คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5466/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำว่าบุคคลวิกลจริตตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 29 เดิม (มาตรา 28 ใหม่) นั้นมิได้หมายเฉพาะถึงบุคคลผู้มีจิตผิดปกติ หรือตามที่เข้าใจกันทั่ว ๆ ไปว่าเป็นบ้าเท่านั้นไม่ แต่หมายรวมถึงบุคคลผู้มีกิริยาอาการผิดปกติเพราะสติวิปลาส คือ ขาดความรำลึก ขาดความรู้สึก และขาดความรับผิดชอบด้วย เพราะบุคคลดังกล่าวนี้ไม่สามารถประกอบกิจการของตนหรือประกอบกิจส่วนตัวของตนได้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจ. ซึ่งผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งเป็นคนไร้ความสามารถนั้นไม่รู้สึกตัวเอง และพูดจารู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง ซึ่งแพทย์ให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองฝ่อหรือสมองเสื่อมขั้นรุนแรงไม่สามารถรักษาให้หายได้ตลอดจนไม่อาจปฏิบัติภารกิจส่วนตัวได้ แสดงให้เห็นว่าจ. เป็นคนไม่มีสติสัมปชัญญะ ไร้ความสามารถที่จะดำเนินกิจการทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตนเองได้ พอถือได้ว่าเป็นบุคคลวิกลจริตตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว และผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมของ จ. ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน ย่อมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายและมีสิทธิรับมรดกของ จ. ผู้ร้องจึงสมควรเป็นผู้อนุบาล จ.

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้นางสาวจิ๋วกว้างทะเล เป็นคนไร้ความสามารถโดยตั้งผู้ร้องเป็นผู้อนุบาล
ศาลชั้นต้นประกาศนัดไต่สวนตามระเบียบแล้ว
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นพี่สาวร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนางสาวจิ๋ว กว้างทะเล ขอให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องและมีคำสั่งให้นางสาวจิ๋ว กว้างทะเล เป็นคนไร้ความสามารถโดยตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้อนุบาล
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้นางสาวจิ๋ว กว้างทะเลเป็นคนไร้ความสามารถให้อยู่ในความอนุบาลของผู้ร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 29, 30
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาวินิจฉัยว่านางสาวจิ๋วเป็นคนไร้ความสามารถและสมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้อนุบาลหรือไม่ ได้ความตามทางนำสืบของผู้ร้องว่า นางสาวจิ๋วป่วยเป็นโรคประสาท ต้องนำตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาและโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นนายแพทย์พันธ์ศักดิ์ วราอัศวปติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา และแพทย์หญิงนิรมล พัจนสุนทร ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งนางสาวจิ๋วไปรับการรักษาเบิกความว่า นางสาวจิ๋วเป็นโรคประสาทวิตกกังวล จากการตรวจสุขภาพจิตพบว่านางสาวจิ๋วมีอาการเชาว์ปัญญาเสื่อมลง พยายามตรวจวัดไอคิวก็ไม่สามารถทำได้ตรวจทางคอมพิวเตอร์ ปรากฏว่าสมองฝ่อไม่สามารถรักษาให้หายได้มีอาการเซื่องซึม ถามไม่ค่อยตอบ ถามคำตอบคำ พูดตามที่แพทย์พูดตลอดเวลาที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 15 วัน ไม่สามารถรับผิดชอบอะไรได้ เมื่อออกจากโรงพยาบาลแล้วญาติต้องมารับยา แต่อาการของนางสาวจิ๋วไม่ดีขึ้น และเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2532 ซึ่งผู้ร้องนำตัวนางสาวจิ๋วมาเบิกความปรากฏตามบันทึกของศาลชั้นต้นว่านางสาวจิ๋วมีอาการเหม่อลอย ตอบคำถามของทนายความต้องคิดเป็นเวลานานบางทีไม่ตอบได้แต่ยิ้ม ก้มหน้าไม่ยอมสบตาผู้ใด หันหน้าไปมาไม่เหมือนคนปกติ นอกจากนี้ปรากฏตามใบรับรองของแพทย์หญิงนิรมลเอกสารท้ายฎีกาว่า ได้ทำการตรวจรักษานางสาวจิ๋วเมื่อวันที่15 ธันวาคม 2525 ปรากฏว่านางสาวจิ๋วมีอาการหลงลืม พฤติกรรมถดถอยช่วยตนเองไม่ได้มาตั้งแต่ 5-6 ปีก่อน ขณะนี้ยังมีอาการอยู่และรุนแรงมากขึ้น ๆ ได้นำมาตรวจซ้ำ ให้การวินิจฉัยเช่นเดิม คือโรคสมองเสื่อมขั้นรุนแรง ไม่สามารถที่จะสื่อกับบุคคลได้ การถ่ายอุจจาระปัสสาวะเรี่ยราด การอาบน้ำแต่งตัว รับประทานอาหารต้องให้ญาติทำให้ศาลฎีกาเห็นว่า คำว่าบุคคลวิกลจริตตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 29 เดิม (มาตรา 28 ใหม่) นั้น มิได้หมายเฉพาะถึงบุคคลผู้มีจิตผิดปกติ หรือตามที่เข้าใจกันทั่ว ๆ ไปว่าเป็นบ้าเท่านั้นไม่ แต่หมายรวมถึงบุคคลผู้มีกิริยาอาการผิดปกติเพราะสติวิปลาส คือ ขาดความรำลึก ขาดความรู้สึก และขาดความรับผิดชอบด้วย เพราะบุคคลดังกล่าวนี้ไม่สามารถประกอบกิจการของตนหรือประกอบกิจการส่วนตัวของตนได้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 74/2527ระหว่าง นางทองหล่อ สายชู ผู้ร้อง นายยอด ดิษฐป้อม ผู้คัดค้านเมื่อข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของผู้ร้องฟังได้ว่า นางสาวจิ๋วไม่รู้สึกตัวเอง และพูดจารู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้างซึ่งแพทย์ให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองฝ่อหรือสมองเสื่อมขั้นรุนแรงไม่สามารถรักษาให้หายได้ ตลอดจนไม่อาจปฏิบัติภารกิจส่วนตัวได้ แสดงให้เห็นว่านางสาวจิ๋วเป็นคนไม่มีสติสัมปชัญญะ ไร้ความสามารถที่จะดำเนินกิจการทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตนเองได้ พอถือได้ว่าเป็นบุคคลวิกลจริตตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 29 เดิม(มาตรา 28 ใหม่) แล้วคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา และคดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังมิได้วินิจฉัยว่าสมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้อนุบาลของนางสาวจิ๋วหรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนศาลฎีกาเห็นว่า ผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมของนางสาวจิ๋วถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน ย่อมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายและมีสิทธิรับมรดกของนางสาวจิ๋ว น่าเชื่อว่า จะเป็นผู้ดูแลเลี้ยงดูนางสาวจิ๋วตลอดจนรักษาผลประโยชน์และทรัพย์สินของนางสาวจิ๋วได้ ผู้ร้องจึงสมควรเป็นผู้อนุบาลนางสาวจิ๋วฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share