แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ขอให้แบ่งปันมรดกให้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ที่จำเลยทั้งสามทำกับผู้จัดการมรดกร่วมของผู้ตายโดยมิได้ขอแบ่งที่พิพาทซึ่งเป็นมรดกของผู้ตายด้วย คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแม้โจทก์กล่าวอ้างว่าเป็นการฟ้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความก็ตาม แต่โจทก์มิได้เป็นคู่ความในคดีที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันระบุถึงส่วนแบ่งมรดก การฟ้องคดีของโจทก์ในคดีก่อนจึงเป็นการเรียกร้องมรดกในฐานะที่ตนเป็นทายาทนั่นเอง ในเมื่อคดีก่อนโจทก์มิได้ฟ้องขอแบ่งที่พิพาทที่เป็นมรดกมาด้วยตามสิทธิที่จะเรียกร้องได้ คงมาฟ้องใหม่เป็นคดีนี้ ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในคดีนี้จึงเป็นประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับประเด็นที่ได้วินิจฉัยไว้ในคดีก่อน เมื่อโจทก์จำเลยทั้งสามเป็นคู่ความรายเดียวกัน คดีของโจทก์จึงต้องห้ามมิให้รื้อร้องฟ้องกันอีกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 148 ปัญหาที่ว่าฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อศาลเห็นสมควรก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5) ทั้งข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนตามที่คู่ความนำสืบก็เป็นการนำสืบโดยถูกต้องตามวิธีพิจารณา ศาลจึงยกขึ้นวินิจฉัยได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดกของนายทอง เจริญพูลต่อมานางละมูล เจริญพูล นางเจริญ เจริญพูล และนางเอี้ยง เจริญพูลฝ่ายหนึ่ง จำเลยทั้งสามอีกฝ่ายหนึ่งต่างยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายทอง ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งตั้งให้ทั้งสองฝ่ายเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน ต่อมานางละมูล นางเจริญ และนางเอี้ยง ได้ฟ้องจำเลยทั้งสามขอให้ศาลสั่งถอนจำเลยทั้งสามออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและสั่งให้ส่งทรัพย์มรดกให้แก่บุคคลทั้งสาม แต่ทั้งสองฝ่ายได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันให้แบ่งทรัพย์มรดกแก่โจทก์ จำเลยและนางสาวสคราญ เจริญพูล คนละเท่า ๆ กัน โดยโจทก์ได้ 1 ใน 5 ส่วนของมรดกของนายทอง และให้นางละมูล นางเจริญ และนางเอี้ยง ลาออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก บุคคลทั้งสามได้ขอลาออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกดังกล่าว ศาลอนุญาตแล้วคงเหลือแต่จำเลยทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดกตลอดมา ขณะที่นายทองตายมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินมีโฉนด 7 แปลง จำเลยทั้งสามไม่แบ่งปันมรดกให้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสามให้แบ่งทรัพย์มรดกให้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยโจทก์ระบุทรัพย์มรดกที่เป็นที่ดินมาในบัญชีทรัพย์มรดกท้ายฟ้องเพียง 6 แปลง ปรากฏตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 669/2521ของศาลชั้นต้น จึงเหลือทรัพย์มรดกที่เป็นที่ดินอยู่อีก 1 แปลง คือที่ดินโฉนดเลขที่ 8019 หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านสวน อำเภอเมืองชลบุรีจังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง โจทก์จึงมีสิทธิรับมรดกที่ดินทุกแปลง ซึ่งศาลได้พิพากษาว่าเป็นมรดกของนายทอง จะต้องนำมาแบ่งแก่ทายาทตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 699/2521 ของศาลชั้นต้นและคดีถึงที่สุดแล้ว ส่วนแบ่ง 1 ใน 5 คิดเป็นเงินประมาณ 60,000 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 8019 โอนให้แก่โจทก์ 1 ใน 5 ส่วน ของที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาถ้าโอนไม่ได้ให้ใช้ราคาทรัพย์มรดกดังกล่าวแทนพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ถ้าไม่สามารถตกลงแบ่งกันได้ก็ให้ขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งให้โจทก์ 1 ใน 5 ส่วน
จำเลยทั้งสามให้การทำนองเดียวกันว่า ก่อนตายนายทอง เจริญพูลได้ทำพินัยกรรมฉบับเขียนเอง ระบุให้โอนทรัพย์สินของตนทั้งหมดรวมทั้งที่ดินโฉนดเลขที่ 8019 เป็นของมูลนิธิทองเจริญ ทรัพย์มรดกของนายทองจึงตกเป็นของมูลนิธิทองเจริญแล้ว บรรดาทายาทจึงถูกตัดมิให้รับมรดก คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 669/2521 ของศาลชั้นต้น ศาลมิได้พิพากษาว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 8019 เป็นทรัพย์มรดกของนายทองอันจะต้องนำมาแบ่งปันแก่ทายาทแต่อย่างใด เพราะโจทก์มิได้ฟ้องขอแบ่งที่ดินแปลงดังกล่าวไ้ป นอกจากนี้ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 120/2518 ของศาลชั้นต้น ที่โจทก์อาศัยมาฟ้องเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 669/2521ของศาลชั้นต้น ก็ได้ระบุให้ที่ดินแปลงดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างในที่ดินเป็นของมูลนิธิทองเจริญ โจทก์จึงผูกพันตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงยุติว่า โจทก์เป็นทายาทของนายทองจำเลยทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดกของนายทอง โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกของนายทอง โดยมิได้ขอแบ่งที่พิพาทซึ่งเป็นมรดกของนายทองมาด้วย คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 669/2521 ปัญหามีว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นการฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าวหรือไม่ เห็นว่า ที่ดินที่โจทก์ฟ้องขอแบ่งนั้นเป็นมรดกของนายทอง ในเมื่อโจทก์เคยฟ้องขอแบ่งมรดกของนายทองจากจำเลยทั้งสามแล้ว แม้โจทก์จะกล่าวอ้างว่าเป็นการฟ้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความก็ตาม แต่โจทก์เองก็กล่าวมาในฎีกาว่า มิได้เป็นคู่ความในคดีที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันระบุถึงส่วนแบ่งมรดกการฟ้องคดีของโจทก์ในคดีก่อนจึงเป็นการเรียกร้องมรดกในฐานะที่ตนเป็นทายาทนั่นเองในเมื่อคดีก่อนโจทก์มิได้ฟ้องขอแบ่งที่พิพาทที่เป็นมรดกมาด้วยตามสิทธิที่จะเรียกร้องได้การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยทั้งสามขอแบ่งมรดกส่วนที่ยังมิได้ขอแบ่งในคดีก่อน ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในคดีนี้จึงเป็นประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับประเด็นที่ได้วินิจฉัยไว้ในคดีก่อน และโจทก์จำเลยทั้งสามเป็นคู่ความรายเดียวกัน เช่นนี้ คดีของโจทก์ จึงต้องห้ามมิให้รื้อร้องฟ้องกันอีกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 และปัญหาที่ว่าฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่นั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนเมื่อศาลเห็นสมควรก็ยกขึ้นวินิจฉัยคดีได้ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)ทั้งข้อเท็จจริงที่นำมาวินิจฉัยปัญหานี้ก็มีปรากฏในสำนวนตามที่คู่ความนำสืบโดยถูกต้องตามวิธีพิจารณา มิใช่ข้อเท็จจริงนอกสำนวนตามที่โจทก์อ้างในฎีกา
พิพากษายืน.