แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การใช้อีแวปอเรเตอร์ที่โจทก์นำเข้ามาในคดีนี้เป็นการนำเอา อีแวปอเรเตอร์เข้าประกอบเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องปรับอากาศที่ติด รถยนต์ทีเดียวจึงเป็นการใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ ถือว่าเป็นส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศตามความใน พิกัดประเภทที่ 84.14 ข. ไม่อยู่ในความหมายของคำว่าเครื่องจักร ตามพิกัดประเภทที่84.17 และการนำเข้าซึ่งส่วนประกอบของ เครื่องปรับอากาศตามพิกัดประเภทที่ 84.15 ข.ตอนท้ายหาต้องเป็นการ นำเข้าครบชุดไม่
คำว่า เครื่องจักรตามความในหมายเหตุหมวด 16 ข้อ 7นั้นใช้เฉพาะ แก่ข้อความในหมายเหตุเท่านั้นหาได้มีความหมายว่าสินค้าตาม พิกัดประเภทที่ 84.01 ถึง 84.65ทุกชนิด เป็นเครื่องจักรตาม พิกัดประเภทหนึ่ง 84.17 ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้นำเครื่องจักรทำให้ระเหยเรียกว่า อีแวปอเรเตอร์เข้ามาในราชอาณาจักรรวม 9 ครั้ง โดยจำเลยกำหนดให้ชำระภาษีในพิกัดประเภทที่ 84.15 ข. อัตราร้อยละ 80 ของราคา โจทก์เห็นว่าสินค้าที่โจทก์นำเข้าดังกล่าวต้องเสียภาษีในพิกัดประเภทที่ 84.17 ก. อัตราร้อยละ 30 ของราคา จำเลยจึงเรียกเก็บเกินไปเป็นเงิน 1,337,047 บาท 23 สตางค์ ขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่าสินค้าที่โจทก์นำเข้ามาตามฟ้องอยู่ในพิกัดประเภทที่ 84.17 ก.มิใช่พิกัดประเภทที่ 84.15 ข. ให้จำเลยคืนเงินที่เรียกเก็บเกินไปให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้จัดเก็บภาษีอากรสำหรับสินค้าที่โจทก์นำเข้าถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าสินค้ารายพิพาทที่โจทก์นำเข้าอยู่ในพิกัดประเภทที่ 84.15 ข. โจทก์ต้องเสียภาษีอากรในอัตราร้อยละ 80 ของราคาการเรียกเก็บภาษีของจำเลยชอบแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า อีแวปอเรเตอร์เป็นเครื่องบังคับก๊าซเหลวให้เปลี่ยนสภาพเป็นไอก๊าซทำให้เกิดความเย็นรอบตัวเครื่องอีแวปอเรเตอร์เป็นส่วนสำคัญของเครื่องปรับอากาศที่ติดรถยนต์ โดยเครื่องปรับอากาศที่ติดรถยนต์มีส่วนประกอบสำคัญ 5 ส่วน คือ คอมเพรสเซอร์ คอนเดนเซอร์ อีแวปอเรเตอร์ รีซีฟเวอร์และเอ็กซแปนชั่นวาว ถ้าถอดอีแวปอเรเตอร์ ออกเครื่องปรับอากาศนั้นจะไม่สามารถทำงานได้ เมื่อระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2523 ถึงวันที่ 12 พฤษภาคม 2524ภายหลังที่พระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร (ฉบับที่ 35) พ.ศ. 2521 ออกใช้บังคับแล้ว โจทก์ได้นำขึ้นส่วนของอีแวปอเรเตอร์ครบชุดที่ยังไม่ได้ประกอบเข้ากันมีสภาพตามภาพถ่ายหมาย จ.1 เข้ามาในราชอาณาจักร รวม 9 ครั้ง เจ้าพนักงานของจำเลยเห็นว่าสินค้าอีแวปอเรเตอร์ดังกล่าวเป็นส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศในพิกัดอัตราอากรขาเข้าประเภทที่ 84.15 ข. โจทก์จึงแสดงรายการในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าตามเอกสารหมาย จ.2ถึง จ.10 ชำระอากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลแก่จำเลยในพิกัดประเภทที่ 84.15 ข. อัตราอากรร้อยละ 80 ของราคาสินค้าเป็นภาษีอากรรวมเป็นเงิน 2,192,462 บาท 60 สตางค์ แต่โจทก์ยังเห็นว่าสินค้าดังกล่าวเป็นเครื่องจักรในพิกัดประเภทที่ 84.17 ก. อัตราอากรร้อยละ 30 ของราคาสินค้าและโจทก์ชำระอากรขาเข้าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลเกินไปจำนวน 1,337,047 บาท 23 สตางค์ จึงฟ้องเรียกคืนเป็นคดีนี้ มีปัญหาว่าสินค้าอีแวปอเรเตอร์ที่โจทก์นำเข้ามาเป็นส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศในพิกัดอัตราอากรขาเข้าประเภทที่ 84.15 ข. หรือเป็นเครื่องจักรในพิกัดประเภทที่ 84.17 ก.
พิจารณาแล้ว บัญชีท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร (ฉบับที่ 35) พ.ศ. 2521มาตรา 4 กำหนดพิกัดอัตราอากรขาเข้าประเภทที่ 84.15 และที่ 84.17 ไว้ว่า”ประเภทที่ 84.15 ตู้เย็นและเครื่องทำความเย็นทั้งชนิดที่ใช้ไฟฟ้าและชนิดอื่นก. ตู้เย็น (1) ฯลฯ ข. เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศอัตราอากร ตามราคา ร้อยละ 80 ค. ฯลฯ” และ “ประเภทที่ 84.17 เครื่องจักรโรงงานและเครื่องที่คล้ายกันสำหรับใช้ในห้องทดลอง ที่ทำให้วัตถุต่าง ๆ เปลี่ยนสภาพโดยกรรมวิธีที่เปลี่ยนอุณหภูมิซึ่งจะใช้ไฟฟ้าให้ความร้อนด้วยหรือไม่ก็ตาม เช่นการทำให้ร้อน การทำให้สุก การย่าง การกลั่น การกรองให้บริสุทธิ์ การฆ่าเชื้อด้วยความร้อน การฆ่าเชื้อโดยวิธีปาสเตอร์ไรซ์ การอบด้วยไอน้ำ ทำให้แห้ง ทำให้ระเหยทำให้เป็นไอ ทำให้ข้น หรือทำให้เย็น (แต่ต้องมิใช่เครื่องจักรหรือเครื่องจักรโรงงานชนิดที่ตามธรรมดาใช้ในบ้านเรือน) รวมทั้งเครื่องที่ทำให้น้ำร้อน ชนิดไหลผ่านท่อหรือชนิดแช่ในถังใหญ่ ที่มิได้ใช้ไฟฟ้า ก. ที่ใช้กับเครื่องทำความเย็นหรือเครื่องปรับอากาศ อัตราอากรตามราคา ร้อยละ 30 ข. ฯลฯ” เห็นว่า การใช้อีแวปอเรเตอร์ที่โจทก์นำเข้ามาในคดีนี้เป็นการนำเอาอีแวปอเรเตอร์เข้าประกอบเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องปรับอากาศที่ติดรถยนต์ทีเดียว จึงเป็นการใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ ถือว่าเป็นส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศตามความในพิกัดประเภทที่ 84.15 ข. ไม่อยู่ในความหมายของคำว่า เครื่องจักรตามพิกัดประเภทที่ 84.17 ที่โจทก์ฎีกาอ้างว่าโจทก์นำเข้าเฉพาะอีแวปอเรเตอร์อย่างเดียว ขณะนำเข้าจึงไม่อยู่ในฐานะเป็นส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศจะจัดเข้าอยู่ในพิกัดประเภทที่ 84.15 ข.มิได้นั้น เห็นว่า ถ้าเป็นนการนำเข้าส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศครบชุดพร้อมกัน ก็ต้องถือเป็นการนำเข้าซึ่งเครื่องปรับอากาศ ตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรอยู่แล้วการนำเข้าซึ่งส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศตามพิกัดประเภทที่ 84.15 ข.ตอนท้ายจึงหาต้องเป็นการนำเข้าครบชุดไม่ โจทก์ฎีกาต่อไปว่าตามความหมายในหมายเหตุหมวด 16 ข้อ 7 แห่งบัญชีแนบท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากรพ.ศ. 2503 มีความว่า วัตถุประสงค์ของหมายเหตุนี้ คำว่า “เครื่องจักร” หมายความถึง เครื่องจักรหรือเครื่องใช้ทุกชนิดตามที่ระบุไว้ในหมวด 16 ซึ่งหมวด 16 ก็คือของตามประเภทที่ 84.01 ถึง 84.65 อีแวปอเรเตอร์จึงเป็นเครื่องจักรชนิดหนึ่งตามคำนิยามนั้น เห็นว่า คำนิยามดังกล่าวใช้เฉพาะแก่ข้อความในหมายเหตุเท่านั้น หามีความหมายว่าสินค้าตามพิกัดประเภทที่ 84.01 ถึง 84.65 ทุกชนิดเป็นเครื่องจักรตามพิกัดประเภทที่ 84.17 ไม่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าอีแวปอเรเตอร์ที่โจทก์นำเข้ามาเป็นส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศในรถยนต์ จัดเข้าอยู่ในพิกัดอัตราอากรขาเข้าประเภทที่ 84.15 ข.ต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 80 ของราคา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน