความตรงกับคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษตามฟ้องว่า จำเลยเคยต้องโทษในความผิดฐานลักทรัพย์ของศาลชั้นต้นจริง เมื่อพ้นโทษจำเลยกลับมากระทำความผิดคดีนี้อีกภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษ ถือว่าโจทก์ได้นำสืบให้ปรากฏข้อเท็จจริงนั้นแล้ว จึงเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตามคำขอของโจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 15, 57, 66, 91, 100/1, 102 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3, 7 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 92 เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตามกฎหมาย ริบของกลาง
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพข้อหาร่วมกันพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนและข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีน ส่วนข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายให้การปฏิเสธ แต่รับว่ามีเมทแอมเฟตามีน 400 เม็ด ไว้ในครอบครอง
จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีน ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 และจำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่งและวรรคสาม (2), 66 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80,83 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 7 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 11 ปี และปรับ 600,000 บาท ฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเช่นเดียวกับความผิดสำเร็จ จำคุก 7 ปี และปรับ 400,000 บาท ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 6 เดือน เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 24 ปี 8 เดือน และปรับ 1,333,333.33 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กระทงละกึ่งหนึ่งจำเลยที่ 1 คงจำคุก 12 ปี 4 เดือน และปรับ 666,666.66 บาท จำเลยที่ 2 คงจำคุก 3 เดือน และปรับ 5,000 บาท เฉพาะจำเลยที่ 2 ให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี คุมความประพฤติไว้ 1 ปี โดยให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง กับให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยที่ 2 เห็นสมควร มีกำหนด 24 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากต้องกักขังจำเลยที่ 1 แทนค่าปรับให้กักขังได้ไม่เกิน 1 ปี ริบเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 เครื่อง ยี่ห้อซัมซุงและยี่ห้อเทเลโก ของกลาง ให้คือโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง ยี่ห้อออปโป้ ของกลางแก่เจ้าของ ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 10 ปี ฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 6 ปี ลดโทษกระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 ปี เมื่อรวมกับโทษปรับและโทษจำคุกฐานเสพเมทแอมเฟตามีนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุก 8 ปี 3 เดือน และปรับ 500,000 บาท ยกคำขอให้เพิ่มโทษ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่ศาลอุทธรณ์ไม่เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า ก่อนคดีนี้ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2555 จำเลยที่ 1 ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 1 ปี ในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 66/2555 ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 พ้นโทษในคดีดังกล่าวแล้วกลับมากระทำความผิดคดีนี้อีกภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษ และขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 แม้ศาลชั้นต้นไม่ได้สอบคำให้การจำเลยที่ 1 ว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ และพยานโจทก์มิได้เบิกความถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว แต่โจทก์ได้อ้างส่งบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ให้การว่าเคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกในความผิดฐานลักทรัพย์ และพ้นโทษเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 และจำเลยที่ 1 ยังเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามติงว่า จำเลยที่ 1 พ้นโทษออกจากเรือนจำกลางสุรินทร์ในข้อหาลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 ต่อมาอีก 27 วัน ก็ถูกจับกุมคดีนี้ อันสอดคล้องกับบันทึกคำให้การดังกล่าว และได้ความตรงกับคดีที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษตามฟ้องว่า จำเลยเคยต้องโทษในความผิดฐานลักทรัพย์ของศาลชั้นต้นจริง เมื่อพ้นโทษจำเลยกลับมากระทำความผิดคดีนี้อีกภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษ ถือว่าโจทก์ได้นำสืบให้ปรากฏข้อเท็จจริงนั้นแล้วจึงเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตามคำขอของโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2559 มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 25) พ.ศ.2559 ใช้บังคับ โดยมาตรา 5 ให้ยกเลิกความในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 30 และให้ใช้ความใหม่แทน ซึ่งกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดเป็นคุณกว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด จึงให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 ไม่ว่าในทางใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 10 ปี และปรับ 600,000 บาท ฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 6 ปี และปรับ 400,000 บาท และฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 6 เดือน เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 22 ปี และปรับ 1,333,333.33 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 11 ปี และปรับ 666,666.66 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 (ที่แก้ไขใหม่) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share