แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่จำเลยฎีกาในเรื่องอำนาจฟ้องว่า ในชั้นพิจารณาโจทก์ไม่ได้นำสืบว่าขณะทำหนังสือมอบอำนาจ ศ. ยังเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์หรือไม่ เพราะหนังสือมอบอำนาจมิได้ระบุวันที่การทำหนังสือมอบอำนาจไว้นั้น ในประเด็นนี้จำเลยให้การสู้คดีไว้ว่า การมอบอำนาจไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะมิใช่ลายมือที่แท้จริงของ ศ. กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย โจทก์บรรยายฟ้องว่า หลังจากจำเลยได้เบิกเงินจากบัญชีกระแสรายวัน เลขที่ 5151-5 ที่สาขาขอนแก่นของโจทก์โดยใช้เช็คหรือใบเบิกที่โจทก์มอบให้ และได้นำเงินเข้าบัญชีอันเป็นการเดินสะพัดทางบัญชี แต่จำเลยไม่ได้ชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้ คิดตั้งแต่วันที่20 พฤษภาคม 2531 อันเป็นที่จำเลยทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ ถึงวันที่ 29 มิถุนายน 2534 ซึ่งเป็นวันเลิกทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี จำเลยเป็นหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยทบต้นในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เป็นเงิน 1,302,129.80บาท คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาข้อนี้ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสอง แล้ว ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า นับตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2533โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยเพราะสัญญาบัญชีเดินสะพัดเลิกกันแล้วนั้น จำเลยให้การสู้คดีไว้ว่าจำเลยไม่เคยทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินจากโจทก์และยอดหนี้ตามฟ้องไม่ถูกต้องเพราะจำเลยไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องตามคำให้การดังกล่าวมีความหมายว่า จำเลยไม่เคยทำสัญญากู้เงินและไม่เคยทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ จำเลยจึงไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ มอบอำนาจให้นางภัทรพรรณ ธรรมัครกุลดำเนินคดีแทนเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2531 จำเลยที่ 1 ยืมเงินโจทก์จำนวน 7,000,000 บาท วันที่ 12 มิถุนายน 2532 จำเลยที่ 1ยืมเงินโจทก์ จำนวน 4,000,000 บาท วันที่ 20 พฤษภาคม 2531จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวงเงิน1,000,000 บาท โดยมีจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จดทะเบียนจำนองที่ดิน น.ส.3 ก. พร้อมสิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักร ไว้เป็นประกันโดยมีข้อตกลงว่าหากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ยอมให้โจทก์นำยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบและจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6และที่ 7 ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญากู้เงินและสัญญากู้เบิกเงินบัญชีไว้กับโจทก์ โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมและยอมสละข้อต่อสู้หากโจทก์ผ่อนเวลาให้จำเลยที่ 1 และยอมให้บังคับเอาจากผู้ค้ำประกันรายใดก่อนก็ได้ หลังจากทำสัญญากับโจทก์แล้วจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ตามกำหนดโจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและบอกกล่าวบังคับจำนองจำเลยทั้งเจ็ดขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระหนี้จำนวน17,688,275.42 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 12,602,129.80 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในต้นเงิน 12,000,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 กันยายน 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์สินที่จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบหากขายได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งเจ็ดออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ให้การว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะลายมือชื่อผู้มอบอำนาจไม่ใช่ลายมือชื่อจริงจำเลยทั้งเจ็ดไม่เคยมีสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์ตามฟ้องและไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามจากโจทก์ โจทก์คิดดอกเบี้ยไม่ถูกต้องตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 17,688,275.42 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 12,602,129.80 บาท หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วน ให้ยึดทรัพย์สินที่จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบให้จำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1เป็นเงิน 12,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันที่ 22 กันยายน 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1, ที่ 2, ที่ 3, ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 6และที่ 7 ฎีกาในเรื่องอำนาจฟ้องว่า ในชั้นพิจารณาโจทก์ไม่ได้นำสืบว่าขณะทำหนังสือมอบอำนาจนายศุภชัย พานิชภักดิ์ ยังเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์หรือไม่ เพราะตามเอกสารหมาย จ.78มิได้ระบุวันที่การทำหนังสือมอบอำนาจไว้นั้น ในประเด็นนี้จำเลยดังกล่าวให้การสู้คดีไว้ว่า การมอบอำนาจไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะมิใช่ลายมือที่แท้จริงของนายศุภชัย พานิชภักดิ์กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์นางภัทรพรรณ ธรรมัครกุลจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 6และที่ 7 ดังกล่าว จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ข้อที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ฎีกาว่าในการทำสัญญาของธนาคารต่าง ๆ เมื่อทำสัญญาแล้วลูกหนี้จึงจะมีสิทธิเบิกเงินไปจากบัญชีในวงเงินที่ทำสัญญา เมื่อโจทก์ไม่บรรยายฟ้องว่าหลังจากจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเบิกเงินแล้วได้มีการเบิกเงินอย่างไรอันจะทำให้ทราบว่าเมื่อใดจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์จำนวนเงินเท่าใดมีการนำเงินเข้าบัญชีอย่างไรอันเป็นการเดินสะพัดบัญชีเพื่อจะได้ทราบว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ถามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเท่าใด จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7ไม่สามารถต่อสู้คดีได้ถูกต้อง ฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุมนั้นปรากฏตามคำฟ้องข้อ 4.2.1 โจทก์บรรยายว่า หลังจากจำเลยที่ 1ได้เบิกเงินจากบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 5151-5 ที่สาขาขอนแก่นของโจทก์ โดยใช้เช็คหรือใบเบิกเงินที่โจทก์มอบให้ และได้นำเงินเข้าบัญชีอันเป็นการเดินสะพัดทางบัญชี แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้ และตามคำฟ้องข้อ 5.2.1 โจทก์ก็ได้บรรยายว่า คิดตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2531อันเป็นที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ถึงวันที่ 29มิถุนายน 2534 ซึ่งเป็นวันเลิกสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยทบต้นในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เป็นเงิน 1,602,129.80 บาท คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาข้อนี้ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว
ส่วนที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ฎีกาว่านับตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2533 โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่ 1 เพราะสัญญาบัญชีเดินสะพัดเลิกกันแล้วนั้น จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ให้การสู้คดีไว้ในข้อ 4 ว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินจากโจทก์และข้อ 6 ว่า ยอดหนี้ตามฟ้องไม่ถูกต้อง เพราะจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง ตามคำให้การดังกล่าวมีความหมายว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยทำสัญญากู้เงินและไม่เคยทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 6และที่ 7 จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน