คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5489/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ความรับผิดของผู้บังคับบัญชาในทางแพ่งจะต้องเป็นไปตามหลักเรื่องละเมิดตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 420 อันได้แก่การกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรในการปฏิบัติหน้าที่แล้วโดยมิได้ประมาทเลินเล่อ จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้เงินให้โจทก์ การที่ อ. กระทำการทุจริตรับเงินไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวได้เป็นผลโดยตรงจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบของโจทก์จึงต้องรับผิดชดใช้เงินให้โจทก์โดยจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้บังคับบัญชาโดยตรงของจำเลยที่ 4 รู้แล้วว่าจำเลยที่ 4 จ่ายเงินโดยไม่ปฏิบัติตามระเบียบ แต่ปล่อยปละละเลยให้จำเลยที่ 4 กระทำเช่นนั้นจึงต้องร่วมรับผิดในเงินที่จำเลยที่ 4 เป็นผู้จ่ายด้วย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคล จำเลยทั้งสี่ประมาทเลินเล่อได้จ่ายเงินให้นางอรัญญาไป โดยเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของทางราชการ เป็นเหตุให้นางอรัญญาทุจริตได้เงินของโจทก์ไปหลายครั้งโจทก์เสียหายเป็นเงิน 177,400 บาท แต่ได้คืนแล้ว 38,000 บาท ยังขาดอยู่อีก 139,370 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน139,370 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดถึงวันฟ้องคือวันที่ 8 มีนาคม 2528 เป็นค่าดอกเบี้ย 36,784.55 บาท รวมเป็นเงิน 176,154.55 บาท และขอดอกเบี้ยอัตราเดียวกันนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้ประมาทเลินเล่อ การเบิกจ่ายเงินตามฟ้องเป็นงานที่ขึ้นตรงต่อจำเลยที่ 2 ไม่มีการนำเสนอจำเลยที่ 1 ตามระเบียบ จำเลยที่ 1 จึงไม่ทราบความเป็นไป จำเลยที่ 1 ได้กวดขันดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทุกสายงานให้เป็นไปด้วยดีแล้วขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่มีหน้าที่ตรวจสอบและเสนอเรื่องการรับจ่ายเงินและยืมเงินทดรองของข้าราชการในระดับอธิการบดี หรือรองอธิการบดี เพราะเกินอำนาจของจำเลย โจทก์มีหลักฐานการทุจริตเป็นเงินเพียง 141,600 บาท และธนาคารออมสินสาขาดอยสุเทพ ชดใช้ให้โจทก์แล้ว 78,000 บาท โจทก์จึงเสียหายไม่เกิน103,600 บาท และศาลได้มีคำพิพากษาในคดีอาญาให้นางอรัญญาชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 แต่ยื่นเกินกำหนดศาลชั้นต้นสั่งไม่รับคำให้การจำเลยที่ 4
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 139,370 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี คิดตั้งแต่วันที่ 8มีนาคม 2527 จนถึงวันชำระเสร็จให้โจทก์ ให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดในต้นเงินดังกล่าวเพียง 130,870 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราเดียวกันคิดตั้งแต่วันเดียวกันจนถึงวันชำระเสร็จให้โจทก์
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…เอกสารที่ปลอมทั้งหมดในคดีนี้ ไม่ได้นำเสนอผ่านขั้นตอนตามระเบียบ โดยนางอรัญญาได้ปลอมขึ้นแล้วนำเสนอไปยังหน่วยรับจ่ายเงินรายได้คือต่อจำเลยที่ 3 ที่ 4 โดยไม่ผ่านจำเลยที่ 1ที่ 2 ก่อน จำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่อาจทราบได้ว่ามีการปลอมเอกสารนั้นหากมีการผ่านงานตามขั้นตอนแล้ว นางอรัญญาก็ไม่สามารถกระทำการทุจริตครั้งนี้ได้ ปรากฏว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ทราบเรื่องทุจริตแล้วก็ได้เรียกจำเลยที่ 3 ที่ 4 มาสอบถามโดยเร็ว ให้ทำคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรตามเอกสารหมาย ล.10 ล.11 ส่วนจำเลยที่ 2 ได้ทราบเหตุดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 โดยได้รับคำสั่งจากจำเลยที่ 1 ให้ทำการตรวจเอกสารทั้งหมด แม้จำเลยที่ 1 ที่ 2 จะเป็นผู้บังคับบัญชาจำเลยที่ 3 ที่ 4ก็ตาม ความรับผิดของผู้บังคับบัญชาในทางแพ่งหาใช่ต้องมีหน้าที่ควบคุมดูแลให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปฎิบัติหน้าที่โดยถูกต้องและเรียบร้อย ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ ความรับผิดของผู้บังคับบัญชาในทางแพ่งจะต้องเป็นไปตามหลักเรื่องละเมิดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 อันได้แก่การกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรในการปฏิบัติหน้าที่แล้ว โดยมิได้ประมาทเลินเล่อ จำเลยที่ 1 ที่ 2จึงไม่ต้องรับผิดชอใช้เงินให้โจทก์ สำหรับจำเลยที่ 3 ที่ 4ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การขออนุมัติยืมเงินทดรองราชการมีระเบียบการเก็บรักษาเงินและการนำส่งคลังของส่วนราชการ พ.ศ. 2520 ข้อ 40 และ41 ระบุว่าจะต้องยื่นผ่านหัวหน้ากองคลังเพื่อพิจารณาเสนอความเห็นต่อผู้มีอำนาจอนุมัติ แต่เอกสารที่ปลอมทั้งหมดในคดีนี้นางอรัญญาได้นำเสนอจำเลยที่ 3 ที่ 4 และจำเลยที่ 3 ที่ 4 ได้จ่ายเงินยืมทดรองราชการให้แก่นางอรัญญาไป ศาลฎีกาเห็นว่า การจ่ายเงินในลักษณะเช่นนี้ต้องปฏิบัติตามระเบียบคือ ประกาศของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เรื่องวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการรับการจ่ายเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย ลงวันที่ 29เมษายน 2520 ข้อ 15 เอกสารหมาย จ.10 อันมีข้อความระบุว่าการจ่ายเงินถ้าผู้มีสิทธิรับเงินไม่สามารถมารับเงินด้วยตนเองได้ จะมอบฉันทะให้ผู้อื่นเป็นผู้รับเงินแทน เมื่อได้รับอนุญาตจาากอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แล้วให้กระทำได้ นอกจากนี้ยังมีระเบียบการเบิกจ่ายเงินจากคลัง พ.ศ. 2520 ข้อ 62(3) เอกสารหมาย จ<.12 ระบุว่าเงินที่ยืมไป ให้ผู้ยืมส่งไบสำคัญคู่จ่าย และเงินเหลือจ่าย (ถ้ามี)ต่อส่วนราชการผู้ให้ยืมภายใน 30 วัน นับจากวันได้รับเงิน ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4 ได้จ่ายเงินทดรองราชการให้นางอรัญญาบุคคลที่จะมารับเงินแทนต้องมีหนังสือมอบฉันทะจากผู้มีสิทธิรับเงินแนบมาด้วย และต้องมีการทำเรื่องเบิกเงินคืนภายใน 30 วัน นับจากวันได้รับเงินแต่เมื่อระยะเวลา 30 วันล่วงพ้นไปแล้ว จำเลยที่ 3 ที่ 4 ก็มิได้ทวงถามให้ดำเนินการเบิกเงินคืนแต่อย่างใด เงินงบประมาณแผ่นดินหรือเงินรายได้ของส่วนราชการต้องปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวเช่นกันหากจำเลยที่ 3 ที่ 4 ได้ตรวจสอบปฏิบัติหน้าที่โดยเคร่งครัดโดยเรียกเอาหนังสือมอบฉันทะไว้เป็นหลักฐานหรือทวงถามเป็นรายเรื่องทันทีที่ครบกำหนด นางอรัญญาก็ไม่สามารถกระทำำการทุจริตได้ ฉะนั้นการที่นางอรัญญากระทำการทุจริตรับเงินไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวได้เช่นนี้เป็นผลโดยตรงจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าว จำเลยที่ 3 ที่ 4 จึงต้องรับผิดชดใช้เงินให้โจทก์ โดยจำเยที่ 3 ในฐานะผู้บังคับบัญชาโดยตรงของจำเลยที่ 4รู้แล้วว่าจำเลยที่ 4 จ่ายเงินโดยไม่ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวแต่ปล่อยปละละเลยให้จำเลยที่ 4 กระทำเช่นนั้น ต้องร่วมรับผิดในเงินที่จำเลยที่ 4 เป็นผู้จ่ายด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 3ที่ 4 รับผิดชดใช้เงินให้โจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยแต่ที่ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมรับผิดชดใช้เงินให้โจทก์ด้วยนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยที่ 1 ที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้น ส่วนฎีกาจำเลยที่ 3 ที่ 4 ฟังไม่ขึ้น
ข้อที่จำเลยที่ 3 ที่ 4 ฎีกาว่า ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำพิพากษาให้นางอรัญญาและพันตรีเฉลิม ประภัสสระกูล ร่วมรับผิดชดใช้เงินให้โจทก์แล้ว จำเลยที่ 3 ที่ 4 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์อีกนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 3 ที่ 4 ปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นางอรัญญากระทำการทุจริตรับเงินไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 3 ที่ 4 มีหน้าที่ชดใช้เงินให้โจทก์เช่นกัน หากโจทก์จะได้รับชำระคืนจากนางอรัญญาและพันตรีเฉลิมให้รับผิดต่อโจทก์ดังที่จำเลยที่ 3 ที่ 4 ฎีกาขึ้นมาไม่ฎีกาจำเลยที่ 3 ที่ 4 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน"
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 ที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share