คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5479/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยจำนวน 7 แปลงในคราวเดียวกัน ผู้ร้องประมูลซื้อได้ทั้ง 7 แปลงต่อมาปรากฏว่าที่ดิน 2 แปลงที่ประกาศขายนั้นเป็นทางสาธารณะอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งจะโอนขายให้แก่กันมิได้ การขายที่ดินสองแปลงนี้จึงเป็นการขายทรัพย์สินที่ต้องห้ามโอนขายตามกฎหมายตกเป็นโมฆะ ส่วนที่ดินอีก 5 แปลง ซึ่งขายมาในคราวเดียวกันโดยไม่สามารถแยกออกได้ว่าที่ดินแปลงใดมีราคาเท่าใด และตามพฤติการณ์ก็ไม่สามารถสันนิษฐานได้ว่าคู่กรณีประสงค์จะให้การขายที่ดินทั้ง 5 แปลงนี้ให้สมบูรณ์แยกต่างหากออกมาได้ การขายที่ดิน5 แปลงนี้จึงตกเป็นโมฆะด้วย

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด จำเลยไม่ชำระหนี้ โจทก์นำยึดที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่6619, 8223, 19683, 19686, 311, 19847 และ 28537 แขวงบางระมาด แขวงฉิมพลี เขตตลิ่งชัน ออกขายทอดตลาด
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นผู้ประมูลซื้อที่ดิน 7 โฉนดได้จากการขายทอดตลาดในราคา 4,000,000 บาท ชำระมัดจำเป็นเงิน 1,000,000 บาทต่อมาทราบว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 19683 และ19847 ถูกเวนคืนเพื่อสร้างถนนพุทธมณฑล สาย 1 เจ้าของที่ดินได้รับชำระเงินจากทางราชการไปแล้ว ส่วนที่ดินแปลงอื่นเป็นถนนเข้าหมู่บ้านและมีการยกให้เป็นทางสาธารณะแล้ว ผู้ร้องไม่สามารถรับโอนกรรมสิทธิ์ได้ การเข้าประมูลซื้อที่ดินของผู้ร้องเป็นการเข้าใจผิดในสาระสำคัญของที่ดิน ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดกับให้เจ้าพนักงานบังคับคดีคืนเงินมัดจำแก่ผู้ร้อง
โจทก์คัดค้านว่า ที่ดินสองโฉนดดังกล่าวยังมิได้ถูกเวนคืนส่วนที่ดินแปลงอื่นยังไม่ได้ยกให้เป็นทางสาธารณะ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ดินที่โจทก์นำยึดเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประกาศขายทอดตลาดที่ดินทั้ง 7 แปลงในคราวเดียวกัน ผู้ร้องเป็นผู้ประมูลซื้อได้หลังจากซื้อผู้ร้องได้ตรวจสอบทางกรุงเทพมหานครแจ้งว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 19683 และโฉนดเลขที่ 19847 เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินแปลงใหญ่โฉนดเลขที่ 311 และโฉนดเลขที่ 309 ซึ่งอยู่ในบริเวณที่ดินที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกา และว่าเจ้าของที่ดินเดิมได้รับค่าชดเชยที่ดินทั้งสองแปลงไปแล้วเป็นเงิน 75เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2508 และเจ้าของเดิมตกลงให้เป็นทางสาธารณะ กรุงเทพมหานครไม่มีอำนาจอนุญาตให้จดทะเบียนสิทธิให้กับผู้ใดเพราะที่ดินตกเป็นทางสาธารณะ โจทก์ไม่ได้นำพยานหลักฐานเข้าสืบหักล้าง จึงฟังได้ว่าที่ดินทั้งสองดังกล่าวตกเป็นทางสาธารณะอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินซึ่งจะโอนขายให้แก่กันมิได้ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1305 การขายทอดตลาดที่ดินทั้งสองแปลงนี้จึงเป็นการขายทรัพย์สินที่ต้องห้ามโอนขายโดยชัดแจ้งตามกฎหมาย จึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 113 ส่วนการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 6619, 8223, 311, 18686 และ 28537 นั้น ได้ความว่าเป็นการขายทอดตลาดรวมมาในคราวเดียวกันกับที่ดิน 2 แปลงดังกล่าวโดยไม่สามารถแยกออกได้ว่าที่ดินแปลงใดมีราคาเท่าใด และตามพฤติการณ์ไม่สามารถสันนิษฐานได้ว่าคู่กรณีประสงค์จะให้การขายที่ดินทั้ง 5 แปลงนี้ให้สมบูรณ์แยกต่างหากออกมาได้เมื่อการขายที่ดินโฉนดเลขที่ 19683 และ 19847 ตกเป็นโมฆะ การขายที่ดินอีก5 แปลงในคราวเดียวกันจึงตกเป็นโมฆะด้วยเช่นกัน ผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการประมูลขายทอดตลาดทรัพย์รายนี้ได้
พิพากษากลับ ให้ยกเลิกการประมูลรายนี้และให้คืนเงินจำนวน1,000,000 บาท แก่ผู้ร้อง

Share