คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5468/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองปลูกสร้างและต่อเติมอาคารรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์โฉนดเลขที่145ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินจำเลยที่1เป็นความกว้างประมาณ50เซนติเมตรยาวตลอดแนวที่ดินโจทก์ประมาณ16เมตรขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อถอนอาคารส่วนที่ต่อเติมรุกล้ำออกไปจากที่ดินพิพาทของโจทก์จำเลยที่2ให้การต่อสู้ว่าอาคารที่จำเลยที่2ปลูกสร้างนั้นมิได้รุกล้ำที่ดินของโจทก์แต่ประการใดหากที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์จำเลยที่2ก็ครอบครองโดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาตั้งแต่ปี2522จนถึงปัจจุบันเกินกว่า10ปีจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่2โดยการครอบครองแล้วขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่145ด้านที่ติดกับที่ดินจำเลยที่1กว้างประมาณ50เซนติเมตรยาวประมาณ50เมตรตลอดแนวที่ติดกับที่ดินจำเลยที่1เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่2โดยการครอบครองคดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์หรือจำเลยที่2เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหากคดีฟังได้จำเลยที่2เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองจำเลยที่2ก็ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องแย้งขอให้ศาลพิพากษาแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่2ได้ฟ้องแย้งของจำเลยที่2จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมโดยตรงหาใช่ฟ้องแย้งที่มีเงื่อนไขแต่อย่างใดไม่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองโดยไม่สุจริตได้ปลูกสร้างและต่อเติมอาคารบนที่ดินจำเลยที่ 1 รุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์โฉนดเลขที่ 145 ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินจำเลยที่ 1 เป็นความกว้างประมาณ 50 เซนติเมตร ยาวตลอดแนวที่ดินโจทก์ประมาณ 16 เมตรทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่สามารถสร้างรั้วบ้านต่อไปได้ทำให้ขาดความปลอดภัย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อถอนอาคารส่วนที่ปลูกสร้างต่อเติมรุกล้ำออกไปจากที่ดินของโจทก์ ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเกี่ยวข้องต่อไป ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินเดือนละ 5,000 บาท นับจากวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะรื้อถอนอาคารที่ปลูกสร้างรุกล้ำออกไปจากที่ดินโจทก์
จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1785/2534 ของศาลชั้นต้น ทั้งเป็นฟ้องที่เคลือบคลุมอาคารที่จำเลยที่ 2 ปลูกสร้างนั้นมิได้รุกล้ำที่ดินโจทก์แต่อย่างใด หากที่ดินดังกล่าวเป็นของโจทก์ จำเลยที่ 2ก็ครอบครองโดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาตั้งแต่ปี 2522 จนถึงปัจจุบันเกินกว่า 10 ปี จึงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 โดยการครอบครองแล้ว และโจทก์ไม่ได้เสียหายขอให้ยกฟ้องและขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 145ตำบลเกาะเกร็ด (เกาะศาลากุน) อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรีด้านที่ติดกับที่ดินจำเลยที่ 1 กว้างประมาณ 50 เซนติเมตรยาวประมาณ 50 เมตร ตลอดแนวเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2โดยการครอบครองปรปักษ์ ให้บังคับโจทก์จดทะเบียนลงชื่อจำเลยที่ 2เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินเลขที่ 145 หากโจทก์ไม่ดำเนินการก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา ห้ามโจทก์เกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าวอีกต่อไป
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำให้การจำเลยที่ 2 ส่วนฟ้องแย้งจำเลยที่ 2 อ้างในตอนต้นว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้ปลูกสร้างอาคารรุกล้ำที่ดินของโจทก์ แต่หากรุกล้ำก็ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว และขอให้ศาลพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน จึงเป็นฟ้องแย้งที่มีเงื่อนไข ไม่รับฟ้องแย้ง คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมด
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองปลูกสร้างและต่อเติมอาคารรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์โฉนดเลขที่ 145ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินจำเลยที่ 1 เป็นความกวางประมาณ 50 เซนติเมตรยาวตลอดแนวที่ดินโจทก์ประมาณ 16 เมตร ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อถอนอาคารส่วนที่ปลูกสร้างต่อเติมรุกล้ำออกไปจากที่ดินพิพาทของโจทก์ จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้คดีว่า อาคารที่จำเลยที่ 2ปลูกสร้างนั้นมิได้รุกล้ำที่ดินของโจทก์แต่อย่างใด หากที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ จำเลยที่ 2 ก็ครอบครองโดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาตั้งแต่ปี 2522 จนถึงปัจจุบันเกินกว่า10 ปี จึงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 โดยการครอบครองแล้วขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้ง ขอให้ศาลพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 145 ด้านที่ติดกับที่ดินจำเลยที่ 1 กว้างประมาณ 50 เซนติเมตรยาวประมาณ 50 เมตร ตลอดแนวด้านที่ติดกับที่ดินจำเลยที่ 1เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 โดยการครอบครองเช่นนี้ คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์หรือจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท หากคดีฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครอง จำเลยที่ 2 ก็ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องแย้งขอให้ศาลพิพากษาแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ได้ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมโดยตรง หาใช่ฟ้องแย้งที่มีเงื่อนไขแต่อย่างใดดังศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไม่
พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นรับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2ไว้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้ววินิจฉัยตามรูปคดีค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษา

Share