แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ปลูกสร้างบ้านพิพาทบนที่ดินสินส่วนตัวของตน แม้สามีจะช่วย ออกเงินในการปลูกสร้างด้วยถึงหนึ่งในสาม แต่ตามพฤติการณ์เป็นการช่วยเหลือกันฉัน สามีภริยา หาใช่เป็นการร่วมลงทุนปลูกบ้านพิพาทด้วยไม่ ดังนี้ บ้านพิพาทจึงเป็นส่วนควบของที่ดินและเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 ปลูกสร้างบ้านพิพาทในระหว่างสมรสจึงไม่ทำให้บ้านพิพาทเป็นสินสมรส.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรของพันตำรวจเอกณัฐพงษ์วนภูมิ กับนางกิ่งแก้ว วนภูมิ จำเลยที่ 1 เป็นพี่สาวของจำเลยที่ 2พันตำรวจเอกณัฐพงษ์ได้จดทะเบียนหย่าขาดกับนางกิ่งแก้วในปี พ.ศ. 2513แล้วจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 ในปีเดียวกันนั้นเอง ระหว่างที่พันตำรวจเอกณัฐพงษ์กับจำเลยที่ 1 อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยามีสินสมรสเกิดขึ้นหลายอย่าง รวมทั้งบ้าน ราคา 150,000 บาท ซึ่งพันตำรวจเอกณัฐพงษ์กับจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกันปลูกสร้างขึ้นพันตำรวจเอกณัฐพงษ์ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 11 กรกฏาคม 2527 บ้านหลังดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์มรดกของพันตำรวจเอกณัฐพงษ์ครึ่งหนึ่งคิดเป็นเงิน 75,000 บาท แต่จำเลยที่ 1 โต้แย้งว่าบ้านดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ขอให้พิพากษาว่าบ้านเลขที่ 11 หมู่ที่ 2 ตำบลท่าข้ามอำเภอประเหลียน จังหวัดตรัง เป็นสินสมรสระหว่างพันตำรวจเอกณัฐพงษ์วนภูมิ กับจำเลยที่ 1 และครึ่งหนึ่งตกเป็นทรัพย์มรดกของพันตำรวจเอกณัฐพงษ์ วนภูมิ ให้จำเลยที่ 1 แบ่งบ้านดังกล่าวให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง หากไม่สามารถแบ่งได้ให้จำเลยที่ 1 ใช้ราคาเป็นเงิน75,000 บาท หรือนำบ้านดังกล่าวออกขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งกันตามส่วนและขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ออกไปจากบ้านดังกล่าวพร้อมขนย้ายทรัพย์สินส่วนตัวของจำเลยที่ 2 ออกไป ห้ามเข้ามาเกี่ยวข้องอีกต่อไปด้วย
จำเลยทั้งสองให้การว่า ก่อนสมรสกับพันตำรวจเอกณัฐพงษ์ จำเลยที่ 1 ได้ปลูกสร้างบ้านพักอาศัย เป็นบ้านไม้ชั้นเดียวบนที่ดินของจำเลยที่ 1 ซึ่งได้มาจากการยกให้ของบิดาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2492 ต่อมาจำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกับพันตำรวจเอกณัฐพงษ์ ในปี พ.ศ. 2513แล้วย้ายออกจากบ้านดังกล่าวไปอยู่กินกับพันตำรวจเอกณัฐพงษ์ที่บ้านเลขที่ 174 หมู่ที่ 3 ตำบลกำแพง อำเภอละงู จังหวัดสตูล ตลอดมาจนกระทั่งพันตำรวจเอกณัฐพงษ์ถึงแก่กรรม โดยจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2พักอาศัยในบ้านเลขที่ 11 ดังกล่าว จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2522 จำเลยที่ 2 รื้อถอนบ้านเลขที่ 11 ดังกล่าว ซึ่งชำรุดทรุดโทรมไม่สามารถใช้พักอาศัยได้แล้วสร้างบ้านหลังใหม่คือบ้านพิพาทแทนและสร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2527 