คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5466/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเช่าห้องชุดจากผู้ร้อง สัญญาเช่าข้อ 19 ที่มีข้อความว่า “ในกรณีผู้เช่าไม่ขนย้ายทรัพย์สินหรือสิ่งของต่างๆ ของผู้เช่าออกจากสถานที่ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่การเช่าสิ้นสุดลง ผู้เช่ายินยอมให้ผู้ให้เช่าครอบครองทรัพย์สินที่เช่าและขนย้ายทรัพย์สินของผู้เช่าออกจากสถานที่เช่าได้ โดยผู้ให้เช่าจะแจ้งให้ผู้เช่ามารับคืนภายในกำหนดเวลา 1 เดือน นับแต่วันที่ผู้เช่าได้รับหนังสือแจ้ง หากเลยกำหนดเวลาดังกล่าวผู้เช่าไม่ติดต่อขอรับคืน ให้ทรัพย์สินของผู้เช่าตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่า” เป็นกรณีจำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าตกลงสละกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของตนให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ให้เช่า ไม่มีลักษณะที่ผู้ร้องได้เปรียบจนเกินสมควรและไม่มีกฎหมายบัญญัติห้าม สัญญาข้อนี้ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ผู้ร้องส่งหนังสือแจ้งให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินพิพาทออกจากสถานที่เช่าไปยังห้องชุดที่จำเลยเช่าอันเป็นสำนักงานแห่งใหญ่ของจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นภูมิลำเนาของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 68 แล้ว แต่ผู้ร้องยังไม่ได้แจ้งให้จำเลยมารับทรัพย์สินพิพาทคืนภายในกำหนด 1 เดือน กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินพิพาทของจำเลยจึงไม่ตกเป็นของผู้ร้องตามสัญญาเช่าข้อ 19 โจทก์ทั้งสองมีสิทธินำยึดทรัพย์สินพิพาทตามบัญชียึดทรัพย์

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้าง 50,000 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 1 และ 25,000 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 แต่จำเลยไม่ชำระ โจทก์ทั้งสองนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยเพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ทั้งสอง
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ปล่อยทรัพย์สิน
โจทก์ทั้งสองให้การขอให้ยกคำร้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า การที่ผู้ร้องตกลงกับจำเลยให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินพิพาทที่ถูกยึดโดยผลตามสัญญาเช่าข้อ 19 แตกต่างจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน การจะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 4 การที่ผู้ร้องมีหนังสือแจ้งให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินตามสัญญาเช่าโดยแจ้งไปยังที่อยู่อันเป็นสถานที่เช่านั้นเองย่อมเป็นไปไม่ได้ว่าจำเลยจะทราบหนังสือดังกล่าว จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาสละกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินพิพาทโดยปริยาย คงฟังได้แต่เพียงว่าผู้ร้องแสดงเจตนาเข้าครอบครองทรัพย์สินเพื่อจะยึดถือเพื่อตน ผู้ร้องครอบครองทรัพย์สินพิพาทซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์ยังไม่ครบห้าปี ทรัพย์สินพิพาทจึงยังเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธินำยึดทรัพย์สินพิพาทขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ได้
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธินำยึดทรัพย์สินพิพาทตามบัญชียึดทรัพย์หรือไม่ โดยผู้ร้องอุทธรณ์ว่า สัญญาเช่าข้อ 19 ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน และผู้ร้องได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยย้ายทรัพย์สินออกไปตามสัญญาเช่าแล้ว แม้จะส่งหนังสือไปยังสถานที่เช่าแต่สถานที่ดังกล่าวก็เป็นสำนักงานใหญ่ ซึ่งถือเป็นภูมิลำเนา ทรัพย์สินพิพาทจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธินำยึด เห็นว่า สัญญาเช่าข้อ 19 มีข้อความว่า “ในกรณีผู้เช่าไม่ขนย้ายทรัพย์สินหรือสิ่งของต่างๆ ของผู้เช่าออกจากสถานที่ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่การเช่าสิ้นสุดลง ผู้เช่ายินยอมให้ผู้ให้เช่าครอบครองทรัพย์สินที่เช่าและขนย้ายทรัพย์สินของผู้เช่าออกจากสถานที่เช่าได้ โดยผู้ให้เช่าจะแจ้งให้ผู้เช่ามารับคืนภายในกำหนดเวลา 1 เดือน นับแต่วันที่ผู้เช่าได้รับหนังสือแจ้ง หากเลยกำหนดเวลาผู้เช่าไม่ติดต่อขอรับคืน ให้ทรัพย์สินของผู้เช่าตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่า” เห็นได้ว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าตกลงสละกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของตนให้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ให้เช่าหากปรากฏข้อเท็จจริงตามเงื่อนไขในสัญญาเช่า ซึ่งเงื่อนไขในสัญญาก็ไม่มีลักษณะที่ผู้ให้เช่าได้เปรียบจนเกินสมควร ทั้งไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไว้ สัญญาเช่าข้อ 19 จึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การที่ผู้ร้องมีหนังสือแจ้งให้จำเลยขนย้ายทรัพย์ออกไปจากสถานที่เช่า โดยส่งหนังสือแจ้งให้ขนย้ายไปยังบ้านเลขที่ 919/455 อาคารจิวเวลรี่เทรด เซ็นเตอร์ ชั้นที่ 38 ถนนสีลม แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร แม้สถานที่จะเป็นห้องที่จำเลยเช่า แต่ตามหนังสือรับรองจำเลยและในสัญญาเช่าก็ปรากฏว่าห้องเลขที่ดังกล่าวเป็นสำนักงานแห่งใหญ่ของจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลและถือเป็นภูมิลำเนาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 68 การแจ้งให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินออกจากห้องเช่าจึงเป็นไปตามเงื่อนไขแห่งสัญญาเช่า แต่แม้ผู้ร้องจะแจ้งให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินออกจากห้องเช่าแล้ว กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะตกเป็นของผู้ร้องต่อเมื่อผู้ร้องแจ้งให้จำเลยมารับคืนภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่จำเลยได้รับหนังสือแล้วจำเลยไม่ติดต่อขอรับคืนภายในกำหนด เมื่อผู้ร้องยังไม่ได้แจ้งให้จำเลยมารับทรัพย์สินพิพาทคืนภายในกำหนด 1 เดือน ตามเงื่อนไขในสัญญาเช่าเสียก่อน กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินพิพาทจึงไม่ตกเป็นของผู้ร้องตามสัญญาเช่า ข้อ 19 โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธินำยึดทรัพย์สินพิพาทตามบัญชียึดทรัพย์ ศาลแรงงานกลางพิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share