คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5472/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานยึดชิ้นไม้กฤษณาและกฤษณาจำนวน 30 กิโลกรัมจากจำเลยเป็นของกลาง ซึ่งเป็นของป่าหวงห้ามจำนวนมาก การที่จำเลยเข้าไปเก็บหาและนำออกไปซึ่งชิ้นไม้ดังกล่าวจากเขตอุทยานแห่งชาติ เป็นการลักลอบเก็บของป่าหวงห้ามเพื่อนำไปขายทำให้ป่าไม้ถูกทำลายและเสื่อมสภาพ ก่อให้เกิดความแห้งแล้งผืนดินพังทลาย ลำน้ำตื้นเขินหรือเกิดอุทกภัยและเป็นการทำลายเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ นับเป็นพฤติการณ์ร้ายแรง จึงไม่มีเหตุรอการลงโทษให้จำเลย
โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดแจ้งแล้วว่าจำเลยใช้ขวานของกลางเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการกระทำความผิด จึงต้องริบขวานของกลางตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มาตรา 74 ทวิ และพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติฯ มาตรา 29 ปัญหานี้แม้ศาลชั้นต้นไม่ริบทรัพย์ดังกล่าวและไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้ริบทรัพย์ดังกล่าวได้เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเก็บหา นำออกไป ทำด้วยประการใด ๆ ให้เป็นอันตรายหรือทำให้เสื่อมสภาพซึ่งกฤษณาและชิ้นไม้กฤษณาน้ำหนักรวม 30 กิโลกรัม ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติและเป็นของป่าหวงห้ามในบริเวณป่าคลองหม้อแตก จังหวัดปราจีนบุรีซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยมีชิ้นไม้กฤษณาและกฤษณาจำนวน 30 กิโลกรัม อันเป็นของป่าหวงห้ามดังกล่าว ซึ่งมีปริมาณเกินกว่าที่อนุญาตให้มีไว้ใช้สอยในครัวเรือน โดยไม่ได้รับอนุญาต เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมชิ้นไม้กฤษณาและกฤษณาน้ำหนักรวม 30 กิโลกรัม และขวาน 1 เล่ม ซึ่งเป็นเครื่องมือที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 4, 16, 24, 27 (ที่ถูกน่าจะเป็นมาตรา 29) พระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 29, 29 ทวิ, 71 ทวิ, 74, 74 ทวิ, 74 จัตวา ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 32, 33, 91 ริบของกลางและจ่ายเงินสินบนนำจับตามกฎหมาย

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติพ.ศ. 2504 มาตรา 16(2), 24 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 29 (ที่ถูก29 วรรคหนึ่ง), 29 ทวิ (ที่ถูก 29 ทวิ วรรคหนึ่ง), 71 ทวิ เป็นความผิดหลายกรรม เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานทำให้เสื่อมสภาพซึ่งไม้และทรัพยากรธรรมชาติในเขตอุทยานแห่งชาติเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี ฐานมีของป่าหวงห้ามไว้ในครอบครอง จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 9 เดือน คำขออื่นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า คดีนี้เจ้าพนักงานยึดได้ชิ้นไม้กฤษณาและกฤษณาจำนวนถึง 30 กิโลกรัม เป็นของกลางซึ่งนับว่าเป็นของป่าหวงห้ามจำนวนมาก จำเลยเข้าไปเก็บหาและนำออกไปซึ่งชิ้นไม้กฤษณาและกฤษณาจากเขตอุทยานแห่งชาติ เป็นการลักลอบเก็บหาของป่าหวงห้ามเพื่อนำเอาไปขายทำให้ป่าไม้ถูกทำลายและเสื่อมสภาพ ก่อให้เกิดความแห้งแล้งผืนดินพังทลาย ลำน้ำตื้นเขินหรือเกิดอุทกภัย และเป็นการทำลายเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศนับเป็นพฤติการณ์ที่ร้ายแรง ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยรวมสองกระทงจำคุก 9 เดือน โดยไม่รอการลงโทษนั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขเป็นอย่างอื่น ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นไม่ริบขวานของกลางนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดแจ้งแล้วว่าจำเลยใช้ขวานของกลางดังกล่าวเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการกระทำความผิดตามฟ้อง ดังนั้น ขวานของกลางดังกล่าวจึงต้องริบตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มาตรา 74 ทวิและพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติฯ มาตรา 29 แม้ปัญหาในเรื่องศาลชั้นต้นไม่ริบทรัพย์ที่กฎหมายบัญญัติให้ริบโดยเด็ดขาดจะไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้ริบทรัพย์ดังกล่าวนี้ได้ เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย”

พิพากษายืน และให้ริบขวานของกลางด้วย

Share