ในการสร้างบ้านพิพาทจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงทุนลงแรงสร้างเอง จำเลยที่ 1 เพียงแต่อนุญาตให้สร้างในที่ดินของจำเลยที่ 1 ได้เท่านั้น บ้านพิพาทจึงมิใช่เป็นทรัพย์มรดกของพันตำรวจเอกณัฐพงษ์ และมิใช่เป็นสินสมรสของจำเลยที่ 1 กับพันตำรวจเอกณัฐพงษ์แต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยที่ 1 แบ่งปันบ้านพิพาทเลขที่ 11หมู่ที่ 2 ตำบลท่าข้าม อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรังให้แก่โจทก์ทั้งสองครึ่งหนึ่งเพื่อนำไปจัดการมรดกต่อไป โดยให้จำเลยที่ 1ใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 75,000 บาท หากไม่ยอมชดใช้ก็ให้นำบ้านพิพาทออกขายทอดตลาดแล้วแบ่งเงินตามส่วน ให้จำเลยที่ 2 ออกจากบ้านดังกล่าวพร้อมทั้งขนย้ายทรัพย์สินออกไปด้วยและห้ามเข้าเกี่ยวข้องอีกต่อไป
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติตามที่คู่ความนำสืบรับกันและไม่ได้เถียงกันว่า โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของพันตำรวจเอกณัฐพงษ์ วนภูมิ กับนางกิ่งแก้ว วนภูมิ พันตำรวจเอกณัฐพงษ์จดทะเบียนหย่ากับนางกิ่งแก้วในปี พ.ศ. 2513 และจดทะเบียนสมรสใหม่กับจำเลยที่ 1 ในปีเดียวกันนั้นบ้านพิพาทคือบ้านเลขที่ 11 หมู่ที่ 2 ตำบลท่าข้าม อำเภอปะเหลียนจังหวัดตรัง ราคา 150,000 บาท สร้างขึ้นในที่ดินของจำเลยที่ 1ระหว่างที่จำเลยที่ 1 อยู่กินกับพันตำรวจเอกณัฐพงษ์ โดยพันตำรวจเอกณัฐพงษ์ออกเงินค่าก่อสร้างจำนวน 50,000 บาท จำเลยที่ 2 เป็นลูกน้องกับจำเลยที่ 1 และเป็นผู้ที่อาศัยในบ้านพิพาทตลอดมา คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่าบ้านพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างพันตำรวจเอกณัฐพงษ์กับจำเลยที่ 1 หรือไม่ จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีว่า บ้านพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่2 ได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 1 ให้รื้อบ้านหลังเดิมของจำเลยที่ 1ซึ่งผุพังจนไม่สามารถอยู่อาศัยได้แล้วปลูกบ้านหลังพิพาทขึ้นแทนโดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกเงินปลูกเอง จำเลยที่ 1 มิได้นำเงินอันเป็นสินสมรสเข้าร่วมลงทุนสร้างบ้านพิพาทด้วย และพันตำรวจเอกณัฐพงษ์ก็มิได้เป็นผู้สร้างบ้านพิพาท แต่ในชั้นสืบพยานจำเลย จำเลยทั้งสองกลับนำสืบว่า ในการสร้างบ้านพิพาทจำเลยที่ 2 มีเงินอยู่เพียง 40,000บาท จำเลยที่ 1 ช่วยออกเงินให้ 2 ครั้ง ครั้งแรกจำนวนเงิน 30,000บาท ครั้งที่สองอีก 20,000 บาท จำเลยที่ 1 เล่าเรื่องให้พันตำรวจเอกณัฐพงษ์ทราบ พันตำรวจเอกณัฐพงษ์ก็ช่วยออกเงินให้ 30,000 บาท แต่บ้านยังไม่เสร็จพันตำรวจเอกณัฐพงษ์จึงช่วยออกเงินให้อีก 20,000 บาท รวม2 ครั้ง เป็นเงิน 50,000 บาท นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังเบิกความด้วยว่าจำเลยที่ 1 ได้ปรึกษากับพันตำรวจเอกณัฐพงษ์แล้วเห็นพ้องกันว่าควรจะยกที่ดินและบ้านพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงได้ทำหนังสือสละการครอบครองที่ดินของจำเลยที่ 