คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5475/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่ผู้ร้องซึ่งอ้างว่าเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง14แปลงแทนลูกหนี้ของผู้ล้มละลายเสนอเงื่อนไขการชำระหนี้จำนองต่อที่ประชุมเจ้าหนี้เท่ากับเป็นการกล่าวอ้างว่าผู้ร้องเป็นบุคคลภายนอกซึ่งมีส่วนได้เสียที่จะเสี่ยงภัยเสียสิทธิในที่ดินของผู้ร้องผู้ร้องย่อมมีสิทธิที่จะเข้าใช้หนี้เสียแทนลูกหนี้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา230,314 เมื่อข้อเสนอขอชำระหนี้ของผู้ร้องแทนลูกหนี้มีผลทำให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องถอนการยึดที่ดินทั้ง14โฉนดอันเป็นทรัพย์ในคดีล้มละลายศาลชอบที่จะให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาข้อเสนอขอชำระหนี้ของผู้ร้องตามมาตรา32แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทเครดิตฟองซิเอร์เยาวราช จำกัด ผู้ล้มละลายเด็ดขาดเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2530 และพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่10 พฤศจิกายน 2530 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือแจ้งให้บริษัทรุ่งอโณทัยการเคหะ จำกัด ลูกหนี้ของผู้ล้มละลายชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินรวม 11,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยและไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดที่ระบุรวม 14 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนด 14 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ แต่ลูกหนี้มิได้ชำระหนี้หรือปฎิเสธหนี้ภายในกำหนดเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีคำขอต่อศาลชั้นต้นให้ออกคำบังคับและหมายบังคับคดีแก่ลูกหนี้ ชั้นบังคับคดีเจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลจังหวัดตราดยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและประกาศขายทอดตลาดผู้ร้องมีหนังสือถึงเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงในทรัพย์สินที่ถูกยึด เพียงแต่ให้บริษัทรุ่งอโณทัยการเคหะ จำกัด ลูกหนี้ของผู้ล้มละลายถือกรรมสิทธิ์แทนและเสนอเงื่อนไขในการชำระหนี้จำนองดังนี้ 1. ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์งดการขายทอดตลาดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไว้ก่อนโดยขอเลื่อนการขายออกไปเพื่อรอฟังมติของที่ประชุมเจ้าหนี้หรือกรรมการเจ้าหนี้ก่อน 2. ในหนี้จำนองที่ตีราคายึดไว้20,090,000 บาท ผู้ร้องขอทยอยชำระให้เสร็จภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมเจ้าหนี้ กรรมการเจ้าหนี้และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ โดยชำระให้ปีละ 4,018,000 บาท จนกว่าจะครบจำนวนที่เป็นหนี้ 3. เมื่อชำระครบแล้วจะขอรับโฉนดที่ดินทั้งสิบสี่โฉนดคืน 4. ค่าเสียหายและค่าประกาศขายทอดตลาดและค่าเสียหายอื่น ๆ ยินดีเป็นฝ่ายเสียเอง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งว่า ผู้ร้องมิได้เป็นลูกหนี้ของผู้ล้มละลายไม่มีอำนาจยื่นข้อเสนอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พิจารณาได้ จึงมีคำสั่งไม่ต้องปฎิบัติตามข้อเสนอ
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องได้รับความเสียหายโดยการกระทำหรือคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 146 เพราะบริษัทรุ่งอโณทัยการเคหะ จำกัดมีฐานะเป็นตัวแทนถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแทนผู้ร้องซึ่งเป็นตัวการ ผู้ร้องสามารถเสนอขอชำระหนี้ได้ ขอให้มีคำสั่งกลับหรือแก้ไขคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยให้เสนอเงื่อนไขการชำระหนี้จำนองของผู้ร้องต่อที่ประชุมเจ้าหนี้
ศาลชั้นต้นรับคำร้องและนัดพิจารณาแล้วต่อมามีคำสั่งว่า ที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องไว้ไต่สวนนั้นเป็นการสั่งโดยผิดหลง ให้เพิกถอนคำสั่งที่รับคำร้อง และให้ยกคำร้อง
ผู้ร้อง อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า กรณีตามคำร้องเป็นเรื่องที่ผู้ร้องต้องยื่นคำร้องคัดค้านการยึดทรัพย์ แต่ผู้ร้องหลบเลี่ยงค่าธรรมเนียมกลับยื่นข้อเสนอขอผ่อนชำระหนี้อันมีลักษณะเป็นคำขอประนอมหนี้ซึ่งเป็นสิทธิของผู้ล้มละลายโดยเฉพาะ ผู้ร้องไม่มีสิทธิเสนอคำขอประนอมหนี้ในคดีนี้ได้ พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามคำร้องของผู้ร้องอ้างว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 14 แปลง โดยให้บริษัทรุ่งอโณทัยการเคหะ จำกัด ลูกหนี้ถือกรรมสิทธิ์แทนและลูกหนี้ได้นำไปจดทะเบียนจำนองแก่ผู้ล้มละลาย เพื่อประกันหนี้เงินกู้ของลูกหนี้ตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งความทวงหนี้ให้ลูกหนี้ชำระหนี้ ผู้ร้องจึงขอเสนอเงื่อนไขการชำระหนี้จำนองต่อที่ประชุมเจ้าหนี้ โดยขอผ่อนชำระหนี้จำนองนั้น เท่ากับเป็นการกล่าวอ้างว่าผู้ร้องเป็นบุคคลภายนอกซึ่งมีส่วนได้เสียที่จะต้องเสี่ยงภัยเสียสิทธิในที่ดินของผู้ร้องทั้ง 14 แปลงที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลจังหวัดตราดยึดไว้เพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้จำนองแก่ผู้ล้มละลาย เมื่อการเสนอขอชำระหนี้ของผู้ร้องไม่ปรากฎว่าจะขัดกับเจตนาของลูกหนี้และผู้ล้มละลายแล้วผู้ร้องย่อมมีสิทธิที่จะเข้าใช้หนี้เสียแทนลูกหนี้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 230และมาตรา 314 กรณีไม่ใช่เรื่องการขอประนอมหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ซึ่งเป็นสิทธิของผู้ล้มละลายโดยเฉพาะ เพราะผู้ร้องไม่ใช่ลูกหนี้ซึ่งถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดที่จะทำความตกลงในเรื่องหนี้สินตามมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483และไม่ใช่เรื่องที่ผู้ร้องขอให้ปล่อยทรัพย์หรือขอให้เพิกถอนการยึดทรัพย์ เพราะตามคำร้องของผู้ร้องไม่ได้ประสงค์ขอให้ปล่อยทรัพย์หรือเพิกถอนการยึดทรัพย์ และหากผู้ร้องชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองแทนลูกหนี้ครบถ้วนแล้ว ก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องต้องไปว่ากล่าวเรียกกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวจากลูกหนี้ต่อไป ซึ่งหาใช่ข้อพิพาทในชั้นนี้ไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา และเมื่อข้อเสนอขอชำระหนี้ของผู้ร้องแทนลูกหนี้ดังกล่าวแก่กองทรัพย์สินของผู้ล้มละลายมีผลทำให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องถอนการยึดที่ดินทั้งสิบสี่โฉนด อันเป็นทรัพย์ในคดีล้มละลาย เช่นนี้ศาลก็ชอบที่จะให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหน้าที่เพื่อพิจารณาข้อเสนอขอชำระหนี้ของผู้ร้องตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 32 ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ครั้งอื่นเพื่อพิจารณาข้อเสนอชำระหนี้แทนลูกหนี้ของผู้ร้องฉบับลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2537 ต่อไป

Share