1 และบ้านพิพาทให้จำเลยที่2 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2526 ตามเอกสารหมาย ล.2 ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองไม่ได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การ ข้อนำสืบของจำเลยทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นการนำสืบนอกประเด็น แต่คำเบิกความของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวยังแสดงให้เห็นเด่นชัดว่า ก่อนทำหนังสือสละการครอบครองเอกสารหมาย ล.2 นั้น จำเลยที่ 1 ยังคงถือว่าบ้านพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 อยู่ ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของบ้านพิพาทโดยเป็นผู้ออกเงินปลูกเองดังที่ให้การต่อสู้คดีไว้ดังนั้นแม้จะฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ออกเงินค่าสร้างบ้านพิพาทจจำนวน40,000 บาท และออกเงินค่าติดตั้งไฟฟ้าและค่าใช้จ่ายอย่างอื่นอีกก็ออกในฐานะช่วยเหลือจำเลยที่ 1 สร้างบ้านพิพาทเพราะจำเลยที่ 2 เป็นผู้อาศัยอยู่ในบ้านดังกล่าวแต่ผู้เดียวตลอดมาตั้งแต่จำเลยที่ 1 สมรสกับพันตำรวจเอกณัฐพงษ์ หาได้ออกเงินในฐานะเป็นเจ้าของบ้านพิพาทแต่อย่างใดไม่ และการที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างบ้านพิพาทก็ดี การแจ้งขอใช้กระแสไฟฟ้าในบ้านพิพาทก็ดี ล้วนแต่ทำแทนจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น ปัญหาต่อไปมีว่า พันตำรวจเอกณัฐพงษ์ร่วมกับจำเลยที่ 1 สร้างบ้านพิพาทหรือไม่ ในข้อนี้คงได้ความจากโจทก์ที่ 1ว่าทราบจากพันตำรวจเอกณัฐพงษ์ว่าได้ออกเงินช่วยจำเลยที่ 1 ในการสร้างบ้านจำนวน 50,000 บาท ส่วนที่เหลือให้จำเลยที่ 1 ออกเองเนื่องจากสร้างในที่ดินของจำเลยที่ 1 โดยมีจดหมายที่จำเลยที่ 1เขียนไปถึงนางวรรณี วนภูมิ ภริยาของโจทก์ที่ 1 ข้อความในจดหมายตามเอกสารหมาย จ.2 มีว่า “อาว์ (จำำเลยที่ 1) ทำบ้านเล็ก ๆชั้นเดียวที่หยงสตาร์ตรัง…อาว์ (จำเลยที่ 1) เก็บเงินตอนไปช่วยราชการที่นคร 3 ปีครึ่ง พ่อ (พันตำรวจเอกณัฐพงษ์) ช่วย 1/3 ของราคาบ้านจึงเสร็จพออยู่ได้…” เห็นว่า ข้อความดังกล่าวมีความหมายเพียงว่าในการสร้างบ้านพิพาท พันตำรวจเอกณัฐพงษ์ออกเงินช่วยด้วยเท่านั้นเนื่องจากจำเลยที่ 1 มีเงินไม่เพียงพอ อันเป็นเรื่องปกติวิสัยที่สามีภริยาย่อมจะต้องให้ความช่วยเหลือแก่กัน หาใช่เป็นกรณีร่วมกันสร้างบ้านพิพาทไม่เพราะหากเป็นเช่นนั้นจริง พันตำรวจเอกณัฐพงษ์คงต้องออกเงินค่าก่อสร้างมากกว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 สร้างบ้านพิพาทตามลำพังเมื่อบ้านพิพาทสร้างบนที่ดินซึ่งเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1จึงเป็นส่วนควบของที่ดินจำเลยที่ 1 ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทในฐานะที่เป็นสินส่วนตัว แม้จำเลยที่ 1 จะปลูกสร้างในขณะเป็นภริยาของพันตำรวจเอกณัฐพงษ์ก็ไม่ถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474(1) บ้านพิพาทจึงไม่ใช่สินสมรสอันจะตกเป็นทรัพย์มรดกของพันตำรวจเอกณัฐพงษ์ครึ่งหนึ่ง…”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง.